ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนธันวาคม 2559 เท่ากับ 117.3 เทียบกับเดือนธันวาคม 2558 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 0.9 ปรับเป็นบวกในรอบ 27 เดือน สาเหตุสำคัญจากการสูงขึ้นของดัชนีราคาสินค้าหมวดต่าง ๆ ได้แก่ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 13.4 หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 1.8 และหมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.7
เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2559 ดัชนีราคาปรับสูงขึ้นร้อยละ 0.6 (MoM) สาเหตุสำคัญมาจากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 4.2 (เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ข้ออ้อย เหล็กตัวซี เหล็กฉาก เหล็กตัว I เหล็กตัว H เหล็กรางน้ำ ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี ท่อเหล็กดำ เหล็กแผ่นเรียบดำ) หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.4 (สายเคเบิล THW สายไฟฟ้า ท่อพีวีซี ท่อระบายน้ำเสีย PVC ข้องอ-ข้อต่อ-สามทางท่อน้ำทิ้ง) หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 0.4 (ยางมะตอย) หมวดที่ดัชนีราคาลดลง ได้แก่ หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 3.3 (ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์และผสม) และ สำหรับหมวดอื่น ๆ ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง
หมวดที่มีผลกระทบให้ดัชนีราคาสูงขึ้น ได้แก่ ) หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (ผลกระทบ 2.8) หมวดวัสดุฉาบผิว (ผลกระทบ 0.1) หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา (ผลกระทบ 0.1)
การเคลื่อนไหวของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนธันวาคม 2559 เทียบกับเดือนที่ผ่านมา (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.6 เป็นผลจากราคาเหล็กปรับสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบทุกชนิด ได้แก่ แร่เหล็ก ถ่านหิน ถ่านโค้ก บิลเล็ต และเศษเหล็ก ประกอบกับค่าเงินบาทอ่อนทำให้ราคาวัตถุดิบที่นำเข้าสูงขึ้น สายไฟฟ้าและท่อพีวีซี ปรับราคาสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ ได้แก่ ทองแดง เม็ดพลาสติก ยางมะตอย สูงขึ้นตามราคาปิโตรเลียม
สรุปภาพรวมดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเฉลี่ยทั้งปี ลดลงร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับ ปี 2558 (ปี 2558 ลดลงร้อยละ 5.1) การก่อสร้างโดยภาพรวมฟื้นตัว แม้ว่าจะต้องเผชิญปัญหาทั้งจากเศรษฐกิจโลกและในประเทศก็ตาม แต่ด้วยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐตั้งแต่ปลายปี 2558 ที่ผ่าน ทำให้ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างในปี 2559 มีปริมาณเพิ่มขึ้นจากปี 2558
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าวัสดุก่อสร้างที่ซื้อขายในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ครอบคลุมหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์คอนกรีต เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก กระเบื้อง วัสดุฉาบผิว สุขภัณฑ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา และวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 131 รายการ
1. ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนธันวาคม 2559 เท่ากับ 117.3 (ปี 2548 เท่ากับ 100 และเดือนพฤศจิกายน 2559 เท่ากับ 116.6)
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนธันวาคม 2559
2.1 เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2559 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.6 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าวัสดุก่อสร้างจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 1
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนธันวาคม 2559 เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2559 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.6 โดยได้รับปัจจัยจากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 4.2 (เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ข้ออ้อย เหล็กฉาก เหล็กตัว I เหล็กตัว H เหล็กรางน้ำ ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี ท่อเหล็กดำ) ตามราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ได้แก่ แร่เหล็ก ถ่านหิน ถ่านโค้ก บิลเล็ต และเศษเหล็ก ประกอบกับราคาวัตถุดิบที่นำเข้าสูงขึ้นจากเงินบาทอ่อนค่า หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.4 (สายเคเบิล THW สายไฟฟ้าท่อพีวีซี ท่อระบายน้ำเสีย PVC ข้องอท่อประปา ข้อต่อท่อประปา สามทางท่อประปา) ตามการสูงขึ้นของราคาทองแดงและเม็ดพลาสติก หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 0.4 (ยางมะตอย) ตามราคาปิโตรเลียมที่ขยับสูงขึ้น
2.2 เทียบกับเดือนธันวาคม 2558 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 0.9 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าวัสดุก่อสร้างจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 2
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนธันวาคม 2559 เทียบกับเดือนธันวาคม 2558 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 0.9 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 13.4 (เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ข้ออ้อย เหล็กตัวซี เหล็กฉาก เหล็กรางน้ำ ลวดเหล็กเสริมคอนกรีตอัดแรง ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี ท่อเหล็กดำ เหล็กแผ่นเรียบดำ ตะปู) หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 1.8 (สีเคลือบน้ำมัน สีรองพื้นปูน สีรองพื้นโลหะ น้ำมันเคลือบแข็งภายใน-ภายนอก) ต้นทุนสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.7 (ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์พีวีซี ท่อพีวีซี ข้องอ-ข้อต่อ-สามทางท่อประปา ท่อระบายน้ำเสียพีวีซี ข้องอ-ข้อต่อ-สามทางท่อน้ำทิ้ง) ตามราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ได้แก่ ทองแดง เม็ดพลาสติก หมวดที่ดัชนีราคาลดลง ได้แก่ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ลดลงร้อยละ 1.1 (วงกบ-บานหน้าต่าง) ความนิยมใช้ลดลง หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 6.0 (ปูนซิเมนต์ปอร์ตแลนด์-ผสม) เนื่องจากมีปริมาณปูนส่วนเกินในตลาดสูง หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 0.1 (พื้นคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง คอนกรีตบล็อกก่อผนังมวลเบา) ลดลงตามราคาซีเมนต์ หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 6.1 (อิฐมอญ อิฐโปร่ง อลูมิเนียมแผ่นเรียบ อลูมิเนียมเส้น วงกบอลูมิเนียม ยางมะตอย) ผู้ประกอบการจำหน่ายได้น้อยจึงลดราคาเพื่อระบายสินค้าและตามราคาปิโตรเลียมที่ลดลงสำหรับหมวดกระเบื้อง และหมวดสุขภัณฑ์ ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง
2.3 เทียบกับเดือนมกราคม -ธันวาคม 2558 (AoA) ลดลงร้อยละ 2.7 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าวัสดุก่อสร้างจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 3
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมกราคม-ธันวาคม 2559 เทียบกับเดือนมกราคม-ธันวาคม 2558 (AoA) ลดลงร้อยละ 2.7 โดยมีปัจจัยจากการลดลงของดัชนีราคาเกือบทุกหมวด ยกเว้นหมวดวัสดุฉาบผิว ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.6 หมวดที่ดัชนีราคาลดลง ได้แก่ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ลดลงร้อยละ 1.0 หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 5.0 เนื่องจากมีปริมาณปูนส่วนเกินในตลาดสูง หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 1.6 หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 1.7 จากการสูงขึ้นของราคาวัตถุดิบ ได้แก่ แร่เหล็ก ถ่านหิน และบิลเล็ต ราคานำเข้าวัตถุดิบสูงขึ้นจากเงินบาทอ่อนค่า หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปาลดลงร้อยละ1.7 ต้นทุนลดลงตามราคาวัตถุดิบคือเม็ดพลาสติก หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 6.5 จากการลดลงของราคา อิฐโปร่ง อิฐมอญ ที่ความนิยมใช้ลดลง และยางมะตอย ลดลงตามราคาปิโตรเลียม
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเฉลี่ยทั้งปี 2559 ลดลงร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับปี 2558 ( ปี 2558 ลดลงร้อยละ 5.1) โดยลดลงในอัตราที่ชะลอตัว เป็นสัญญาณการฟื้นตัวภาพรวมการก่อสร้าง แม้ว่าจะต้องเผชิญปัญหาทั้งจากเศรษฐกิจโลกและในประเทศ แต่ด้วยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐตั้งแต่ปลายปี 2558 ที่ผ่านมาทำให้ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างในปี 2559 เพิ่มขึ้น
ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 อุตสาหกรรมเหล็กมีแนวโน้มขยายตัวขึ้น ขณะที่ปูนซีเมนต์ประสบปัญหาปริมาณส่วนเกินสูง ทำให้ผู้ประกอบการปรับราคาลดลงเพื่อกระตุ้นยอดขาย ประกอบกับปัญหาน้ำท่วมในหลายจังหวัดของภาคใต้ส่งผลกระทบให้การก่อสร้างหยุดชะงัก ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างลดลง
แนวโน้มการก่อสร้างปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้น เมื่อโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐขับเคลื่อนได้ตามแผนที่กำหนดไว้ ซึ่งจะทำให้ภาคเอกชนลงทุนก่อสร้างเพิ่มขึ้น
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2507 5808 โทรสาร. 0 2507 5825