รายงานดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจไตรมาสที่ 1/2560 (มกราคม - มีนาคม 2560)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 7, 2017 14:24 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

รายงานดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจไตรมาสที่ 1/2560 (มกราคม - มีนาคม 2560)

ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในไตรมาสที่ 1/2560 มีแนวโน้มที่ดีแต่มีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ต้นทุน และกำลังซื้อ

ดัชนี                      Q4/56   Q1/57   Q2/57   Q3/57   Q4/57   Q1/58   Q2/58   Q3/58   Q4/58   Q1/59   Q2/59   Q3/59   Q4/59
สถานการณ์ปัจจุบัน (Q/Q)       43.3    38.0    43.0    46.1    44.1    42.0    39.0    37.1    42.9    42.6    42.8    41.6    44.0
คาดการณ์ไตรมาสถัดไป (NQ)    55.2    49.2    61.4    64.5    60.7    54.8    51.6    53.9    57.5    51.2    55.5    57.5    61.0

ผลการสำรวจภาวะธุรกิจไตรมาส 4 ปี 2559 ในช่วงเดือนธันวาคม 2559 จากผู้ประกอบการจำนวน 1,809 ราย พบว่า ดัชนีภาวะธุรกิจ มีค่า 44.0 สูงกว่าไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งมีค่า 41.6 ค่าดัชนีต่ำกว่าระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการยังไม่มีความเชื่อมั่น เนื่องจากมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ต้นทุนสูงขึ้น จากการปรับค่าจ้างแรงงาน ราคาน้ำมัน ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว การแข่งขันสูง ขาดกำลังซื้อ ทำให้ผลประกอบการลดลง

ขณะที่ ดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจ 3 เดือนข้างหน้า มีค่า 61.0 ซึ่งมีค่าสูงกว่าที่ระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในไตรมาส 1/2560 มีทิศทางที่ดี จากมาตรการของภาครัฐ ทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานราก ทำให้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวดีขึ้น อีกทั้งราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวดีขึ้น ทั้งยางพารา ปาล์มน้ำมัน และการส่งออกเริ่มฟื้นตัว

ผลสำรวจภาวะธุรกิจรายสาขา

เมื่อพิจารณาจากผู้ประกอบการรายสาขา พบว่า สาขาเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และก่อสร้าง มีความเห็นว่าภาวะธุรกิจมีทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่ สาขาการเงินและประกันภัย และบริการ มีการปรับลดลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ต้นทุนและการแข่งขันสูง ประชาชนขาดกำลังซื้อ จำนวนนักท่องเที่ยวหดตัวลง ส่งผลต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว

สำหรับการคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการทุกสาขามีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ สังเกตได้จาก ค่าดัชนีสูงกว่า 50 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความคาดหวังว่าเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า มีทิศทางที่ดี

ผลสำรวจภาวะธุรกิจรายภาค

ภาวะธุรกิจรายภาคต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน พบว่า ในเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคกลาง ดัชนีมีค่าต่ำกว่าระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ต้นทุนที่สูงขึ้นจากค่าแรง วัตถุดิบ น้ำมัน รวมถึงการแข่งขันสูง ประชาชนขาดกำลังซื้อ ส่งผลให้ผลประกอบการลดลง

สำหรับการคาดการณ์อีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ในเกือบทุกภาคยกเว้น ภาคเหนือ ที่มีความเชื่อมั่นลดลง แต่ค่าดัชนียังสูงกว่า 50

ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการ

ความคิดเห็น

1. เศรษฐกิจชะลอตัว การแข่งขันสูง ประชาชนขาดกำลังซื้อ รายได้ผู้ประกอบการลดลง

2. ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

3. ธนาคารเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทำให้ธุรกิจขาดสภาพคล่อง

4. ขาดแคลนแรงงาน

5. ผู้ประกอบการและนักลงทุนยังขาดความมั่นใจในสภาพเศรษฐกิจ

ข้อเสนอแนะ

1. ควรออกมาตรการเพื่อส่งเสริมการส่งออก

2. การใช้งบประมาณของภาครัฐ ควรก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

3. ควรส่งเสริมด้านกลยุทธ์ทางด้านการตลาด และจัดอบรมสัมมนาเพิ่มความรู้ในการดำเนินธุรกิจ

4. ควรเพิ่มงบลงทุนในโครงการสาธารณูปโภค โดยเฉพาะด้านคมนาคม ให้มีการลงทุนครอบคลุมทุกภูมิภาค

5. ส่งเสริมเกษตรกรให้ผลิตพืชผลที่มีคุณภาพมากกว่าปริมาณ

6. ควรเร่งฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา กระตุ้นเศรษฐกิจให้คนมีงานทำ และมีเงินหมุนเวียนมากขึ้น

7. ควรมีการปรับลดภาษี และอัตราดอกเบี้ยให้กับผู้ผลิต

8. ภาครัฐควรจัดงาน เพื่อให้ผู้ประกอบการนำสินค้ามาจำหน่ายโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

9. กระตุ้นการท่องเที่ยว และมีการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง

10. รักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน

11. ส่งเสริมอุตสาหกรรม และเพิ่มสิทธิลดหย่อนให้แก่ผู้ประกอบการ

12. ควรหาตลาดใหม่ ๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการขายสินค้าได้มากขึ้น

13. ควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ

14. แก้ไขปัญหาคอรัปชั่น

15. เปิดลงทะเบียนแรงงานต่างด้าว

ที่มา: สำนักสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

โทร. 0 2507 5805 โทรสาร. 0 2507 5806 / 0 2507 5825

www.price.moc.go.th Email: gsurvey@moc.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ