รายงานดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือน มีนาคม 2560

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 7, 2017 14:45 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงราคาในรูปของดัชนี เพื่อใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าที่ผู้ผลิตได้รับ ครอบคลุม 3 หมวด คือ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จากการสำรวจและประมวลผลราคาสินค้าที่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ผลิตจำหน่ายทั่วประเทศ มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 596 รายการ สรุปผลได้ดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนมีนาคม 2560 ปี 2553 ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนมีนาคม 2560 เท่ากับ 103.0 (เดือนกุมภาพันธ์ 2560 เท่ากับ 103.7)

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ เดือนมีนาคม 2560 เมื่อเทียบกับ

2.1 เดือนกุมภาพันธ์ 2560 (MoM) ลดลงร้อยละ 0.7 โดยหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 2.7 สินค้าสำคัญ ที่ราคาลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือก (ข้าวนาปรัง ข้าวเปลือกเหนียว) เนื่องจากเป็นช่วงผลผลิตฤดูกาลข้าวนาปรังและความต้องการข้าวในตลาดโลกยังมีไม่มากนักผู้ประกอบการส่งออกชะลอการรับซื้อ ผลปาล์มสด เป็นช่วงผลผลิตกำลังออกสู่ตลาด ยางพารา (น้ำยางข้น ยางแผ่นดิบ เศษยาง) จากผู้ประกอบการในประเทศชะลอการรับซื้อเนื่องจากมีปริมาณยางในสต็อกเพียงพอ แต่อย่างไรก็ตามคาดว่ามีแนวโน้มราคาที่สูงขึ้นเนื่องจากเป็นช่วงปิดหน้ายางส่งผลให้อุปทานยางในตลาดมีน้อยเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาอยู่ในเกณฑ์ดี หัวมันสำปะหลังสด เป็นช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ประกอบกับราคาส่งออกมันเส้นอยู่ในเกณฑ์ต่ำ พืชผัก (มะเขือ กะหล่ำปลี ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักกาดหอม ถั่วฝักยาว ผักขึ้นฉ่าย) พริกไทยเม็ด ขิง ผลไม้ (กล้วยหอม สับปะรดบริโภค มะพร้าวอ่อน ส้มโอ ลำไย) สภาพอากาศที่เอื้ออำนวยการเจริญเติบโต สุกรมีชีวิต ไข่ไก่ และไข่เป็ด ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ขณะที่ความต้องการบริโภคเริ่มชะลอตัวลงแนวโน้มราคาค่อนข้างทรงตัวปรับลงไม่มากนัก สำหรับกลุ่มสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ อ้อย ดอกกล้วยไม้ ดอกกุหลาบ ไก่มีชีวิต กุ้งแวนนาไม และปลาหมึกกล้วย ผลผลิตออกสู่ตลาดไม่มากนัก ราคาเคลื่อนไหวช่วงแคบๆ หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 0.5 โดยการลดลงของ 3 กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ดังนี้ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่มและยาสูบ ได้แก่ เนื้อสุกร สับปะรดกระป๋อง น้ำมันปาล์มดิบ กากถั่วเหลือง น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว มันเส้น มันอัดเม็ด น้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันก๊าด เป็นไปตามภาวะตลาดโลก กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน และยางแท่ง สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ ไก่สด รำข้าวขาว ไม้ยางพารา เยื่อกระดาษ กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี (เอทีลีน โพรพีลีน เบนซีน ไซลีน) เม็ดพลาสติก และลวดแรงดึงสูง สำหรับหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.7 สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติเหลว ตามภาวะตลาดโลก

2.2 เดือนมีนาคม 2559 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 2.6 โดยราคาสินค้าสำคัญที่ส่งผลให้ดัชนีสูงขึ้นได้แก่ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 5.3 ตามการสูงขึ้นของราคากลุ่มผลผลิตการเกษตรร้อยละ 6.2 และกลุ่มสินค้าปลาและสัตว์น้ำร้อยละ 9.4 หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 3.8 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้ากลุ่มลิกไนต์ ปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ ร้อยละ 3.8 แร่โลหะและแร่อื่นๆ ร้อยละ 3.5 และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.2 จากการสูงขึ้นของราคาสิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ร้อยละ 0.4 ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ร้อยละ 1.1 เยื่อกกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษ ร้อยละ 0.2 ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ร้อยละ 27.7 เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ร้อยละ 3.7 ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ร้อยละ 11.0 โลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์โลหะ ร้อยละ 1.3 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์ ร้อยละ 0.2

2.3 เทียบเฉลี่ยเดือน ม.ค.-มี.ค. ปี 2560 กับระยะเดียวกันปี 2559 สูงขึ้นร้อยละ 3.2 โดยสินค้าสำคัญที่ส่งผลให้ดัชนีราคาสูงขึ้น ได้แก่ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 6.9 ตามการสูงขึ้นของราคากลุ่มสินค้าผลผลิตการเกษตร ร้อยละ 8.5 และกลุ่มปลาและสัตว์น้ำร้อยละ 8.9 หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 3.3 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้ากลุ่มลิกไนต์ ปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ ร้อยละ 3.2 แร่โลหะและแร่อื่นๆ ร้อยละ 3.9 และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.7 จากการสูงขึ้นของราคาสิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ร้อยละ 0.3 ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ร้อยละ 0.9 ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ร้อยละ 31.7 เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เคมี ร้อยละ 3.1 ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ร้อยละ 14.0 โลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์โลหะ ร้อยละ 1.1 ยานพาหนะและอุปกรณ์ ร้อยละ 0.2 และสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ ร้อยละ 0.8

ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงราคาในรูปของดัชนี เพื่อใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าที่ผู้ผลิตได้รับ ครอบคลุม 3 หมวด คือ หมวดสินค้าสำเร็จรูป หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และหมวดสินค้าวัตถุดิบ จากการสำรวจและประมวลผลราคาสินค้าที่เกษตรกร ผู้ประกอบการและผู้ผลิตจำหน่ายทั่วประเทศ มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 596 รายการ สรุปผลได้ดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศชุดแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) เดือนมีนาคม 2560 ในปี 2553 ดัชนีราคาหมวดสินค้าสำเร็จรูป หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และหมวดสินค้าวัตถุดิบ เท่ากับ 100 สำหรับเดือนมีนาคม 2560 ดัชนีราคาเท่ากับ 103.9 , 102.3 , 99.1 ตามลำดับ

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศชุดแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP) เดือนมีนาคม 2560 เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2560 หมวดสินค้าสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 0.3 หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) ลดลงร้อยละ 0.8 และหมวดสินค้าวัตถุดิบ ลดลงร้อยละ 2.6

3. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศชุดแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) เดือนมีนาคม 2560 เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2559 หมวดสินค้าสำเร็จรูป โดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) สูงขึ้นร้อยละ 7.3 และหมวดสินค้าวัตถุดิบ สูงขึ้นร้อยละ 7.6

4. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศชุดแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) เฉลี่ยเดือนมกราคม – มีนาคม 2560 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 หมวดสินค้าสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 0.5 หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) สูงขึ้นร้อยละ 8.0 และหมวดสินค้าวัตถุดิบ สูงขึ้นร้อยละ 8.9

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2507 5808 โทรสาร. 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ