ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ เดือน มีนาคม 2560

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 7, 2017 14:40 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนมีนาคม ปี 2560 เท่ากับร้อยละ 0.76 (YoY) ทิศทางการปรับลดของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดทอนแรงกดดันเงินเฟ้อภายในประเทศ ประกอบกับราคาอาหารสดประเภทผักและผลไม้สดยังคงลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ สาเหตุมาจากอุปทานส่วนเกินของผักและผลไม้บางชนิดในช่วงฤดูกาล

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อในปี 2560 มีแนวโน้มขยายตัวและช่วยรักษาเสถียรภาพภายในประเทศ โดยมีช่วงประมาณการร้อยละ 1.5 - 2.2

ระดับราคาสินค้าและบริการ ในเดือนมีนาคม 2560 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อัตราร้อยละ -0.46 (MoM) ผลจากน้ำมันเชื้อเพลิง ผักและผลไม้สด ไข่ไก่ ข้าวสารเจ้า ปลาและสัตว์น้ำ โดยมีภาวะความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าดังนี้

น้ำมันเชื้อเพลิง ราคาลดลงร้อยละ -3.20 (MoM) สำหรับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศทุกประเภท โดยมีการปรับลดลงราคาขายปลีกจำนวน 4 ครั้งในเดือนที่ผ่านมา

ผักและผลไม้สด ราคาลดลงร้อยละ -3.97 (MoM) อาทิ มะเขือ กระเทียม ผักคะน้า ผักบุ้ง มะม่วง ฝรั่ง ส้มเขียวหวาน เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อผลผลิต และเป็นฤดูกาลผลผลิตในบางชนิด

ปลาและสัตว์น้ำ ราคาลดลงร้อยละ -0.34 (MoM) อาทิ ปลาทู ปลานิล ปลาช่อน และปลาแดง

ไข่ไก่ และเนื้อสุกร ราคาลดลงร้อยละ -3.26 (MoM) และร้อยละ -0.88 (MoM) ตามลำดับเนื่องจากมีปริมาณสะสมในท้องตลาดมาก ขณะที่ความต้องการบริโภคอ่อนตัวลง

สำหรับอัตราเงินเฟ้อในรอบ 12 เดือน ขยายตัวน้อยกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2560 อยู่ที่ร้อยละ 0.76 (YoY) โดยได้รับอิทธิพลจากปัจจัยราคาน้ำมันดิบในต่างประเทศที่ระดับราคาสูงขึ้นจากปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าแรงกดดันเงินเฟ้อจากราคาพลังงานน้ำมันเริ่มลดลง เช่นเดียวกับอิทธิพลจากการปรับลดราคาค่ากระแสไฟฟ้าที่อยู่ในระดับทรงตัว ในส่วนของสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์นั้น ระดับราคาสินค้าค่อนข้างทรงตัว มีเพียงสินค้าบางชนิดที่ความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าเป็นผลกระทบจากอุปทานส่วนเกินในตลาด อาทิ เนื้อสุกร ไข่ไก่

อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยไตรมาส 1/2560 (ม.ค.-มี.ค. 2560) สูงขึ้นร้อยละ 1.25 (AoA) จากราคาที่ปรับสูงขึ้น 1) ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ 2) กลุ่มอาหารสดที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ผลไม้สด ปลาและสัตว์น้ำ ไก่สด ไข่ไก่ 3) เครื่องประกอบอาหาร และอาหารสำเร็จรูป สินค้ามีราคาลดลง ได้แก่ หมวดเคหสถาน จากค่ากระแสไฟฟ้า รวมทั้งอาหารประเภทข้าวสารเจ้า เนื้อสุกร และผักสด

กระทรวงพาณิชย์ ประมาณการอัตราเงินเฟ้อปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 - 2.2 โดยมีสมมติฐานหลักคือ

1) GDP ขยายตัวร้อยละ 3.0 - 4.0 เศรษฐกิจปี 2560 ขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2559 โดยมีปัจจัยสนับสนุน อาทิ การใช้จ่ายภาครัฐ การใช้จ่ายครัวเรือน ผลจากรายได้จากการส่งออกและรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้น การลงทุนภาคเอกชนสูงขึ้นจากนโยบายการเงินที่ผ่อนปรน และการส่งเสริมนักลงทุนรายย่อยตามแนวทางประชารัฐ

2) ราคาน้ำมันดิบดูไบ อยู่ในช่วง 50 - 60 ดอลล่าร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล มีแนวโน้มสูงขึ้นจากการควบคุมกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปค ขณะที่คาดว่าความต้องการน้ำมันดิบทั่วโลกในปี 2560 สูงขึ้น 1.3 ล้านบาร์เรล/วัน ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างค่อยเป็นค่อยไป

3) อัตราแลกเปลี่ยน อยู่ในช่วง 35.5-37.5 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ ตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ เดือนธันวาคม 2559 และคาดว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปี 2560 ขณะที่ธนาคารกลางอื่นๆ ยังตรึงอัตราดอกเบี้ยส่งผลให้เงินดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่นๆ

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมีนาคม 2560

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าและบริการที่ครัวเรือนใช้สอยครอบคลุม

หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ มีจำนวนรายการสินค้าปีฐาน 2558 ทั้งหมด 422 รายการ

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมีนาคม 2560 สรุปได้ดังนี้ คือ

1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมีนาคม 2560 (ปี 2558 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100) มีค่าเท่ากับ 100.33 (เดือนกุมภาพันธ์ 2560 เท่ากับ 100.79)

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมีนาคม 2560 เมื่อเทียบกับระยะเวลา การเปลี่ยนแปลง ร้อยละ

2.1 เดือนกุมภาพันธ์ 2560 (MoM) ลดลง -0.46

2.2 เดือนมีนาคม 2559 (YoY) สูงขึ้น +0.76

2.3 เฉลี่ย 3 เดือน 2560 (AoA) (มกราคม - มีนาคม 2559) สูงขึ้น +1.25

โดยมีรายละเอียดดังนี้

2.1 เทียบเดือนกุมภาพันธ์ 2560 (MoM) ลดลง ร้อยละ -0.46 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 1

อัตราเงินเฟ้อเดือนมีนาคม 2560 ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2560 (MoM) ร้อยละ -0.46 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร ลดลง ร้อยละ -1.03 (ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท ลดลง ร้อยละ -3.20) หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ -0.62 ได้แก่ ข้าวสารเจ้า ไก่สด ปลาและสัตว์น้ำ ผักและผลไม้สด ขณะที่ หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์และหมวดเคหสถาน ราคาสูงขึ้น ร้อยละ 0.01 จากราคาสุรา ค่าเช่าบ้านในพื้นที่กทม. ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษา ราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.07 (เครื่องถวายพระ อาหารสัตว์เลี้ยง) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ 0.14 (เสื้อเชิ้ตสตรี ค่าจ้างซักรีด กางเกงขายาวบุรุษ) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ร้อยละ 0.15 (ผ้าอนามัย ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว)

2.2 เทียบเดือนมีนาคม 2559 (YoY) สูงขึ้น ร้อยละ 0.76 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 2

อัตราเงินเฟ้อเดือนมีนาคม 2560 สูงขึ้นจากเดือนมีนาคม 2559 (YoY) ร้อยละ 0.76 ได้รับผลกระทบจากหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ 3.30 (น้ำมันเชื้อเพลิง อาทิ น้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์91 95 แก๊สโซฮอล์E20 และน้ำมันเบนซิน 95) หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.68 (กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวราดแกง ไก่สด ปลาและสัตว์น้ำ) หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์สูงขึ้น สูงขึ้นร้อยละ 0.45 หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา สูงขึ้นร้อยละ 0.56 (ค่าเล่าเรียน-ค่าธรรมเนียมประถมศึกษาภาคเอกชน ค่าลงทะเบียน-ค่าธรรมเนียมอุดมศึกษาเอกชน) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.44 (แชมพูสระผม ยาสีฟัน ค่าแต่งผม) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.12 ขณะที่หมวดเคหสถานราคาลดลงร้อยละ -1.19 (ค่ากระแสไฟฟ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผลิตภัณฑ์ซักผ้า)

2.3 เดือนมกราคม - มีนาคม 2560 (AoA) เทียบกับเดือนมกราคม - มีนาคม 2559 สูงขึ้น ร้อยละ 1.25 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 3

อัตราเงินเฟ้อในไตรมาสแรก (เดือนม.ค.-มี.ค.60/เดือนม.ค.-มี.ค.59) สูงขึ้นร้อยละ 1.25 (AoA) ได้รับอิทธิพลมาจากการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการในหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ราคาสูงขึ้นมากที่สุดร้อยละ 5.49 หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ร้อยละ 4.53 (น้ำมันเชื้อเพลิง อาทิ เบนซิน95 แก๊สโซฮอล์ 91 95 และก๊าชยานพาหนะ (LPG)) หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ราคาสูงขึ้นร้อยละ 1.07 หมวดบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา ราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.51 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.35 และหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าราคาปรับสูงขึ้น ร้อยละ 0.11 ในขณะที่ราคาสินค้าและบริการในหมวดเคหสถาน ลดลงร้อยละ -1.21 (ค่ากระแสไฟฟ้า)

3. คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2560 กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2560 อยู่ระหว่าง ร้อยละ 1.5 - 2.2 ต่อปี โดยมีสมมติฐานหลักคือช่วงประมาณการ

1. การขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศไทย (%) 3.50 (3.0 - 4.0) การใช้จ่ายภาครัฐที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสะท้อนจากการทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม วงเงิน 190,000 ล้านบาท และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคม ที่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2560 การบริโภคภาคเอกชนที่แนวโน้มขยายตัว ต่อเนื่องตามรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก การเร่งใช้จ่ายในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ และรายได้จากการส่งออก ที่เริ่มกลับมาขยายตัวได้ดีจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ช่วยกระตุ้นการผลิต นอกจากนี้ นโยบายการเงินที่ผ่อนปรนและการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมให้แก่ธุรกิจรายย่อยตามแนวประชารัฐจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชนให้ขยายตัวในปี 2560

2. ราคาน้ำมันดิบดูไบ (USD/Barrel) 55.0 (50.0 - 60.0) ราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 2560 อุปสงค์และอุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลกจะมีความสมดุลมากขึ้น ผลจากการควบคุมกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปค ขณะที่ความต้องการน้ำมันดิบทั่วโลกในปี 2560 มีแนวโน้มสูงขึ้น 1.3 ล้านบาร์เรล/วัน ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตาม ตลาดยังเผชิญกับความเสี่ยงของการปรับเพิ่มขึ้นของปริมาณการผลิตในไนจีเรียและลิเบีย รวมถึงผู้ผลิตกลุ่มโอเปคอาจปรับลดกำลังการผลิตได้น้อยกว่าข้อตกลง

3. อัตราแลกเปลี่ยน (บาท/ USD) 36.5 (35.5 - 37.5) อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่า ตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในเดือนธันวาคม 2559 และคาดว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปี 2560 ขณะที่ธนาคารกลางอื่นๆ ยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดียวกับปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐ มีแนวโน้มแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่นๆ ทั้งนี้ ยังคงต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ และการดำเนินนโยบายที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ ในเดือนมีนาคม 2560 อัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 34.92 บาทต่อดอลลาร์ (ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 30 มีนาคม 2560) และราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยเดือนมีนาคม 2560 อยู่ที่ 51.10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 29 มีนาคม 2560)

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0-2507-5850 โทรสาร. 0-2507-5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ