ระดับราคาสินค้าและบริการโดยรวมลดลงจากเดือนก่อนหน้าโดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤศจิกายน 2559 เท่ากับ -0.06 (MoM) อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อในรอบ 12 เดือนยังมีแนวโน้มขยายตัวเท่ากับร้อยละ 0.60 (YoY) สะท้อนถึงการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวม ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์มีการติดตามความเคลื่อนไหวราคาสินค้าอย่างใกล้ชิดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและเป็นธรรมสอดคล้องกับต้นทุน พร้อมทั้งเพิ่มทางเลือกช่องทางการบริโภคแก่ประชาชนอย่างสม่ำเสมอ
ในรอบหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ดัชนีราคาผู้บริโภคลดลงร้อยละ 0.06 (MoM) อิทธิพลจากอาหารสดและพลังงานราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นหลัก โดยมีภาวะความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าดังนี้
ผลไม้สด ราคาปรับลดลงเนื่องจากผลผลิตมากในช่วงฤดูกาลต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมาโดยเฉพาะส้มเขียวหวาน มะละกอสุก และกล้วยน้ำหว้า
น้ำมันเชื้อเพลิง ราคาลดลงเนื่องจากผู้ให้บริการน้ำมันรายใหญ่ประกาศลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ ส่งผลให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเดือนพฤศจิกายน ลดลงร้อยละ -0.92 (MoM)
เนื้อสุกร ไก่สด และไข่ไก่ ความต้องการบริโภคลดลง ขณะที่ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง
ผักสด ประเภทผักใบ (ต้นหอม ผักชี) ราคาสูงขึ้นในช่วงสัปดาห์สุดท้ายเนื่องจากผลผลิตน้อยลงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเข้าสู่ฤดูหนาว
การเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อในรอบปีที่ผ่านมาที่ร้อยละ 0.60 (YoY) จากราคา 1) อาหารสดปรุงที่บ้าน อาทิ ผักสด ไข่ไก่ และเนื้อสุกร ที่ระดับราคายังคงสูงกว่าปีก่อนหน้าเนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง 2) ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ 3) ค่าที่พักอาศัย อย่างไรก็ตามอัตราเงินเฟ้อยังคงได้รับแรงฉุดจากค่ากระแสไฟฟ้าและก๊าซหุงต้ม
อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.59/มค.-พ.ย.58) ขยายตัวร้อยละ 0.10 (กรอบคาดการณ์ร้อยละ 0.0 - 1.0) โดยคาดว่าในช่วงที่เหลือของปี 2559 อัตราเงินเฟ้อจะขยายตัวเล็กน้อยจากการใช้จ่ายของครัวเรือนตามมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสิ้นปี
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ ประมาณการอัตราเงินเฟ้อปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 - 2.0 โดยมีสมมติฐานหลักคือ
1) GDP ขยายตัวร้อยละ 3.0 - 3.5 โดยตัวชี้วัดการใช้จ่ายครัวเรือน การผลิต รายได้เกษตรกรการส่งออกสินค้าและบริการสูงขึ้นที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น มีทิศทางเป็นบวกสนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจในภาพรวม
2) ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ในช่วง 45 - 55 ดอลล่าร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ความต้องการใช้น้ำมันคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปี 2560 ขณะที่อุปทานน้ำมันในตลาดโลกมีเสถียรภาพมากขึ้นจากการควบคุมกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปค
3) อัตราแลกเปลี่ยน อยู่ในช่วง 35.5-37.5 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯอ่อนค่าลงเล็กน้อย
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2559
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าและบริการที่ครัวเรือนใช้สอยครอบคลุม
หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 450 รายการ
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2559 สรุปได้ดังนี้ คือ
1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2559 (ปี 2554 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100) มีค่าเท่ากับ 106.79 (เดือนตุลาคม 2559 เท่ากับ 106.85)
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2559 เมื่อเทียบกับ โดยมีรายละเอียดดังนี้
ระยะเวลา การเปลี่ยนแปลง ร้อยละ 2.1 เดือนตุลาคม 2559 (MoM) ลดลง -0.06 2.2 เดือนพฤศจิกายน 2558 (YoY) สูงขึ้น 0.60 2.3 เฉลี่ย 11 เดือน (AoA) (มกราคม - พฤศจิกายน 2558) สูงขึ้น 0.10
2.1 เทียบเดือนตุลาคม 2559 (MoM) ลดลง ร้อยละ -0.06 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 1
อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤศจิกายน 2559 ลดลงจากเดือนตุลาคม 2559 (MoM) ร้อยละ -0.06 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร ลดลงร้อยละ -0.23 (ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ -0.92 เครื่องรับอุปกรณ์สื่อสาร ลดลงร้อยละ -0.73) หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ราคาลดลงร้อยละ -0.04 (ข้าว เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคลลดลง ร้อยละ -0.02 (ค่าของใช้ส่วนบุคคล อาทิ สบู่ ยาสีฟัน และผลิตภัณฑ์บำรุงผิว) ขณะที่หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ราคาปรับสูงขึ้น ร้อยละ 0.01 (เสื้อผ้าเด็กและบุรุษ) และหมวดเคหสถานราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.04 (ค่าเช่าบ้าน สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด) ทั้งนี้ ราคาสินค้าในหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ และหมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนาราคาไม่เปลี่ยนแปลง
2.2 เทียบเดือนพฤศจิกายน2558 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 0.60 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 2
อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤศจิกายน 2559 สูงขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2558 (YoY) ร้อยละ 0.60 ได้รับผลกระทบหลักมาจากหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์สูงขึ้นร้อยละ 12.94 อาทิ บุหรี่ (สูงขึ้นร้อยละ 28.01)หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 1.49 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.58 (ค่าบริการส่วนบุคคลเพื่อความสวยงาม ค่าเบี้ยประกันชีวิต และค่าของใช้ส่วนบุคคล อาทิ ยาสีฟัน แชมพู ) หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา
สูงขึ้นร้อยละ 0.49 (ค่าเล่าเรียน-ค่าธรรมเนียมประถมศึกษาภาคเอกชน ค่าลงทะเบียน-ค่าธรรมเนียมอุดมศึกษาเอกชน) หมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ 0.46 (น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าบริการบำรุงรักษายานยนต์) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าปรับสูงขึ้นร้อยละ 0.19 (ค่าจ้างซักรีด) ในขณะที่ ราคาสินค้าและบริการในหมวดเคหสถานลดลงร้อยละ -1.16 (ค่ากระแสไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม)
2.3 เทียบเดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2559 กับ เดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2558 (AoA) สูงขึ้น ร้อยละ 0.10 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 3
อัตราเงินเฟ้อในระยะ 11 เดือน (เดือนม.ค.-พ.ย.59/เดือนม.ค.-พ.ย.58) สูงขึ้นร้อยละ 0.10 (AoA) ได้รับอิทธิพลมาจากการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการในหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ราคาสูงขึ้นมากที่สุดร้อยละ 11.96 หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ราคาสูงขึ้นร้อยละ 1.63 หมวดบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา ราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.82 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคลราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.82 และหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าราคาปรับสูงขึ้น ร้อยละ 0.42 ในขณะที่ราคาสินค้าและบริการในหมวดเคหสถาน (ค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม) และหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร (น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าโดยสารประจำทาง) ราคาปรับลดลงเล็กน้อย ร้อยละ -0.97 และร้อยละ -2.20 ตามลำดับ
3. คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2559 และปี 2560 สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) คาดว่าในช่วงที่เหลือของปี 2559 อัตราเงินเฟ้อจะขยายตัวเล็กน้อยจากการใช้จ่ายของครัวเรือน รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในช่วงเทศกาลสิ้นปี แต่ยังคงอยู่ในช่วงประมาณการอัตราเงินเฟ้อปี 2559 ร้อยละ 0.0 - 1.0 ต่อปี สำหรับปี 2560 สนค. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะขยายตัวร้อยละ 1.5 - 2.0 ต่อปี โดยมีสมมติฐานหลักคือ
1. การขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศไทย (%) 3.25 (3.0 - 3.5) เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2559 การขยายตัวเศรษฐกิจมี ปัจจัยสนับสนุน อาทิ การใช้จ่ายครัวเรือน การผลิตและรายได้เกษตรกรที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น การใช้จ่ายและการลงทุนโครงการภาครัฐ การส่งออกสินค้าและบริการสูงขึ้นและมีทิศทางเป็นบวกสนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจในภาพรวม
2. ราคาน้ำมันดิบดูไบ (USD/Barrel) 50.0 (45.0 - 55.0) ราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 2560 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปี 2559 โดยคาดว่าความต้องการน้ำมันทั่วโลกจะสูงขึ้นประมาณ 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ อุปสงค์และอุปทานน้ำมันในตลาดโลกมีความสมดุลมากขึ้นจากการควบคุมกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปค ทำให้ความผันผวนของราคาลดลง
3. อัตราแลกเปลี่ยน (บาท/ USD) 36.5 (35.5 - 37.5) อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่า จากแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในหลายประเทศ
ทั้งนี้ อัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงดอลลาร์สหรัฐ และราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยเดือนพฤศจิกายน 2559 เท่ากับ 35.31 บาทต่อดอลลาร์ 43.72 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2559) ตามลำดับ
4. ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ
ปัจจัยสนับสนุน ปัจจัยเสี่ยง
อุปสงค์ภายในประเทศเริ่มฟื้นตัว โดยการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ขยายตัวต่อเนื่องสอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของการผลิตและ
รายได้เกษตรกร ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น กระทบราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ
มาตรการภาครัฐสนับสนุนกำลังซื้อของภาคครัวเรือนในช่วงเทศกาล ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนจากนโยบายการปรับอัตราดอกเบี้ยของ FED ส่งผลกระทบต่อรายได้จากภาคการส่งออก และต้นทุนการนำเข้าสินค้าบางประเภท
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0-2507-5850 โทรสาร. 0-2507-5825