ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนพฤศจิกายน 2559 เท่ากับ 116.6 เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2558 (YoY) ลดลงร้อยละ 0.4 ในอัตราที่ชะลอลง สาเหตุสำคัญจากการลดลงของดัชนีราคาสินค้าหมวดต่าง ๆ ได้แก่ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ลดลงร้อยละ 1.1 หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 4.6 หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 0.1 และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2559 ดัชนีราคาปรับสูงขึ้นร้อยละ 0.4 (MoM) สาเหตุสำคัญมาจากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 2.0 (เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ข้ออ้อย เหล็กฉาก เหล็กรางน้ำ ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี ท่อเหล็กดำ) หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.2 (ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์พีวีซี ท่อพีวีซี ข้อต่อท่อประปา) หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 0.1 (ยางมะตอย)หมวดที่ดัชนีราคาลดลง ได้แก่ หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 0.5 (ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์และผสม) สำหรับหมวดอื่น ๆ ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง
หมวดที่มีผลกระทบให้ดัชนีราคาลดลง ได้แก่ หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ (ผลกระทบ -1.2) หมวดซีเมนต์ (ผลกระทบ -0.5) หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ (ผลกระทบ -0.1) สำหรับหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กผลกระทบเป็นบวก (ผลกระทบ 1.3) ทำให้ดัชนีราคาลดลงในอัตราที่ชะลอตัว
การเคลื่อนไหวของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนพฤศจิกายน 2559 เทียบกับเดือนที่ผ่านมา (MoM) สูงขึ้น เป็นผลจากราคาเหล็กในตลาดโลกปรับสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ ได้แก่ แร่เหล็กและถ่านหินที่มีปริมาณลดลง ประกอบกับราคานำเข้าบิลเล็ตสูงขึ้นจากเงินบาทอ่อนค่า อุปกรณ์ไฟฟ้าประปา ต้นทุนสูงขึ้นตามราคาเม็ดพลาสติก และยางมะตอย โดยปรับสูงขึ้นตามราคาปิโตรเลียม
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าวัสดุก่อสร้างที่ซื้อขายในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ครอบคลุมหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์คอนกรีต เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก กระเบื้อง วัสดุฉาบผิว สุขภัณฑ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา และวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 131 รายการ
1. ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนพฤศจิกายน 2559 เท่ากับ 116.6 (ปี 2548 เท่ากับ 100 และเดือนตุลาคม 2559 เท่ากับ 116.1)
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนพฤศจิกายน 2559
2.1 เทียบกับเดือนตุลาคม 2559 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.4 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าวัสดุก่อสร้างจำแนกตามหมวด
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนพฤศจิกายน 2559 เทียบกับเดือนตุลาคม 2559 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.4 โดยได้รับปัจจัยจากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 2.0 (เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ข้ออ้อย เหล็กฉาก เหล็กรางน้ำ ลวดเหล็กเสริมคอนกรีตอัดแรง ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี ท่อเหล็กดำ) ตามการสูงขึ้นของราคาเหล็กในตลาดโลกที่ปรับตามราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ได้แก่ แร่เหล็ก ถ่านหิน ประกอบกับราคานำเข้าบิลเล็ตสูงขึ้นจากเงินบาทอ่อนค่า หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.2 (ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์พีวีซี ท่อพีวีซี ข้องอท่อประปา ข้อต่อท่อประปา สามทางท่อประปา) ตามราคาเม็ดพลาสติก หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 0.1 (ยางมะตอย) ตามราคาปิโตรเลียม
2.2 เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2558 (YoY) ลดลงร้อยละ 0.4 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าวัสดุก่อสร้างจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 2
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนพฤศจิกายน 2559 เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2558 (YoY) ลดลงร้อยละ 0.4 จากการลดลงของดัชนีราคาหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ลดลงร้อยละ 1.1 (วงกบประตู-หน้าต่าง บานหน้าต่าง) เนื่องจากความนิยมใช้ไม้ลดลงโดยใช้อลูมิเนียมและกระจกแทน หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 4.6 (ปูนซิเมนต์ปอร์ตแลนด์-ผสม) เนื่องจากมีปริมาณปูนในตลาดสูง หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 0.1 (พื้นคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง คอนกรีตบล็อกก่อผนังมวลเบา) ลดลงตามราคาซีเมนต์ หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 6.7 (อิฐมอญ อิฐโปร่ง อลูมิเนียมแผ่นเรียบ อลูมิเนียมเส้น วงกบอลูมิเนียม ยางมะตอย) ความนิยมใช้น้อยลง และตามราคาปิโตรเลียมที่ลดลง หมวดที่ดัชนีราคาสูงขึ้น ได้แก่ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 6.9 (เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ข้ออ้อย เหล็กตัวซี เหล็กรางน้ำ ลวดเหล็กเสริมคอนกรีตอัดแรง ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี ท่อเหล็กดำ เหล็กแผ่นเรียบดำ ตะปู) ปรับตามราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ได้แก่ แร่เหล็ก ถ่านหิน และบิลเล็ต หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 1.8 (สีเคลือบน้ำมัน สีรองพื้นปูน สีรองพื้นโลหะ น้ำมันเคลือบแข็งภายในและภายนอก) ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน สำหรับหมวดกระเบื้อง และหมวดสุขภัณฑ์ ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง
2.3 เทียบกับเดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2558 (AoA) ลดลงร้อยละ 3.1 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าวัสดุก่อสร้างจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 3
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2559 เทียบกับเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2558 (AoA) ลดลงร้อยละ 3.1 โดยมีปัจจัยจากการลดลงของดัชนีราคาเกือบทุกหมวด ยกเว้นหมวดวัสดุฉาบผิว ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.5 หมวดที่ดัชนีราคาลดลง ได้แก่ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ลดลงร้อยละ 1.0 หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 5.0 เนื่องจากมีปริมาณปูนในตลาดสูง หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 1.7 หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 3.0 เป็นผลจากราคาเหล็กในตลาดโลกสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ ได้แก่ แร่เหล็ก ถ่านหิน และบิลเล็ต หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ลดลงร้อยละ1.9 ต้นทุนลดลงตามราคาวัตถุดิบคือเม็ดพลาสติก หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 6.5 จากการลดลงของราคา อิฐโปร่ง อิฐมอญ ที่ความนิยมใช้ลดลง และยางมะตอย ลดลงตามราคาปิโตรเลียม
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2507 5808 โทรสาร. 0 2507 5825