ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในไตรมาสที่ 4/2559 มีแนวโน้มดีขึ้น แต่มีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และอุปสงค์ในประเทศ
ดัชนี Q3/56 Q4/56 Q1/57 Q2/57 Q3/57 Q4/57 Q1/58 Q2/58 Q3/58 Q4/58 Q1/59 Q2/59 Q3/59 สถานการณ์ปัจจุบัน (Q/Q) 39.5 43.3 38.0 43.0 46.1 44.1 42.0 39.0 37.1 42.9 42.6 42.8 41.6 คาดการณ์ไตรมาสถัดไป (NQ) 56.8 55.2 49.2 61.4 64.5 60.7 54.8 51.6 53.9 57.5 51.2 55.5 57.5
ผลการสำรวจภาวะธุรกิจไตรมาส 3 ปี 2559 ในช่วงเดือนกันยายน 2559 จากผู้ประกอบการจำนวน 1,870 ราย พบว่า ดัชนีภาวะธุรกิจ มีค่า 41.6 ต่ำกว่าไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งมีค่า 42.8 ค่าดัชนีต่ำกว่าระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการยังไม่มีความเชื่อมั่น เนื่องจากมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน อุปสงค์ในประเทศยังไม่ฟื้นตัว จากราคาสินค้าเกษตรยังคงหดตัว ทำให้รายได้เกษตรกรอยู่ในระดับต่ำ
ขณะที่ ดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจ 3 เดือนข้างหน้า มีค่า 57.5 และคาดการณ์ปี 2560 มีค่า 65.6 ซึ่งมีค่าสูงกว่าที่ระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในไตรมาส 4/2559 และ ปี 2560 มีทิศทางที่ดี จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล การใช้จ่ายภาครัฐผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การบริโภคเริ่มฟื้นตัว และการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง
เมื่อพิจารณาจากผู้ประกอบการรายสาขา พบว่า สาขาก่อสร้าง การเงินและประกันภัย และบริการ มีความเห็นว่าภาวะธุรกิจมีทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่ สาขาเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม มีการปรับลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจซบเซา ต้นทุนและการแข่งขันสูง การบริโภคของประชาชนยังไม่ฟื้นตัว และภาวะน้ำท่วมส่งผลต่อภาคการเกษตร รวมทั้ง สินค้าเกษตรราคาตกต่ำ
สำหรับการคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการทุกสาขามีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ สังเกตได้จาก ค่าดัชนีสูงกว่า 50 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความคาดหวังว่าเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า มีทิศทางที่ดี
ภาวะธุรกิจรายภาคต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน พบว่า ในทุกภาค ดัชนีมีค่าต่ำกว่าระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ กำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่กระเตื้องขึ้น ต้นทุนและการแข่งขันสูง
สำหรับการคาดการณ์อีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ในเกือบทุกภาคยกเว้นภาคกลาง และตะวันออก ที่มีความเชื่อมั่นลดลง แต่ค่าดัชนียังสูงกว่า 50
ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการ
1. ภาวะธุรกิจซบเซา ต้นทุนและการแข่งขันสูง
2. ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เกษตรกรรายได้ลดลง
3. ธนาคารเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ทำให้ธุรกิจขาดสภาพคล่อง ภาคเอกชนชะลอการลงทุน
4. ผลประกอบการลดลง ผู้บริโภคขาดกำลังซื้อ
5. ผู้ผลิตผลิตสินค้าได้ แต่หาตลาดไม่ได้ โดยเฉพาะ SME
6. ขาดแคลนแรงงานและวัตถุดิบในการผลิต
1. หาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดสภาพคล่อง
2. แก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรแบบบูรณาการ ทั้งด้านการผลิตและตลาด
3. เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนขนาดใหญ่ให้มากขึ้น
4. ควบคุมราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค ที่จำเป็นต่อการครองชีพ
5. จัดสรรงบประมาณสำหรับชลประทานเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคการเกษตร
6. จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย เช่น งานธงฟ้า การจับคู่ธุรกิจ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้มากขึ้น
7. ควรส่งเสริมภาคเกษตรกรรมและการส่งออก เพื่อให้เกิดรายได้และมีการจับจ่ายใช้สอยให้มากขึ้น
8. รักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน
9. กระจายรายได้ให้ทั่วถึง แก้ปัญหาการว่างงาน รวมถึงสร้างงานให้เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย
10. โฆษณาประชาสัมพันธ์ธุรกิจท่องเที่ยวให้มากขึ้น ส่งเสริมให้คนไทยใช้ของไทย และท่องเที่ยวภายในประเทศ
11. หาตลาดใหม่ๆ ส่งเสริมการค้าชายแดน และรักษาความสงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้
12. ฝึกฝีมือแรงงานให้มีความอดทนและมีคุณภาพ อีกทั้ง ปรับโครงสร้างการศึกษาเพื่อรองรับความต้องการของธุรกิจ
13. ลดภาษีและอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
14. จัดอบรมผู้ประกอบการเกี่ยวกับการตลาด และโอกาสทางธุรกิจให้มากขึ้น
ที่มา: สำนักสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
โทร. 0 2507 5805 โทรสาร. 0 2507 5806 / 0 2507 5825
www.price.moc.go.th Email: gsurvey@moc.go.th