รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมกราคม 2560

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 7, 2017 15:47 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมกราคม 2560

ความเชื่อมั่นฯ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากภาคการท่องเที่ยวและราคาสินค้าเกษตร

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมกราคม 2560 จากประชาชน สาขาอาชีพต่างๆ ทุกจังหวัด จำนวน 3,484 คน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯมีค่า 39.2 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2559 ที่มีค่า 39.1 โดยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และค่าดัชนี ความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) มีค่า 43.7 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเช่นกันเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่มีค่า 43.5 โดยมีปัจจัยบวกมาจากภาคการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่ ราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น กอปรกับรัฐบาลพยายามเร่งรัดเบิกจ่ายงบลงทุน เพื่อผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ อีกทั้ง การคลายตัวของหนี้ภาคครัวเรือนจากนโยบายรถยนต์คันแรก ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันมีค่า 32.4 ปรับลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่มีค่า 32.6 โดยค่าดัชนีทุกรายการยังอยู่ต่ำกว่าที่ระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในระดับต่ำ และความไม่แน่นอนด้านนโยบายเศรษฐกิจ การเงินและการเมืองของสหรัฐอเมริกา ยุโรปและจีน รวมถึงผลกระทบจากน้ำท่วมพื้นที่ภาคใต้ ส่งผลให้โรงเรียน โรงพยาบาล ถนนและพื้นที่เพาะปลูกข้าว ยางพาราและปาล์ม ได้รับความเสียหายซึ่งหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ร่วมมือกันช่วยเหลือ ฟื้นฟูและเยียวยาเพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

ทั้งนี้ ความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 50.3 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา และเป็นครั้งแรกในรอบ 22 เดือน (นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558) ที่ค่าดัชนีฯกลับมาสูงกว่าที่ระดับ 50 เป็นการส่งสัญญาณว่าผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นฯต่อรายได้ในอนาคต ซึ่งมีปัจจัยบวกมาจากการปรับขึ้นค่าจ้างค่าแรงขั้นต่ำและราคาสินค้าเกษตรบางรายการปรับตัวดีขึ้น แต่ทั้งนี้ ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพ และภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ส่งผลให้ การวางแผนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ/รถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า ยังอยู่ในระดับที่ยังไม่มีความเชื่อมั่นและระมัดระวังการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ ตัวเลขการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็นในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 54.3 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาที่ระดับ 54.2 สะท้อนให้เห็นว่าการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคมีแนวโน้มคงตัวและอยู่ในระดับที่มีความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index)

รายการ               ก.ค. 59   ส.ค. 59   ก.ย. 59   ต.ค. 59   พ.ย. 59   ธ.ค. 59   ม.ค. 60
ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม      33.8      38.9      36.2      36.4      35.7      39.1      39.2

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค  (Consumer Confidence Index)
รายการ                            ก.ค. 59   ส.ค. 59   ก.ย. 59   ต.ค. 59   พ.ย. 59   ธ.ค. 59   ม.ค. 60
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน      27.3      33.8      29.7      29.4      28.4      32.6      32.4
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต      38.0      42.2      40.5      41.1      40.6      43.5      43.7

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                        ก.ค. 59   ส.ค. 59   ก.ย. 59   ต.ค. 59   พ.ย. 59   ธ.ค. 59   ม.ค. 60
รายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)      44.2      46.8      44.5      46.5      46.4      49.7      50.3

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                                    ก.ค. 59   ส.ค. 59   ก.ย. 59   ต.ค. 59   พ.ย. 59   ธ.ค. 59   ม.ค. 60
โอกาสในการหางานทำในปัจจุบัน                     21.4      28.6      24.0      24.0      22.9      25.7      24.5
โอกาสในการหางานทำในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)      26.1      32.3      31.0      29.2      28.1      29.5      29.7

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                                   ก.ค. 59   ส.ค. 59   ก.ย. 59   ต.ค. 59   พ.ย. 59   ธ.ค. 59   ม.ค. 60
การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบัน         52.8      52.5      52.9      54.9       4.2      54.2      54.3
การวางแผนที่จะซื้อรถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า          13.0      15.5      14.0      12.4      12.0      12.6      14.2
การวางแผนที่จะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าคงทน        19.6      23.2      20.8      18.4      18.0      19.0      20.1
ต่างๆ(ยกเว้นบ้านและรถยนต์) ใน 6 เดือนข้างหน้า

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค

เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมกราคม 2560 ภาคที่ปรับเพิ่มขึ้น ดังนี้ ภาคเหนือ จาก 39.1 เป็น 40.7 ภาคตะวันออก จาก 37.4 เป็น 41.4 และภาคใต้ จาก 31.6 เป็น 32.7 และภาคที่ปรับลดลง คือ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 42.6 เป็น 40.6 ภาคกลาง จาก 42.2 เป็น 40.5 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 39.4 เป็น 39.2 แต่ทั้งนี้ค่าดัชนีในทุกภาคยังอยู่ระดับต่ำกว่า 50 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจ ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขังต่อเนื่องจากเดือนธันวาคม ที่ผ่านมา แม้ว่าสถานการณ์บางพื้นที่จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วก็ตาม แต่พื้นที่ลุ่มต่ำหลายแห่งยังต้องประสบปัญหาน้ำท่วมขัง ถนนขาด บ้านเรือน โรงเรียน โรงพยาบาลและพื้นที่การเกษตร ได้รับความเสียหายซึ่งประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ได้เร่งให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟูและเยียวยา เพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวภาคใต้

บทสะท้อนจากข้อคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่างๆ

ด้านเศรษฐกิจ

1. ดูแลปัญหาค่าครองชีพ

2. ส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวและนักลงทุน

3. เร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ ให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้

4. ดูแลราคาสินค้าเกษตรไม่ให้ตกต่ำ พร้อมให้การช่วยเหลือ/เยียวยาพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ในพื้นที่ภาคใต้

5. ออกมาตรการภาษีกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศและการจับจ่ายใช้สอย

ด้านสังคม

1. ป้องกันปราบปรามการทุจริตและคอรัปชั่น มีมาตรการเด็ดขาดต่อผู้กระทำผิด

2. เร่งปราบปรามปัญหายาเสพติด รวมทั้ง สอดส่องดูแลในพื้นที่การศึกษาให้มากขึ้น

3. แก้ไขปัญหาความไม่สงบและลดความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

4. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กระจายความเจริญไปยังส่วนภูมิภาค เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

5. ตั้งกองทุน/หาแนวทางเพื่อช่วยเหลือภาคแรงงานไทยที่มีรายได้ต่ำ

6. แก้ไขปัญหาความยากจน หนี้นอกระบบ/หนี้ภาคครัวเรือน และความเหลื่อมล้ำในสังคม

7. ให้ความรู้แก่เกษตรกร สนับสนุนการเพาะปลูกและบำรุงดินด้วยวิถีธรรมชาติ วางแผนพื้นที่การเพาะปลูกเพื่อลดปัญหาสินค้าล้นตลาด รวมทั้ง หาตลาดรองรับผลผลิต หรือแหล่งจำหน่ายที่ง่ายต่อการเข้าถึงผู้บริโภค

8. ส่งเสริม/พัฒนาสินค้า OTOP ให้มีเอกลักษณ์โดดเด่นเพื่อออกสู่ตลาดต่างประเทศ

9. ต้องการให้รัฐบาลเข้าใจปัญหาเชิงลึก และศึกษาผลกระทบก่อนนำมาตรการต่างๆมาใช้จริง

10. เร่งฟื้นฟู/เยียวยา ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขัง

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ