ดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศเดือน กันยายน 2559 และเฉลี่ยระยะ 9 เดือนของปี 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 1, 2016 15:55 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาส่งออก เดือนกันยายน 2559 เทียบกับเดือนกันยายน 2558 สูงขึ้นร้อยละ 1.3 (YoY) ปัจจัยหลักเป็นผลจากการสูงขึ้นของทุกหมวดสินค้าโดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าเชื้อเพลิง และสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรเป็นสำคัญ เนื่องจากตลาดยังมีความต้องการสินค้าอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่เป็นตลาดหลักในการส่งออกยังมีความผันผวนค่อนข้างสูง ซึ่งนับเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการส่งออกไทยในอนาคต

ดัชนีราคานำเข้า เดือนกันยายน 2559 เทียบกับเดือนกันยายน 2558 ปรับสูงขึ้นร้อยละ 1.2 (YoY) สาเหตุจากสินค้าทุน สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง และสินค้าอุปโภคบริโภค ยกเว้นสินค้าเชื้อเพลิงที่ยังคงปรับลดลงเนื่องจากปัญหาภาวะอุปทานส่วนเกินของน้ำมันในตลาดโลก

ดัชนีราคาส่งออก เดือนกันยายน 2559 เท่ากับ 96.7 เทียบกับเดือนกันยายน 2558 (ปี 2555 = 100) สูงขึ้นร้อยละ 1.3 (YoY) โดยเป็นการปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ทองคำ ซึ่งได้รับแรงหนุนจากค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ อ่อนค่า ส่งผลให้มีความต้องการทองคำสูงขึ้น นอกจากนี้ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า สูงขึ้นตามความต้องการสินค้าเพื่อส่งมอบที่มีอย่างต่อเนื่อง สำหรับเคมีภัณฑ์ สูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นจากราคาน้ำมันสำเร็จรูป ตามแนวโน้มราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นจากน้ำตาลทราย เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งทำให้ผลผลิตตลาดโลกลดลง และหมวดสินค้าเกษตรกรรม เช่น ข้าว ยางพารา และกุ้งแช่เย็น แช่แข็ง เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากปัญหาภัยธรรมชาติและโรคระบาดในกุ้งที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้า

ดัชนีราคานำเข้า เดือนกันยายน 2559 เท่ากับ 85.0 เทียบกับเดือนกันยายน 2558 (ปี 2555=100) ปรับสูงขึ้นร้อยละ 1.2 (YoY) ทั้งนี้ สินค้าสำคัญที่เป็นแรงหนุนให้ดัชนีราคานำเข้าปรับสูงขึ้น ได้แก่ หมวดสินค้าทุน เช่น เครื่องจักรกล เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ตามการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม มีความต้องการใช้เครื่องจักรกลหนักมากขึ้น หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เช่น ทองคำ ตามการอ่อนค่าของเงินเหรียญสหรัฐ กอปรกับเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน ทำให้เกิดความต้องการทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง เช่น ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ขณะที่หมวดสินค้าเชื้อเพลิงยังคงปรับลดลงจากการเกิดภาวะอุปทานส่วนเกินของน้ำมันในตลาดโลก

ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าส่งออกในรูปของดัชนี โดยใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาส่งออกที่ผู้ส่งออกในประเทศไทยได้ส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ทั้งนี้ ราคาส่งออกที่สำรวจเป็นราคา F.O.B (Free On Broad) ครอบคลุม 4 หมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเกษตรกรรม หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร หมวดสินค้าอุตสาหกรรม และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 838 รายการ สรุปได้ดังนี้

1. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนกันยายน 2559 เท่ากับ 96.7 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนสิงหาคม 2559 เท่ากับ 96.6) โดยดัชนีราคาส่งออกเดือนกันยายน 2559 ในหมวดสินค้าเกษตรกรรม เท่ากับ 83.4 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร เท่ากับ 99.8 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เท่ากับ 98.9 และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง เท่ากับ 91.2

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนกันยายน 2559 เมื่อเทียบกับ

2.1 เทียบกับเดือนสิงหาคม 2559 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.1 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าส่งออกจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

หมวดสินค้าที่ราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป ตามแนวโน้มราคาน้ำมันตลาดโลกที่สูงขึ้น เนื่องจากภาวะอุปทานล้นตลาดเริ่มคลี่คลายลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งสัญญาณที่ดีต่อการหารือมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันดิบของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ประกอบกับได้รับปัจจัยหนุนจากค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ อ่อนค่า และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร จากน้ำตาลทราย และอาหารทะเลแปรรูป เนื่องจากผลผลิตน้ำตาลในตลาดโลกลดลง ประกอบกับความต้องการอาหารทะเลแปรรูปมีแนวโน้มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ปลาและปลาหมึก ส่งผลให้ราคาปรับสูงขึ้นได้ ขณะที่ดัชนีราคาส่งออกหมวดสินค้าเกษตรกรรมปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าว ยางพารา เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดส่งออก ประกอบกับเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ายังฟื้นตัวไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้ปริมาณความต้องการสินค้ามีอย่างจำกัด นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ราคาลดลงตามความต้องการใช้มันสำปะหลังในจีนซึ่งเป็นตลาดหลักลดลง สำหรับหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ดัชนีราคาส่งออกไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีการเปลี่ยนแปลงในสินค้าบางหมวดที่สำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ราคาสูงขึ้นตามความต้องการสั่งซื้อสินค้าเพื่อส่งมอบที่มีอย่างต่อเนื่อง และเคมีภัณฑ์ เนื่องจากเป็นสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันที่มีแนวโน้มราคาสูงขึ้น ขณะที่ทองคำ ราคาลดลงจากการแข็งค่าของเงินเหรียญสหรัฐฯ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ราคาลดลงเนื่องจากผู้ผลิตจีนปรับลดราคาเสนอขายลงประกอบกับผู้บริโภคชะลอการซื้อเนื่องจากคาดว่าราคาเหล็กจะมีแนวโน้มลดลงอีก

2.2 เทียบกับเดือนกันยายน 2558 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 1.3 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าส่งออกจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

ดัชนีราคาส่งออกปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ยางพารา ข้าว สินค้าประมง (กุ้ง ปลาหมึก ปลา) ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ น้ำตาลทราย อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ ทองคำ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง จากราคาน้ำมันสำเร็จรูปเป็นสำคัญ โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่ปรับสูงขึ้นเป็นผลจากปริมาณผลผลิตที่ลดลง ประกอบกับความต้องการสินค้าที่มีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาปรับสูงขึ้น นอกจากนี้ ความผันผวนของราคาน้ำมันอาจส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ปริมาณอุปทานส่วนเกินน้ำมันยังคงอยู่ในระดับสูงอยู่

2.3 เทียบเฉลี่ยกับเดือนมกราคม-กันยายน 2558 (AoA) ลดลงร้อยละ 0.8 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป สำหรับหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ดัชนีราคาส่งออกไม่เปลี่ยนแปลง โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่ปรับลดลงเป็นผลจากปริมาณผลผลิตส่วนเกินที่ล้นตลาด ราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง และความต้องการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ เป็นต้น

ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนกันยายน 2559

ดัชนีราคานำเข้าของประเทศ แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้านำเข้าที่ผู้นำเข้าในประเทศไทยได้จ่ายไปเพื่อนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ราคานำเข้าที่สำรวจเป็นราคา C.I.F. (Cost, Insurance และ Freight) ครอบคลุม 5 หมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเชื้อเพลิง หมวดสินค้าทุน หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 842 รายการ สรุปได้ดังนี้

1. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนกันยายน 2559 เท่ากับ 85.0 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนสิงหาคม 2559 เท่ากับ 84.9) โดยดัชนีราคานำเข้าเดือนกันยายน 2559 ในหมวดสินค้าเชื้อเพลิง เท่ากับ 48.5 หมวดสินค้าทุน เท่ากับ 100.8 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เท่ากับ 91.7 หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค เท่ากับ 99.7 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง เท่ากับ 95.1

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนกันยายน 2559 เมื่อเทียบกับ

2.1 เทียบกับเดือนสิงหาคม 2559 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.1 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

หมวดสินค้านำเข้าที่ปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบ เนื่องจากโอเปคปรับลดกำลังการผลิตลงตามเพดานการผลิตที่กำหนดไว้เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันในตลาดโลก หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เนื่องจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีใหม่ๆ ขณะที่หมวดสินค้าที่ปรับลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ ทองคำ เนื่องจากค่าเงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้น หลังจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่ดี กอปรกับธนาคารกลางสหรัฐฯ มีมุมมองที่เป็นบวกต่อภาคธนาคารของสหรัฐฯ ทำให้ความต้องการทองคำลดลง นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และปุ๋ย ที่ราคานำเข้าปรับลดลง หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และดัชนีราคานำเข้าหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคไม่เปลี่ยนแปลง

2.2 เทียบกับเดือนกันยายน 2558 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 1.2 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าทุน เช่น เครื่องจักรกล เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ตามการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม มีความต้องการใช้เครื่องจักรกลหนักมากขึ้น หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เช่น ทองคำ ตามการอ่อนค่าของเงินเหรียญสหรัฐเมื่อเทียบกับปีก่อน กอปรกับเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน ทำให้เกิดความต้องการทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง เช่น ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ขณะที่หมวดสินค้าเชื้อเพลิงยังคงปรับลดลงจากการเกิดภาวะอุปทานส่วนเกินของน้ำมันในตลาดโลก

2.3 เทียบเฉลี่ยกับเดือนมกราคม-กันยายน 2558 (AoA) ลดลงร้อยละ 4.6 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

หมวดสินค้าที่ราคานำเข้าปรับลดลง ได้แก่ หมวดสินค้าเชื้อเพลิงโดยมีสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม และน้ำมันสำเร็จรูป หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ สินแร่โลหะ ปุ๋ย พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ ยารักษาโรค เครื่องสำอาง ซึ่งในภาพรวมนั้น สินค้านำเข้าที่สำคัญยังคงเคลื่อนไหวตามสถานการณ์ในตลาดโลกที่ได้รับแรงกดดันจากปัญหาภาวะอุปทานส่วนเกิน อาทิ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ขณะที่ความต้องการใช้ลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว อย่างไรก็ตาม หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบ หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ดัชนีราคานำเข้าได้ที่ปรับตัวสูงขึ้น

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ