รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2560

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 1, 2017 16:04 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ 2560

ความเชื่อมั่นฯ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้น

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2560 จากประชาชน สาขาอาชีพต่างๆ ทุกจังหวัด จำนวน 3,476 คน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯมีค่า 40.4 ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2560 ที่มีค่า 39.2 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันมีค่า 34.2 ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาที่มีค่า 32.4 อีกทั้ง ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) มีค่า 44.5 ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกันเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่มีค่า 43.7 โดยมีปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจโลกส่งสัญญาณการฟื้นตัว มีผลให้ภาคการส่งออกของไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง หากแต่ยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ จากนโยบายด้านการค้าและการเมืองของสหรัฐอเมริกาและยุโรป การปรับตัวดีขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะราคาข้าวและยางพารา เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น การบริโภคภาคครัวเรือนมีแนวโน้มที่ดีขึ้น รวมทั้ง สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ทั้งนี้ค่าดัชนีทุกรายการยังอยู่ต่ำกว่าที่ระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากประชาชนเริ่มมีความกังวลต่อปัญหาภัยแล้ง หนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง และความเสี่ยงต่างๆจากภัยธรรมชาติ ทั้งนี้กรมชลประทาน ได้วางแผนการจัดสรรน้ำเพื่อใช้ในช่วงฤดูแล้งเพื่อป์องกันและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

ทั้งนี้ ความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 51.2 ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่ระดับ 50.3 โดยปรับตัวสูงกว่าที่ระดับ 50 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ซึ่งเป็นผลบวกจากภาคการส่งออกและราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้น แต่ทั้งนี้ยังมีปัจจัยลบจากปัญหาโครงสร้างแรงงานของไทยที่ไม่สมดุลกับตลาดแรงงาน อีกทั้ง ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพ และภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ส่งผลให้การวางแผนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ์าต่างๆ/รถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า ยังอยู่ในระดับที่ยังไม่มีความเชื่อมั่นและระมัดระวังการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ ตัวเลขการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็นในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 52.1 ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาที่ระดับ 54.3 แต่ยังมีค่าดัชนีฯสูงกว่าที่ระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคยังมีแนวโน้มคงตัวและอยู่ในระดับที่มีความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index)

รายการ               ส.ค. 59   ก.ย. 59   ต.ค. 59   พ.ย. 59   ธ.ค. 59   ม.ค. 60   ก.พ. 60
ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม      38.9      36.2      36.4      35.7      39.1      39.2      40.4

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค  (Consumer Confidence Index)
รายการ                            ส.ค. 59   ก.ย. 59   ต.ค. 59   พ.ย. 59   ธ.ค. 59   ม.ค. 60   ก.พ. 60
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน      33.8      29.7      29.4      28.4      32.6      32.4      34.2
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต      42.2      40.5      41.1      40.6      43.5      43.7      44.5

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                        ส.ค. 59   ก.ย. 59   ต.ค. 59   พ.ย. 59   ธ.ค. 59   ม.ค. 60   ก.พ. 60
รายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)      46.8      44.5      46.5      46.4      49.7      50.3      51.2

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                                    ส.ค. 59   ก.ย. 59   ต.ค. 59   พ.ย. 59   ธ.ค. 59   ม.ค. 60   ก.พ. 60
โอกาสในการหางานทำในปัจจุบัน                     28.6      24.0      24.0      22.9      25.7      24.5      26.5
โอกาสในการหางานทำในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)      32.3      31.0      29.2      28.1      29.5      29.7      30.4

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                                   ส.ค. 59   ก.ย. 59   ต.ค. 59   พ.ย. 59   ธ.ค. 59   ม.ค. 60   ก.พ. 60
การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบัน         52.5      52.9      54.9      54.2      54.2      54.3      52.1
การวางแผนที่จะซื้อรถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า          15.5      14.0      12.4      12.0      12.6      14.2      13.0
การวางแผนที่จะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าคงทน        23.2      20.8      18.4      18.0      19.0      20.1      18.6
ต่างๆ(ยกเว้นบ้านและรถยนต์) ใน 6 เดือนข้างหน้า

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค

เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ภาคที่ปรับเพิ่มขึ้น ดังนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 39.2 เป็น 42.0 และภาคใต้ จาก 32.7 เป็น 40.8 และภาคที่ปรับลดลง คือ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 40.6 เป็น 39.8 ภาคกลาง จาก 40.5 เป็น 39.9 ภาคเหนือ จาก 40.7 เป็น 39.1 และภาคตะวันออก จาก 41.4 เป็น 40.9 แต่ทั้งนี้ค่าดัชนีในทุกภาคยังอยู่ระดับต่ำกว่า 50 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากมีความกังวลต่อปัญหาภัยแล้ง ปัญหาปากท้องและหนี้ครัวเรือน แม้ว่าราคาสินค้าเกษตรจะปรับตัวดีขึ้น เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องนำไปชำระหนี้ที่สะสมมานาน บ่งชี้ให้เห็นว่ารายได้ที่แท้จริงของเกษตรกรยังไม่ฟื้นตัวและมีความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติต่างๆ ทั้งนี้ น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ รวมทั้ง รัฐบาลได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

บทสะท้อนจากข้อคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่างๆ

ด้านเศรษฐกิจ

1. ดูแลปัญหาค่าครองชีพ โดยเฉพาะปากท้องของประชาชนผู้ที่มีรายได้น้อย

2. สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน กระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐ เร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ

ด้านสังคม

1. ป์องกันปราบปรามขบวนการทุจริตและคอรัปชั่น ตรวจสอบความโปร่งใสอย่างเป็นระบบ

2. เร่งปราบปรามปัญหายาเสพติดและการพนัน โดยเฉพาะแหล่งชุมชน เพื่อลดปัญหาอาชญกรรม

3. สร้างภาพลักษณ์ที่ดีของเจ้าบ้าน มีมาตรฐานความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว

4. แก้ไขปัญหาความไม่สงบและลดความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

5. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กระจายความเจริญไปยังส่วนภูมิภาค เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

6. ตั้งกองทุน/หาแนวทางเพื่อช่วยเหลือภาคแรงงานไทยที่มีรายได้ต่ำ

7. แก้ไขปัญหาความยากจน หนี้นอกระบบ/หนี้ภาคครัวเรือน และความเหลื่อมล้ำในสังคม

8. หาตลาดกลางเพื่อการซื้อขายสินค้าเกษตรด้วยราคาที่เป็นธรรม

9. พัฒนาทักษะและฝีมือแรงงานให้มีศักยภาพและสามารถต่อยอดการทำงาน เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

10. ลดการใช้ประชานิยมที่ไม่จำเป็น ส่งเสริมให้คนในชาติมีความขยันอดทนมากขึ้น

11. บริหารจัดการน้ำเพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาภัยแล้ง

12. ส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชนรูปแบบเกษตรอินทรีย์ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับคนในท้องถิ่น

13. จัดการปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ โดยเพิ่มโทษกับผู้ที่บุกรุก ตัดไม้ทำลายป่า

14. แก้ปัญหาหนี้เรื้อรังให้กับเกษตรกร ให้ความรู้แก่เกษตรกรเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำเกษตร ให้สามารถพึ่งพาตนเอง ลดการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลง

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ