ดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศเดือนสิงหาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 6, 2016 14:38 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาส่งออก เดือนสิงหาคม 2559 เทียบกับเดือนสิงหาคม 2558 ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.7 (YoY) ปัจจัยหลักเป็นผลมาจากการสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปริมาณผลผลิตที่ลดลง ขณะที่ความต้องการของตลาดอย่างมีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับฐานของปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ราคาปรับสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกที่ควรเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

ดัชนีราคานำเข้าเดือนสิงหาคม 2559 เทียบกับเดือนสิงหาคม 2558 ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.6 (YoY) สาเหตุจากสินค้าเชื้อเพลิงเป็นหลัก โดยเกิดจากปัญหาภาวะอุปทานส่วนเกินในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลต่อระดับราคานำเข้าของไทย นอกจากนั้น ยังมีสินค้าสำคัญอื่นๆ ที่ราคาปรับลดลง ได้แก่ เหล็ก สินแร่โลหะต่างๆ เคมีภัณฑ์ และปุ๋ย เป็นต้น

ดัชนีราคาส่งออก เดือนสิงหาคม 2559 เท่ากับ 96.6 (ปี 2555 = 100) และเทียบกับเดือนสิงหาคม 2558 ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.7 (YoY) เป็นการปรับสูงขึ้นในหมวดสินค้าสำคัญ ได้แก่ หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ทองคำ ซึ่งได้รับแรงหนุนจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าส่งผลให้ความต้องการทองคำสูงขึ้นและผลักดันให้ราคาปรับสูงขึ้นตาม สำหรับรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ราคาสูงขึ้นตามความต้องการสินค้าที่มีอย่างต่อเนื่องและต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น หมวดสินค้าเกษตรกรรม เช่น ข้าว และกุ้งแช่เย็น แช่แข็ง เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากปัญหาภัยธรรมชาติและปัญหาโรคกุ้งที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้า หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร เช่น น้ำตาลทราย จากสถานการณ์ภัยแล้งทำให้ผลผลิตตลาดโลกลดลง และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง เช่น น้ำมันสำเร็จรูป จากฐานของราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่อยู่ในระดับต่ำของปีก่อนหน้า ทำให้ทิศทางราคาเดือนนี้ปรับสูงขึ้น

ดัชนีราคานำเข้า เดือนสิงหาคม 2559 เท่ากับ 84.9 เทียบกับเดือนสิงหาคม 2558 (ปี 2555 = 100) ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.6 (YoY) ทั้งนี้ สินค้าสำคัญที่กดดันให้ดัชนีราคานำเข้าปรับลดลง คือ หมวดสินค้าเชื้อเพลิงเป็นหลัก ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันสำเร็จรูป เนื่องมาจากการเกิดภาวะอุปทานส่วนเกินในตลาดโลกจากกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันทั้งในและนอกกลุ่มโอเปค นอกจากนี้ สินค้าสำคัญในหมวดอื่น ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ราคาที่ปรับลดลง ยังคงเป็นผลสืบเนื่องมาจากภาวะอุปทานที่ล้นตลาดในช่วงก่อนหน้าเช่นกัน นอกจากนั้น ยังมีสินแร่โลหะต่างๆ ปุ๋ย และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เช่น เคมีภัณฑ์ ที่ราคานำเข้าปรับตัวลดลง

ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนสิงหาคม 2559

ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าส่งออกในรูปของดัชนี โดยใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาส่งออกที่ผู้ส่งออกในประเทศไทยได้ส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ทั้งนี้ ราคาส่งออกที่สำรวจเป็นราคา F.O.B (Free On Broad) ครอบคลุม 4 หมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเกษตรกรรม หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร หมวดสินค้าอุตสาหกรรม และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 838 รายการ สรุปได้ดังนี้

1. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนสิงหาคม 2559 เท่ากับ 96.6 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนกรกฎาคม 2559 เท่ากับ 96.9) โดยดัชนีราคาส่งออกเดือนสิงหาคม 2559 ในหมวดสินค้าเกษตรกรรม เท่ากับ 84.9 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร เท่ากับ 99.6 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เท่ากับ 98.9 และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง เท่ากับ 87.2

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนสิงหาคม 2559 เมื่อเทียบกับ

2.1 เทียบกับเดือนกรกฎาคม 2559 (MoM) ลดลงร้อยละ 0.3 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าส่งออกจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ข้าว ยางพารา เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ประกอบกับไทยประสบปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท ส่งผลให้ไทยเสียเปรียบคู่แข่งที่ราคาต่ำกว่า สำหรับผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ราคาลดลงตามความต้องการใช้มันสำปะหลังในจีนซึ่งเป็นตลาดหลักลดลง ขณะที่กุ้งสด แช่เย็นแช่แข็ง ราคาสูงขึ้นจากการขยายตัวของตลาดส่งออกโดยเฉพาะ CLMV และสหรัฐฯ ซึ่งการปรับสถานการณ์การค้ามนุษย์ไทยในลำดับที่ดีขึ้น ทำให้ภาพลักษณ์สินค้าประมงไทยปรับตัวดีขึ้น เช่นเดียวกับสินค้าปศุสัตว์ ได้แก่ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ราคาสูงขึ้นจากความต้องการในตลาดโลกสูงขึ้นหลังจากเกิดปัญหาการขาดแคลนในจีน และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบ ราคาลดลงตามภาวะราคาในตลาดโลก เนื่องจากภาวะอุปทานล้นตลาด แต่อุปสงค์ยังคงทรงตัว ขณะที่ดัชนีราคาส่งออกที่ปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ตามความต้องการสั่งซื้อสินค้าเพื่อส่งมอบที่มีอย่างต่อเนื่อง สำหรับเหล็กและเหล็กกล้า สูงขึ้นจากราคาเหล็กในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการเหล็กที่ยังมีปริมาณมาก ขณะที่เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์พลาสติกราคาลดลง เนื่องจากเป็นสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันดิบที่ราคาลดลง สำหรับทองคำราคาลดลงจากการแข็งค่าของเงินเหรียญสหรัฐฯ ตามตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ราคาสูงขึ้นจากน้ำตาลทราย อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป จากผลผลิตน้ำตาลในตลาดโลกลดลง ประกอบกับไทยได้รับการประเมินการปรับสถานการณ์การค้ามนุษย์ในลำดับที่ดีขึ้น ส่งผลให้ความต้องการอาหารทะเลมีแนวโน้มสูงขึ้น

2.2 เทียบกับเดือนสิงหาคม 2558 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 0.7 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าส่งออกจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

หมวดสินค้าที่ราคาส่งออกสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ข้าว กุ้งสด แช่เย็นแช่แข็ง ปลาหมึก ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ น้ำตาลทราย อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูปและหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ ทองคำ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่ปรับสูงขึ้นเป็นผลจากปริมาณผลผลิตที่ลดลงจากสภาพอากาศแปรปรวน ประกอบกับความต้องการสินค้าที่มีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาปรับสูงขึ้น และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ตามฐานปีก่อนที่อยู่ในระดับต่ำจากราคาน้ำมันตลาดโลกที่ทยอยปรับลดลงในช่วงก่อนหน้า

2.3 เทียบเฉลี่ยกับเดือนมกราคม-สิงหาคม 2558 (AoA) ลดลงร้อยละ 1.0 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

ราคาส่งออกปรับลดลงทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง กุ้งสด แช่เย็นแช่แข็ง หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหารสัตว์เลี้ยง หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ทองคำ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่ปรับลดลงเป็นผลจากปริมาณผลผลิตส่วนเกินที่ล้นตลาด ปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) ราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง และความต้องการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ เป็นต้น

ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนสิงหาคม 2559

ดัชนีราคานำเข้าของประเทศ แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้านำเข้าที่ผู้นำเข้าในประเทศไทยได้จ่ายไปเพื่อนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ราคานำเข้าที่สำรวจเป็นราคา C.I.F. (Cost, Insurance และ Freight) ครอบคลุม 5 หมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเชื้อเพลิง หมวดสินค้าทุน หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 842 รายการ สรุปได้ดังนี้

1. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนสิงหาคม 2559 เท่ากับ 84.9 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนกรกฎาคม 2559 เท่ากับ 84.4) โดยดัชนีราคานำเข้าเดือนสิงหาคม 2559 ในหมวดสินค้าเชื้อเพลิง เท่ากับ 48.2 หมวดสินค้าทุน เท่ากับ 100.5 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เท่ากับ 91.8 หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค เท่ากับ 99.7 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง เท่ากับ 95.4

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนสิงหาคม 2559 เมื่อเทียบกับ

2.1 เทียบกับเดือนกรกฎาคม 2559 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.6 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

สินค้านำเข้าปรับสูงขึ้นเกือบทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ จากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีใหม่ๆ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เนื่องจากวัตถุดิบได้ปรับราคาสูงขึ้น จากการที่จีนได้ปิดโรงงานเหล็กที่ไม่ได้คุณภาพและมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช ที่ราคานำเข้าปรับสูงขึ้น หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ ยารักษาโรค ขณะที่ดัชนีราคานำเข้าหมวดสินค้าเชื้อเพลิงปรับตัวลดลง ได้แก่ น้ำมันดิบ โดยได้รับแรงกดดันเกี่ยวกับภาวะอุปทานที่ล้นตลาด จากปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นของประเทศผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปค รวมทั้งปริมาณน้ำมันคงคลังของสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูง

2.2 เทียบกับเดือนสิงหาคม 2558 (YoY) ลดลงร้อยละ 0.6 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

ดัชนีราคานำเข้าปรับลดลง เป็นผลมาจากหมวดสินค้าเชื้อเพลิงเป็นหลัก โดยมีสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม และน้ำมันสำเร็จรูป เนื่องจากภาวะอุปทานของน้ำมันที่ล้นตลาดอย่างต่อเนื่อง และกลุ่มประเทศผู้ผลิตยังไม่มีความชัดเจนในเจรจาหาข้อยุติเพื่อแก้ปัญหาเรื่องเสถียรภาพของราคาน้ำมัน ขณะที่หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ ทองคำ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ยารักษาโรค และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ดัชนีราคานำเข้าได้ปรับตัวสูงขึ้น

2.3 เทียบเฉลี่ยกับเดือนมกราคม-สิงหาคม 2558 (AoA) ลดลงร้อยละ 5.3 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

หมวดสินค้าที่ราคานำเข้าปรับลดลง ได้แก่ หมวดสินค้าเชื้อเพลิงโดยมีสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม และน้ำมันสำเร็จรูป หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ สินแร่โลหะ ปุ๋ย พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ ยารักษาโรค ซึ่งในภาพรวมนั้น สินค้านำเข้าที่สำคัญยังคงเคลื่อนไหวตามสถานการณ์ในตลาดโลกที่ได้รับแรงกดดันจากปัญหาภาวะอุปทานส่วนเกิน อาทิ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ขณะที่ความต้องการใช้ลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว อย่างไรก็ตาม หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบ หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ดัชนีราคานำเข้าได้ที่ปรับตัวสูงขึ้น

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ