ดัชนีราคาส่งออก เดือนมีนาคม 2560 เทียบกับเดือนมีนาคม 2559 สูงขึ้นร้อยละ 3.3 (YoY) เป็นการปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องทุกหมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สินค้าเกษตรกรรม สินค้าอุตสาหกรรม และสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าโลกปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการจากตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
ดัชนีราคานำเข้า เดือนมีนาคม 2560 เทียบกับเดือนมีนาคม 2559 ปรับสูงขึ้นร้อยละ 7.0 (YoY) โดยเป็นการปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเชื้อเพลิง หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป หมวดสินค้าทุน หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งนี้ ราคาสินค้านำเข้าสำคัญที่ปรับสูงขึ้น อาทิ น้ำมันดิบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เนื่องจากปัญหาอุปทานส่วนเกินในตลาดโลกเริ่มคลี่คลาย
ดัชนีราคาส่งออก เดือนมีนาคม 2560 มีค่าเท่ากับ 96.0 เทียบกับเดือนมีนาคม 2559 (ปี 2555=100) สูงขึ้นร้อยละ 3.3 (YoY) เป็นการปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นจากราคาน้ำมันสำเร็จรูป ตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นจากยางพารา กุ้งสดแช่เย็น แช่แข็ง ไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง ผักและผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เช่น เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เนื่องจากเป็นสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สูงขึ้นตามความต้องการตลาดที่มีอย่างต่อเนื่อง และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ตามราคาเหล็กตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากจีนปรับลดกำลังการผลิตลง และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรสูงขึ้นจากน้ำตาลทรายตามผลผลิตโลกที่ลดลงจากปัญหาภาวะภัยแล้ง และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เนื่องจากไทยประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบประเภทอาหารทะเล ประกอบกับการส่งออกอาหารทะเลขยายตัวเพิ่มขึ้น
ดัชนีราคานำเข้า เดือนมีนาคม 2560 เท่ากับ 86.8 เทียบกับเดือนมีนาคม 2559 (ปี 2555=100) ปรับสูงขึ้นร้อยละ 7.0 (YoY) สินค้าสำคัญที่เป็นแรงหนุนให้ดัชนีราคานำเข้าปรับสูงขึ้น ได้แก่ หมวดสินค้าเชื้อเพลิงเป็นหลัก จากน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป เนื่องจากประเทศผู้ผลิตน้ำมัน โดยเฉพาะกลุ่มโอเปคได้ปรับลดกำลังการผลิตลงตามข้อตกลงอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขภาวะอุปทานที่ล้นตลาด หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ และสินแร่โลหะ หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรกล เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เป็นต้น
ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าส่งออกในรูปของดัชนี โดยใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาส่งออกที่ผู้ส่งออกในประเทศไทยได้ส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ทั้งนี้ ราคาส่งออกที่สำรวจเป็นราคา F.O.B (Free On Broad) ครอบคลุม 4 หมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเกษตรกรรม หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร หมวดสินค้าอุตสาหกรรม และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 764 รายการ สรุปได้ดังนี้
1. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนมีนาคม 2560 เท่ากับ 96.0 (ปีฐาน 2555 =100) (เดือนกุมภาพันธ์ 2560 เท่ากับ 96.0) โดยดัชนีราคาส่งออกเดือนมีนาคม 2560 ในหมวดสินค้าเกษตรกรรม เท่ากับ 88.9 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร เท่ากับ 104.7 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เท่ากับ 99.1 และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง เท่ากับ 64.5
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนมีนาคม 2560 เมื่อเทียบกับ
2.1 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2560 (MoM) ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าส่งออกจำแนกตามรายหมวดสินค้า ดังนี้
หมวดสินค้าที่ราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ยางพารา เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง สำหรับข้าว เนื่องจากรัฐบาลมีแนวโน้มเร่งระบายข้าวออกสู่ตลาดมากขึ้น และพัฒนาข้าวคุณภาพสูงเพื่อยกระดับราคาสินค้าไทย นอกจากนี้ ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง ราคาสูงขึ้นเนื่องจากไทยสามารถควบคุมปัญหาโรคไข้หวัดนกได้เป็นผลสำเร็จ ขณะที่ประเทศคู่แข่งอย่างสหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้ยังประสบปัญหาโรคไข้หวัดนก ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง เนื่องจากปัญหาภัยแล้งทำให้ผักและผลไม้ออกสู่ตลาดลดลง ราคาจึงปรับตัวสูงขึ้น และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ น้ำตาลทราย เนื่องจากเกิดปัญหาภาวะภัยแล้ง ทำให้แนวโน้มราคาน้ำตาลทรายดิบปรับตัวสูงขึ้น อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ราคาปรับสูงขึ้นเนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบประเภทอาหารทะเล ประกอบกับไทยได้ใบเหลืองจากสหภาพยุโรป จึงทำให้สามารถส่งออกอาหารทะเลไปสหภาพยุโรปได้เพิ่มขึ้น ขณะที่หมวดสินค้าที่ราคาส่งออกปรับตัวลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบ ตามแนวโน้มราคาน้ำมันตลาดโลกที่ลดลง สาเหตุหลักเป็นผลจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ประกอบกับปริมาณการผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก เนื่องจากเป็นสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันที่ราคาปรับตัวลดลง นอกจากนี้ ราคาทองคำลดลงเนื่องจากได้รับปัจจัยกดดันจากการแข็งค่าของเงินเหรียญสหรัฐฯ จากการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในกลางเดือนมีนาคม นักลงทุนจึงลดความสนใจในทองคำลง
2.2 เทียบกับเดือนมีนาคม 2559 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 3.3 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าส่งออกจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้
ดัชนีราคาส่งออกปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ยางพารา ผักและผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็งและแห้ง สินค้าประมง (กุ้ง ปลาหมึก ปลา) สินค้าปศุสัตว์ (ไก่) หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ น้ำตาลทราย อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผักและผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป อาหารสัตว์เลี้ยง และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง จากราคาน้ำมันสำเร็จรูปเป็นหลัก ภาพรวมของราคาสินค้าส่งออกสำคัญที่ปรับสูงขึ้น เป็นผลจากปริมาณผลผลิตที่ลดลง ประกอบกับความต้องการสินค้าที่มีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาปรับสูงขึ้น นอกจากนี้ แนวโน้มการปรับขึ้นของราคาน้ำมันเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้น
2.3 เทียบเฉลี่ยกับเดือนมกราคม-มีนาคม 2560 (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 3.7 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้
ดัชนีราคาส่งออกปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ยางพารา กุ้งสดแช่เย็น แช่แข็ง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ผักและผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้งหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ น้ำตาลทราย อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผักและผลไม้กระป๋องและแปรรูป ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์พลาสติก ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ทองคำ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป โดยสาเหตุที่สินค้าส่งออกสำคัญปรับสูงขึ้น ปัจจัยหลักเป็นผลจากปริมาณผลผลิตที่ลดลง ประกอบกับราคาน้ำมันตลาดโลกมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น และเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้ความต้องการสินค้าจากต่างประเทศมีอย่างต่อเนื่อง
ดัชนีราคานำเข้าของประเทศ แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้านำเข้าที่ผู้นำเข้าในประเทศไทยได้จ่ายไปเพื่อนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ราคานำเข้าที่สำรวจเป็นราคา C.I.F. (Cost, Insurance และ Freight) ครอบคลุม 5 หมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเชื้อเพลิง หมวดสินค้าทุน หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 775 รายการ สรุปได้ดังนี้
1. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนมีนาคม 2560 เท่ากับ 86.8 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนกุมภาพันธ์ 2560 เท่ากับ 87.0) โดยดัชนีราคานำเข้าเดือนมีนาคม 2560 ในหมวดสินค้าเชื้อเพลิง เท่ากับ 56.9 หมวดสินค้าทุน เท่ากับ 99.7 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เท่ากับ 92.1 หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค เท่ากับ 99.7 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง เท่ากับ 91.4
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนมีนาคม 2560 เมื่อเทียบกับ
2.1 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2560 (MoM) ลดลงร้อยละ 0.2 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้
หมวดสินค้าที่ปรับลดลงคือ หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม เนื่องจากปริมาณการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ระดับราคายังคงได้รับแรงหนุนจากผู้ผลิตน้ำมันกลุ่มโอเปคที่สามารถปรับลดกำลังการผลิตลงตามข้อตกลงได้ ขณะที่หมวดสินค้าที่ปรับสูงขึ้นคือ หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม นอกจากนี้ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ดัชนีราคานำเข้าไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ ทองคำ ปุ๋ย และเคมีภัณฑ์ ขณะที่สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สินแร่โลหะอื่นๆ เป็นต้น
2.2 เทียบกับเดือนมีนาคม 2559 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 7.0 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้
ดัชนีราคานำเข้าปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น เนื่องจากปัญหาอุปทานส่วนเกินของน้ำมันในตลาดโลกเริ่มคลี่คลาย หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ สินแร่โลหะอื่นๆ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช แผงวงจรไฟฟ้า สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ตามการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ทำให้ความต้องการใช้เครื่องจักรกลหนักเพิ่มขึ้น และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เป็นต้น
2.3 เทียบเฉลี่ยกับเดือนมกราคม-มีนาคม 2559 (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 8.0 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้
ดัชนีราคานำเข้าปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ถ่านหิน และเชื้อเพลิงอื่นๆ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช สินแร่โลหะอื่นๆ ทองคำ และแผงวงจรไฟฟ้า หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และการทดสอบ และผลิตภัณฑ์โลหะ หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เป็นต้น
ทั้งนี้ ภาพรวมของราคาสินค้านำเข้าที่สำคัญ ที่ปรับตัวสูงขึ้นมาจากปัจจัยการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าในตลาดโลก โดยสินค้าที่เคยได้รับแรงกดดันจากปัญหาภาวะอุปทานส่วนเกิน อาทิ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เริ่มปรับราคาสูงขึ้นจากภาวะอุปทานล้นตลาดที่เริ่มคลี่คลายลง
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825