ดัชนีภาวะธุรกิจส่งออก (Export Business Index) ประจำเดือนตุลาคม (October 2016)
Highlights
ในภาพรวมดัชนีภาวะธุรกิจส่งออกในเดือนตุลาคม 2559 ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนที่ระดับ 48.6 มาอยู่ที่ระดับ 49.0 แสดงว่าผู้ส่งออกยังมองว่าภาวะการส่งออกมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยภาพรวมยังอยู่ในภาวะที่ชะลอตัว จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ส่งออก จำนวน 266 ราย และได้ผลดังนี้
ดัชนีมูลค่าส่งออก เดือนตุลาคม 2559 มีค่าเท่ากับ 50.8 แสดงว่า มูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มสูงขึ้นปัจจัยหลักเป็นผลมาจากภาคอุตสาหกรรมเร่งกำลังการผลิตสินค้าตามแผนกำลังการผลิตที่มากขึ้นสินค้าที่คาดว่าจะมีมูลค่าส่งออก เพิ่มขึ้นได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ อัญมณีและเครื่องประดับ รองเท้าและชิ้นส่วน เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ผักผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ไก่แช่เยือกแข็งและแปรรูป อาหารทะเลแช่เยือกแข็ง และอาหารสำเร็จรูป
ขณะที่สินค้าที่มีมูลค่าส่งออก ลดลงได้แก่ เคมีภัณฑ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ข้าว ยางพารา และเชื้อเพลิงและพลังงาน
ดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ เดือนตุลาคม 2559 มีค่าเท่ากับ 51.5 แสดงว่า คำสั่งซื้อใหม่มีแนวโน้มสูงขึ้นเนื่องจากจากความต้องการสั่งซื้อสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สินค้าที่มูลค่าคำสั่งซื้อใหม่ เพิ่มขึ้นได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ อัญมณีและเครื่องประดับ รองเท้าและชิ้นส่วน เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ผักผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ไก่แช่เยือกแข็งและแปรรูป อาหารทะเลแช่เยือกแข็ง อาหารสำเร็จรูป และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์
ขณะที่สินค้าที่มูลค่าคำสั่งซื้อใหม่ ลดลงได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ยานพาหนะ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ข้าว ยางพารา และเชื้อเพลิงและพลังงาน
ดัชนีการจ้างงาน เดือนตุลาคม 2559 มีค่าเท่ากับ 50.8 แสดงให้เห็นว่าทิศทางการจ้างงานของภาคการส่งออกมีแนวโน้ม เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยานพาหนะ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ รองเท้าและชิ้นส่วน เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และผักผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป
ดัชนีสินค้าคงคลังเดือนตุลาคม 2559 มีค่าเท่ากับ43.1 แสดงว่า สินค้าคงคลังมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมต้องเร่งระบายสินค้า เพื่อให้ทันกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่สินค้าคงคลังที่มีมูลค่า ลดลงได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ รองเท้าและชิ้นส่วน สิ่งทอ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ยางพารา อาหารทะเลแช่เยือกแข็ง และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์
ขณะที่มูลค่าสินค้าคงคลังที่ เพิ่มขึ้นได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไก่แช่เยือกแข็งและแปรรูป เชื้อเพลิงและพลังงาน และอาหารสำเร็จรูป
ปัญหาและข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการ
- อัตราแลกเปลี่ยนไม่มีเสถียรภาพ
- ขาดแคลนแรงงานทีมีฝีมือและไร้ฝีมือ
- ขาดแคลนวัตถุดิบทั้งในประเทศและต่างประเทศ
- การขนส่งสินค้าทางเรือล่าช้า เนื่องจากความหนาแน่นของท่าเรือขนส่ง
- สภาพคล่องทางการเงิน
- ความไม่แน่นอนของสภาพเศรษฐกิจ
ภาครัฐควรดำเนินการ ดังนี้
- รักษาค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ
- พัฒนาแรงงานให้เป็นแรงงานที่มีฝีมือ
สำนักสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์
โทร.0 2507 5799-80 โทรสาร 0 2507 5806, 0 2507 5825
www.price.moc.go.th Email: neworders@moc.go.th