รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมีนาคม 2560

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 31, 2017 15:42 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมีนาคม 2560

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมีนาคม 2560 จากประชาชน สาขาอาชีพต่างๆ ทุกจังหวัด จำนวน 3,499 คน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯมีค่า 38.5 ปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ที่มีค่า 40.4 และค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันมีค่า 31.8 ปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาที่มีค่า 34.2 รวมทั้ง ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) มีค่า 43.0 ปรับลดลงเช่นกันเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่มีค่า 44.5 ทั้งนี้ ค่าดัชนีฯทุกรายการปรับตัวลดลงและอยู่ต่ำกว่าที่ระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มการฟื้นตัว แต่ยังมีความผันผวนจากปัจจัยต่างๆรอบด้านปัญหาภัยแล้งที่เริ่มส่งผลกระทบต่อประชาชนในหลายพื้นที่ ภาคการส่งออกที่โครงสร้างการผลิตไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก ภาคเอกชนชะลอการลงทุนเพิ่ม จากการที่ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายและออมเงินเพื่อท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์ ทั้งนี้ แม้ว่ารายได้เกษตรกรจะปรับตัวดีขึ้น แต่รายได้ที่แท้จริงหลังหักการชำระหนี้ ยังคงไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย ส่วนปัจจัยบวกได้รับอานิสงค์จากภาคการท่องเที่ยวที่มีการขยายตัวต่อเนื่อง การลงทุนของภาครัฐผ่านโครงการต่างๆ มาตรการช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อยที่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศให้มีเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น

ทั้งนี้ ความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 50.0 ปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่ระดับ 51.2 จากภาวะภัยแล้งที่ภาคการเกษตรเริ่มได้รับผลกระทบและคาดว่าผลผลิตทางการเกษตรจะได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมากหากไม่มีฝนตกในช่วงนี้ อีกทั้งการที่ภาคเอกชนชะลอการลงทุนส่งผลให้รายได้ภาคแรงงานไม่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นภายใต้ภาระค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น รวมทั้ง หนี้ครัวเรือนที่คงตัวในระดับสูง ส่งผลให้การวางแผนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ/รถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า ยังอยู่ในระดับที่ยังไม่มีความเชื่อมั่นและระมัดระวังการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ ตัวเลขการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็นในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 49.9 ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาที่ระดับ 52.1 และยังเป็นการปรับตัวลดลงต่ำกว่าที่ระดับ 50 เป็นครั้งแรก สะท้อนให้เห็นว่าการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคเริ่มเข้าสู่ระดับที่ประชาชนไม่มีความเชื่อมั่นเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือน

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index)

รายการ                                    ก.ย. 59   ต.ค. 59   พ.ย. 59   ธ.ค. 59   ม.ค. 60   ก.พ. 60   มี.ค. 60
ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม                           36.2      36.4      35.7      39.1      39.2      40.4      38.5

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค  (Consumer Confidence Index)
รายการ                                    ก.ย. 59   ต.ค. 59   พ.ย. 59   ธ.ค. 59   ม.ค. 60   ก.พ. 60   มี.ค. 60
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน              29.7      29.4      28.4      32.6      32.4      34.2      31.8
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต              40.5      41.1      40.6      43.5      43.7      44.5      43.0

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                                    ก.ย. 59   ต.ค. 59   พ.ย. 59   ธ.ค. 59   ม.ค. 60   ก.พ. 60  มี.ค. 60
รายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)                  44.5      46.5      46.4      49.7      50.3      51.2     50.0

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                                    ก.ย. 59   ต.ค. 59   พ.ย. 59   ธ.ค. 59   ม.ค. 60   ก.พ. 60  มี.ค. 60
โอกาสในการหางานทำในปัจจุบัน                     24.0      24.0      22.9      25.7      24.5      26.5     24.6
โอกาสในการหางานทำในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)      31.0      29.2      28.1      29.5      29.7      30.4     28.9

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                                    ก.ย. 59   ต.ค. 59   พ.ย. 59   ธ.ค. 59   ม.ค. 60   ก.พ. 60  มี.ค. 60
การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบัน          52.9      54.9      54.2      54.2      54.3      52.1     49.9
การวางแผนที่จะซื้อรถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า           14.0      12.4      12.0      12.6      14.2      13.0     13.8
การวางแผนที่จะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าคงทน         20.8      18.4      18.0      19.0      20.1      18.6     19.5
ต่างๆ(ยกเว้นบ้านและรถยนต์) ใน 6 เดือนข้างหน้า

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค

เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมีนาคม 2560 ของทุกภาคได้ปรับตัวลดลง ดังนี้ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 39.8 เป็น 37.0 ภาคกลาง จาก 39.9 เป็น 39.3 ภาคเหนือ จาก 39.1 เป็น 37.5 ภาคตะวันออก จาก 40.9 เป็น 38.2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 42.0 เป็น 40.1 และภาคใต้ จาก 40.8 เป็น 39.0 และทุกภาคยังมีค่าดัชนีฯอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจาก ภัยแล้งเริ่มส่งผลกระทบชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะเกษตรกรรมในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ปัญหาหนี้ครัวเรือนสะสม หลายจังหวัดในภาคเหนือได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองหมอกควัน ที่เกิดจากการเผาป่า ภาคการค้าและการท่องเที่ยวในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติค่าเงินริงกิตมาเลเซียที่ตกต่ำรุนแรงในรอบ 30 ปี อีกทั้ง เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

บทสะท้อนจากข้อคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่างๆ

ด้านเศรษฐกิจ

1. ดูแลปัญหาปากท้องของประชาชน ปัญหาความยากจน หนี้นอกระบบ/หนี้ภาคครัวเรือน

2. กระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ สร้างความมั่นใจให้นักลงทุนสนับสนุนให้เพิ่มการลงทุนมากขึ้น

3. ประชาชนมีรายได้ลดลง รายจ่ายสูงขึ้น เกิดปัญหาหนี้สินสะสมในภาคครัวเรือนต่อเนื่อง

4. ต้องการให้ภาครัฐ ส่งเสริมและหาตลาดเพื่อจำหน่ายสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย มีตลาดรองรับในระยะยาว

5. ยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และวางมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว

6. เร่งรัดโครงการลงทุนต่างๆให้สำเร็จตามเป้าหมายและแผนที่กำหนด

7. สร้างสมดุลระหว่างโครงสร้างแรงงานและตลาดแรงงาน

8. ต้องการให้รัฐบาลจัดหาแหล่ง/ทำเลเพื่อจำหน่ายสินค้า ในลักษณะที่คล้ายกับตลาดคลองผดุงกรุงเกษม

ด้านสังคม

1. ขจัดการทุจริตและคอรัปชั่นให้หมดไป ให้ทุกหน่วยงานใช้งบประมาณด้วยความรอบคอบและเกิดประโยชน์สูงสุด

2. ปราบปรามปัญหายาเสพติดและการพนัน สร้างชุมชนให้เข้มแข็งเพื่อลดปัญหาอาชญากรรม

3. แก้ไขปัญหาความไม่สงบและลดความรุนแรงในพื้นที่

3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 4.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กระจายความเจริญไปยังส่วนภูมิภาค เพื่อลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำ

5. บริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและลดความสูญเสียต่างๆ

6. ช่วยเหลือคนจนในพื้นที่ชนบท ให้มีแหล่งเพาะปลูกทำกิน

7. แก้ไขปัญหาให้ตรงจุด รับฟังปัญหาและความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ พร้อมลงพื้นที่สำรวจปัญหาที่แท้จริง

8. ส่งเสริมการเรียนรู้การทำการเกษตรและการวางแผนชีวิตจากวิถีของปราชญ์ชาวบ้าน

9. ส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกพืชผลไม้เกษตรอินทรีย์ เพื่อให้ผู้บริโภคและเกษตรกรมีสุขภาพที่ดี

10. พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในทุกระดับ จากพื้นฐานการศึกษาที่เข้มแข็ง

11. เตรียมพร้อมรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ ที่กำลังจะส่งกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงของประเทศ

ที่มา: กองสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์

โทรศัพท์ 02-5076554 โทรสาร 02-5075806

http://www.price.moc.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ