อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2559 เท่ากับร้อยละ 0.19 และอยู่ในกรอบคาดการณ์ของกระทรวงพาณิชย์ระหว่างร้อยละ 0.0 - 1.0 โดยอัตราเงินเฟ้อขยายตัวเป็นบวกมาอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาสสุดท้ายผลจากการเร่งตัวของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก อันกระทบต่อราคาสินค้าและบริการที่ใช้พลังงานเป็นองค์ประกอบหลัก อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของอัตราเงินเฟ้อในระดับดังกล่าวจัดว่าเป็นเงินเฟ้ออย่างอ่อน และอยู่ในเกณฑ์ที่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวม
ระดับราคาสินค้าและบริการ ในเดือนธันวาคม 2559 สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าโดยมีอัตราการขยายตัวเท่ากับ 0.13 (MoM) ผลจากน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องประกอบอาหาร และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เป็นหลัก ขณะที่ราคาอาหารสดส่วนใหญ่ราคาลดลง โดยมีภาวะความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าดังนี้
น้ำมันเชื้อเพลิง ราคาสูงขึ้นร้อยละ 4.84 (MoM) เนื่องจากผู้ให้บริการน้ำมันรายใหญ่ประกาศขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศจำนวน 3 ครั้งในเดือนธันวาคม 2559
เครื่องประกอบอาหาร ราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.42 (MoM) อาทิ ซีอิ๊ว มะขามเปียก น้ำปลา และกะทิสำเร็จรูป
เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.95 (MoM) จากราคากาแฟ (ร้อน/เย็น)
ผักสด โดยเฉพาะ ต้นหอม ผักคะน้า และผักชี ราคาปรับลดลง เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อผลผลิต
ผลไม้สด อาทิ ส้มเขียวหวาน ราคาปรับลดลงเนื่องจากผลผลิตมากในช่วงฤดูกาลต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา
เนื้อสุกร และไข่ไก่ ราคาลดลงจากอุปทานส่วนเกิน ขณะที่ความต้องการบริโภคยังอยู่ในระดับต่ำ
อัตราเงินเฟ้อในรอบ 12 เดือน เร่งตัวขึ้นร้อยละ 1.13 (YoY) อันเนื่องมาจากการปรับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศตามแรงกดดันราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก โดยจะเห็นว่าน้ำมันเชื้อเพลิงกลับมาเป็นปัจจัยเร่งอัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาสที่ 4 หลังจากฉุดรั้งการขยายตัวของอัตราเงินเฟ้อมาตั้งแต่ปี 2558 ในส่วนของราคาสินค้าอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อาทิ พริกสด กะหล่ำปลี ไข่ไก่ ขยายตัวสูงขึ้นเล็กน้อยในรอบปีที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนทำให้ผลผลิตน้อยลง ขณะที่ ค่ากระแสไฟฟ้าและก๊าซหุงต้มยังคงส่งผลกระทบในทางลบต่ออัตราเงินเฟ้อในปี 2559
กระทรวงพาณิชย์ ประมาณการอัตราเงินเฟ้อปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 - 2.0 โดยมีสมมติฐานหลักคือ
1) GDP ขยายตัวร้อยละ 3.0 - 3.5 โดยการผลิต รายได้เกษตรกรการส่งออกสินค้าและบริการสูงขึ้นที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ช่วยกระตุ้นการเติบโตเศรษฐกิจในภาพรวม
2) ราคาน้ำมันดิบดูไบ อยู่ในช่วง 45 - 55 ดอลล่าร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล โดยคาดว่าความต้องการใช้น้ำมันจะเพิ่มขึ้น ขณะที่อุปทานน้ำมันในตลาดโลกมีเสถียรภาพมากขึ้นจากการควบคุมกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปค
3) อัตราแลกเปลี่ยน อยู่ในช่วง 35.5-37.5 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงเล็กน้อย
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนธันวาคม 2559
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าและบริการที่ครัวเรือนใช้สอยครอบคลุม
หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 450 รายการ
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนธันวาคม 2559 สรุปได้ดังนี้ คือ
1.ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนธันวาคม 2559 (ปี 2554 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100) มีค่าเท่ากับ 106.93 (เดือนพฤศจิกายน 2559 เท่ากับ 106.79)
2.การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนธันวาคม 2559 เมื่อเทียบกับ
ระยะเวลา การเปลี่ยนแปลง ร้อยละ 2.1 เดือนพฤศจิกายน 2559 (MoM) สูงขึ้น 0.13 2.2 เดือนธันวาคม 2558 (YoY) สูงขึ้น 1.13 2.3 เฉลี่ย 12 เดือน (AoA) (มกราคม - ธันวาคม 2558) สูงขึ้น 0.19
โดยมีรายละเอียดดังนี้
2.1 เทียบเดือนพฤศจิกายน 2559 (MoM) สูงขึ้น ร้อยละ 0.13 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 1
อัตราเงินเฟ้อเดือนธันวาคม 2559 สูงขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2559 (MoM) ร้อยละ 0.13 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ 1.21 (ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง อาทิ น้ำมันเบนซิน95 ดีเซล แก๊สโซฮอล์91 95 และก๊าซธรรมชาติ (NGV) สูงขึ้น ร้อยละ 4.84)หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา และหมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.03 หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ราคาปรับสูงขึ้น ร้อยละ 0.01 ขณะที่ ราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ราคาลดลงร้อยละ -0.40 (ต้นหอม ส้มเขียวหวาน เนื้อสุกร ข้าวสารเจ้า และไข่ไก่) และหมวดเคหสถานราคาลดลง ร้อยละ -0.01 (ค่าเช่าบ้าน ผงซักฟอก ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น น้ำยาล้างจาน)
2.2 เทียบเดือนธันวาคม2558 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 1.13 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 2
อัตราเงินเฟ้อเดือนธันวาคม 2559 สูงขึ้นจากเดือนธันวาคม 2558 (YoY) ร้อยละ 1.13 ได้รับผลกระทบจากหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์สูงขึ้นร้อยละ 12.98 อาทิ บุหรี่ (สูงขึ้นร้อยละ 28.01) ) หมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ 3.01 (น้ำมันเชื้อเพลิง) หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 1.36 (พริกสด กะหล่ำปลี ไข่ไก่ ข้าวแกง/ข้าวกล่อง) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.58 (ค่าบริการส่วนบุคคลเพื่อความสวยงาม ค่าเบี้ยประกันชีวิต และค่าของใช้ส่วนบุคคล อาทิ ยาสีฟัน แชมพู ) หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา สูงขึ้นร้อยละ 0.52 (ค่าเล่าเรียน-ค่าธรรมเนียมประถมศึกษาภาคเอกชน ค่าลงทะเบียน-ค่าธรรมเนียมอุดมศึกษาเอกชน) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าปรับสูงขึ้นร้อยละ 0.17 ในขณะที่ ราคาสินค้าและบริการในหมวดเคหสถานลดลงร้อยละ -1.18 (ค่ากระแสไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม)
2.3 เทียบเดือนมกราคม - ธันวาคม 2559 กับ เดือนมกราคม - ธันวาคม 2558 (AoA) สูงขึ้น ร้อยละ 0.19 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 3
อัตราเงินเฟ้อในระยะ 12 เดือน (เดือนม.ค.-ธ.ค.59/เดือนม.ค.-ธ.ค.58) สูงขึ้นร้อยละ 0.19 (AoA) ได้รับอิทธิพลมาจากการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการในหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ราคาสูงขึ้นมากที่สุดร้อยละ 12.04 หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ราคาสูงขึ้นร้อยละ 1.61 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคลราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.80 หมวดบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา ราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.79 และหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าราคาปรับสูงขึ้น ร้อยละ 0.40 ในขณะที่ราคาสินค้าและบริการในหมวดเคหสถาน (ค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม) และหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร (น้ำมันเชื้อเพลิง) ราคาปรับลดลงเล็กน้อย ร้อยละ -0.99 และร้อยละ -1.78 ตามลำดับ
3. คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2560 สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะขยายตัวร้อยละ 1.5 - 2.0 ต่อปี ในปี 2560 โดยมีสมมติฐานหลักคือ
1. การขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศไทย (%) 3.25 (3.0 - 3.5) เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2559 การขยายตัวเศรษฐกิจมี ปัจจัยสนับสนุน อาทิ การใช้จ่ายครัวเรือน การผลิตและรายได้เกษตรกรที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น การใช้จ่ายและการลงทุนโครงการภาครัฐ การส่งออกสินค้าและบริการสูงขึ้นและมีทิศทางเป็นบวกสนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจในภาพรวม
2. ราคาน้ำมันดิบดูไบ (USD/Barrel) 50.0 (45.0 - 55.0) ราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 2560 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปี 2559 โดยคาดว่าความต้องการน้ำมันทั่วโลกจะสูงขึ้นประมาณ 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ อุปสงค์และอุปทานน้ำมันในตลาดโลกมีความสมดุลมากขึ้นจากการควบคุมกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปค ทำให้ความผันผวนของราคาลดลง
3. อัตราแลกเปลี่ยน (บาท/ USD) 36.5 (35.5 - 37.5) อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่า จากแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในหลายประเทศ ทั้งนี้ ในเดือนธันวาคม 2559 อัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 35.81 บาทต่อดอลลาร์ และราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยเดือนธันวาคม 2559 อยู่ที่ 52.01 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 29 ธันวาคม 2559)
ปัจจัยสนับสนุน ปัจจัยเสี่ยง อุปสงค์ภาคครัวเรือนเริ่มฟื้นตัวสอดคล้องกับการการผลิตและรายได้เกษตรกร ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น กระทบราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ รายได้จากการส่งออกมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น เงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าส่งผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันของภาคการส่งออก และต้นทุนการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ มาตรการภาครัฐสนับสนุนกำลังซื้อของภาคครัวเรือนในช่วงเทศกาล
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0-2507-5850 โทรสาร. 0-2507-5825