ดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศเดือน พฤศจิกายน 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 4, 2017 16:01 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาส่งออก เดือนพฤศจิกายน 2559 เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2558 สูงขึ้นร้อยละ 1.7 (YoY) เป็นการปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องทุกหมวดสินค้าโดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าเกษตรกรรมและสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร เนื่องจากความต้องการตลาดยังมีอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่เป็นตลาดหลักในการส่งออกยังมีความผันผวน ซึ่งนับเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการส่งออกไทย

ดัชนีราคานำเข้า เดือนพฤศจิกายน 2559 เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2558 ปรับสูงขึ้นร้อยละ 2.7 (YoY) เป็นการปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ได้แก่ สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สินค้าทุน ยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สินค้าเชื้อเพลิง และสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งนี้ ราคาสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น น้ำมันดิบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เริ่มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากความพยายามแก้ไขและลดปัญหาภาวะอุปทานส่วนเกินในตลาดโลก

ดัชนีราคาส่งออก เดือนพฤศจิกายน 2559 มีค่าเท่ากับ 96.9 เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2558 (ปี 2555=100) สูงขึ้นร้อยละ 1.7 (YoY) โดยเป็นการปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เช่น เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ตามความต้องการสินค้าเพื่อส่งมอบที่มีอย่างต่อเนื่อง สำหรับทองคำ เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ อ่อนค่า นอกจากนี้ เคมีภัณฑ์ ปรับสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์สูงขึ้นเนื่องจากรัฐบาลจีนสามารถลดกำลังการผลิตได้ตามเป้าหมาย หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นจากราคายางพาราและกุ้งแช่เย็น แช่แข็ง เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากปัญหาภัยธรรมชาติและผลพวงจากโรคระบาดของกุ้งที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้า หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นจากน้ำตาลทรายตามผลผลิตโลกที่ลดลง และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เนื่องจากไทยประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบอาหารทะเลและหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิงสูงขึ้นจากราคาน้ำมันสำเร็จรูป ตามแนวโน้มราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น

ดัชนีราคานำเข้า เดือนพฤศจิกายน 2559 เท่ากับ 84.8 เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2558 (ปี 2555=100) ปรับสูงขึ้นร้อยละ 2.7 (YoY) ทั้งนี้ สินค้าสำคัญที่เป็นแรงหนุนให้ดัชนีราคานำเข้าปรับสูงขึ้น ได้แก่ หมวดสินค้าวัตถุดิบและ

กึ่งสำเร็จรูป เช่น ทองคำ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ตามทิศทางราคาในตลาดโลก หมวดสินค้าทุน เช่น เครื่องจักรกล เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ตามการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม หมวดสินค้าเชื้อเพลิง เช่น น้ำมันดิบ ปรับสูงขึ้นจากความพยายามลดกำลังการผลิตของประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคา หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง เช่น ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน

ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2559

ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าส่งออกในรูปของดัชนี โดยใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาส่งออกที่ผู้ส่งออกในประเทศไทยได้ส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ทั้งนี้ ราคาส่งออกที่สำรวจเป็นราคา F.O.B (Free On Broad) ครอบคลุม 4 หมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเกษตรกรรม หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร หมวดสินค้าอุตสาหกรรม และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 838 รายการ สรุปได้ดังนี้

1. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2559 เท่ากับ 96.9 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนตุลาคม 2559 เท่ากับ 96.9) โดยดัชนีราคาส่งออกเดือนพฤศจิกายน 2559 ในหมวดสินค้าเกษตรกรรม เท่ากับ 84.1 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร เท่ากับ 100.2 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เท่ากับ 98.8 และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง เท่ากับ 94.6

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2559 เมื่อเทียบกับ

2.1 เทียบกับเดือนตุลาคม 2559 (MoM) ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าส่งออกในหมวดสินค้าสำคัญ ดังนี้ หมวดสินค้าที่ราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ยางพารา เนื่องจากภาวะฝนตกชุกทำให้ผลผลิตยางลดลง ประกอบกับความต้องการใช้ยางเพื่อนำไปใช้ในผลิตยางล้อรถยนต์สูงขึ้น นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังราคาปรับสูงขึ้น เนื่องจากมีการผลักดันราคาของภาครัฐและมีการเปิดเวทีจับคู่ระหว่างผู้นำเข้าและ

ผู้ส่งออกของไทย สำหรับกุ้งสด แช่เย็นแช่แข็ง ราคายังปรับตัวในทิศทางที่ดี เนื่องจากไทยสามารถควบคุมปัญหาโรคกุ้งได้ ขณะที่คู่แข่งอย่างเวียดนามยังคงประสบปัญหาโรคกุ้งอยู่ อย่างไรก็ตาม หมวดสินค้าที่ราคาส่งออกปรับลดลง ได้แก่ หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง เช่น น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบ ตามแนวโน้มราคาน้ำมันตลาดโลกที่ลดลง ซึ่งสาเหตุหลักเป็นผลจากความกังวลต่อภาวะน้ำมันล้นตลาด และกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันอาจไม่บรรลุข้อตกลงในการลดกำลังการผลิต และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรที่ราคาลดลง ได้แก่ น้ำตาลทราย เนื่องจากปริมาณผลผลิตน้ำตาลในบราซิลเพิ่มขึ้น ประกอบกับนักลงทุนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับนโยบายทางการค้าของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ สำหรับหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีการเปลี่ยนแปลงในหมวดย่อยที่สำคัญ ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ราคาสูงขึ้นเนื่องจากรัฐบาลจีนสามารถควบคุมกำลังการผลิตเหล็กและถ่านหินได้ตามเป้าหมาย และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เนื่องจากตลาดยังมีความต้องการส่งมอบสินค้าอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ราคาทองคำปรับลดลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินเหรียญสหรัฐฯ และแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ

2.2 เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2558 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 1.7 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าส่งออกจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้ ดัชนีราคาส่งออกปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ยางพารา สินค้าประมง (กุ้ง ปลาหมึก ปลา) ผักและผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ น้ำตาลทราย อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผักและผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ทองคำ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง จากราคาน้ำมันสำเร็จรูปเป็นสำคัญ โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่ปรับสูงขึ้น เป็นผลจากปริมาณผลผลิตที่ลดลง ประกอบกับความต้องการสินค้าที่มีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาปรับสูงขึ้น นอกจากนี้ แนวโน้มการปรับขึ้นของราคาน้ำมันอาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้น

2.3 เทียบเฉลี่ยกับเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2558 (AoA) ลดลงร้อยละ 0.4 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้ หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป โดยสาเหตุที่สินค้าส่งออกสำคัญปรับลดลง ปัจจัยหลักเป็นผลจากปริมาณผลผลิตส่วนเกินที่ล้นตลาด ราคาน้ำมันตลาดโลกที่อยู่ในระดับต่ำในช่วงก่อนหน้า และความต้องการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ เป็นต้น ขณะที่

หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ น้ำตาลทราย อาหารทะเลแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป จากปริมาณผลผลิตที่ลดลงและความต้องการยังมีอย่างต่อเนื่อง

ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2559

ดัชนีราคานำเข้าของประเทศ แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้านำเข้าที่ผู้นำเข้าในประเทศไทยได้จ่ายไปเพื่อนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ราคานำเข้าที่สำรวจเป็นราคา C.I.F. (Cost, Insurance และ Freight) ครอบคลุม 5 หมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเชื้อเพลิง หมวดสินค้าทุน หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 842 รายการ สรุปได้ดังนี้

1. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2559 เท่ากับ 84.8 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนตุลาคม 2559 เท่ากับ 85.5) โดยดัชนีราคานำเข้าเดือนพฤศจิกายน 2559 ในหมวดสินค้าเชื้อเพลิง เท่ากับ 50.1 หมวดสินค้าทุน เท่ากับ 99.8 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เท่ากับ 91.2 หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค เท่ากับ 99.1 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง เท่ากับ 92.5

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2559 เมื่อเทียบกับ

2.1 เทียบกับเดือนตุลาคม 2559 (MoM) ลดลงร้อยละ 0.8 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้ หมวดสินค้าที่ปรับลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป เนื่องจากตลาดมีความกังวลต่อมาตรการลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตน้ำมันกลุ่มโอเปคที่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เนื่องจากการแข็งค่าของเงินเหรียญสหรัฐฯ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ ทองคำ เนื่องจากผลพวงของผลการเลือกตั้งและแนวนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯทำให้ตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้น และเป็นแรงกดดันให้เงินเหรียญสหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งผลให้การถือครองทองคำไม่น่าสนใจ นอกจากนี้ ยังมีเคมีภัณฑ์ ปรับลดลงตามทิศทางของราคาน้ำมัน และแผงวงจรไฟฟ้า หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ ยารักษาโรค เป็นต้น

2.2 เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2558 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 2.7 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้ หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เช่น ทองคำ ตามการอ่อนค่าของเงินเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน กอปรกับเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน ทำให้เกิดความต้องการทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เนื่องจากจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ปรับลดกำลังการผลิตลง หมวดสินค้าทุน เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ตามการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ทำให้มีความต้องการใช้เครื่องจักรกลหนักมากขึ้น หมวดสินค้าเชื้อเพลิง เช่น น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ตามสถานการณ์ราคาตลาดโลก หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง เช่น ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน

2.3 เทียบเฉลี่ยกับเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2558 (AoA) ลดลงร้อยละ 3.4 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้ หมวดสินค้าที่ราคานำเข้าปรับลดลง ได้แก่ หมวดสินค้าเชื้อเพลิงโดยมีสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง เช่น น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม น้ำมันสำเร็จรูป และถ่านหิน หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ สินแร่โลหะ และปุ๋ย โดยในภาพรวมของราคาสินค้านำเข้าที่สำคัญ ยังคงเคลื่อนไหวตามสถานการณ์ราคาในตลาดโลกที่ได้รับแรงกดดันจากปัญหาภาวะอุปทานส่วนเกิน อาทิ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ขณะที่หมวดสินค้านำเข้าที่ดัชนีปรับสูงขึ้น ได้แก่ หมวดสินค้าทุน เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบ หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง เช่น ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ผัก ผลไม้ และของปรุงแต่งที่ทำจากผักและผลไม้

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ