อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนพฤษภาคมปี 2560 เท่ากับร้อยละ -0.04 (YoY) จากสินค้ากลุ่มอาหารสดเป็นหลัก ซึ่งยังคงได้รับผลกระทบฐานสูงจากภาวะภัยแล้งในปีก่อนโดยเฉพาะ ผักสด และเนื้อสัตว์ แม้ว่าสถานการณ์อุปทานส่วนเกินไข่ไก่ และเนื้อสุกรเริ่มคลี่คลายลง อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้ากลุ่มพลังงานอาทิ น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซหุงต้ม ค่ากระแสไฟฟ้า ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นตามภาวะตลาดโลก
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อ ปี2560 ยังคงขยายตัวในระดับที่มีเสถียรภาพ และมีช่วงประมาณการร้อยละ 1.5 - 2.2
ระดับราคาสินค้าและบริการ ในเดือนพฤษภาคม 2560 สูงขึ้นร้อยละ 0.15 จากเดือนก่อนหน้า (MoM) ผลจากอาหารสด (ผักสด เนื้อสัตว์ และผลไม้) ค่ากระแสไฟฟ้า และค่าการศึกษา-ค่าเล่าเรียนโดยมีภาวะความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าสำคัญดังนี้
ผักสด ราคาสูงขึ้นร้อยละ 3.31 (MoM) อาทิ มะนาว ผักชี มะเขือเทศ ผักกาดขาว ผักคะน้า เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยจากสภาพอากาศร้อนในช่วงต้นเดือน
เนื้อสุกร ราคาสูงขึ้นร้อยละ 2.01 (MoM) เนื่องจากสภาพอากาศร้อนเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของสุกร
ผลไม้สด ราคาสูงขึ้นร้อยละ 1.42 (MoM) อาทิ ทุเรียน เงาะ มังคุด ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูกาลผลิตที่เริ่มทยอยเข้าสู่ตลาด
ค่ากระแสไฟฟ้า จากการปรับอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ประจำเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2560 สูงขึ้น 12.52 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ราคาสูงขึ้นร้อยละ 3.85 (MoM)
ค่าการศึกษา-ค่าเล่าเรียน จากการเปิดภาคการศึกษาใหม่ปี 2560 ราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.36 (MoM)
น้ำมันเชื้อเพลิง ราคาลดลงร้อยละ -1.67 (MoM) สำหรับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ(แก๊สโซฮอล์ 91 95 E20 น้ำมันเบนซิน 95 น้ำมันดีเซล และ LPG) โดยมีการปรับลด
เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2559 อัตราเงินเฟ้อ เท่ากับร้อยละ -0.04 (YoY) โดยมีแรงฉุดรั้งจากราคาอาหารสด (ผักสด และผลไม้) จากภาวะภัยแล้งในปีก่อนที่ส่งผลให้ดัชนีราคาผักสด มีค่าสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 2559 อย่างไรก็ตาม ราคาอาหารสดมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ช่วยลดทอนผลกระทบสะสมของภัยแล้งในระยะที่เหลือของปี นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อ ทั่วไปยังคงเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับราคาพลังงานที่เคลื่อนไหวตามการปรับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและราคาขายปลีกในประเทศในระยะที่ผ่านมา อีกทั้งค่ากระแสไฟฟ้าจากผลการปรับอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ประจำเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2560
อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยเดือนม.ค. - พ.ค. 2560 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหน้า สูงขึ้นในอัตราร้อยละ 0.81 (AoA) โดยมีแนวโน้มขยายตัวตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และกำลังซื้อของครัวเรือนที่ปรับตัวดีขึ้นสะท้อนจากรายได้เกษตรกร และการผลิตภาคการเกษตรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
กระทรวงพาณิชย์ ประมาณการอัตราเงินเฟ้อปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 - 2.2 โดยมีสมมติฐานหลักคือ
1) GDP ขยายตัวร้อยละ 3.0 - 4.0 เศรษฐกิจปี 2560 ขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2559 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากรายได้จากการส่งออก และรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นตามราคาสินค้าเกษตร เป็นผลดีต่อเนื่องต่ออุปสงค์ภายในประเทศ อาทิ การใช้จ่ายภาคครัวเรือนและภาคเอกชน
2) ราคาน้ำมันดิบดูไบ อยู่ในช่วง 50 - 60 ดอลล่าร์สหรัฐฯต่อ อุปสงค์และอุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลกจะมีความสมดุลมากขึ้น โดยความต้องการน้ำมันดิบทั่วโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการควบคุมกำลังการผลิตของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ตลาดยังเผชิญกับความเสี่ยงจากการปฏิบัติตามข้อตกลงของผู้ผลิตกลุ่มโอเปค และการผลิตส่วนเกินในบางพื้นที่
3) อัตราแลกเปลี่ยน อยู่ในช่วง 35.5-37.5 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ จากแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ FED ที่คาดว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปี 2560
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนพฤษภาคม 2560
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าและบริการที่ครัวเรือนใช้สอยครอบคลุม หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ มีจำนวนรายการสินค้าปีฐาน 2558 ทั้งหมด 422 รายการ
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนพฤษภาคม 2560 สรุปได้ดังนี้ คือ
1.ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนพฤษภาคม 2560 (ปี 2558 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100) มีค่าเท่ากับ 100.64 (เดือนเมษายน 2560 เท่ากับ 100.49)
2.การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนพฤษภาคม 2560 เมื่อเทียบกับ
ระยะเวลา การเปลี่ยนแปลง ร้อยละ 2.1 เดือนเมษายน 2560 (MoM) สูงขึ้น +0.15 2.2 เดือนพฤษภาคม 2559 (YoY) ลดลง -0.04 2.3 เฉลี่ย 5 เดือน 2560 (AoA) (มกราคม - พฤษภาคม 2559) สูงขึ้น +0.81
โดยมีรายละเอียดดังนี้
2.1 เทียบเดือนเมษายน 2560 (MoM) สูงขึ้น ร้อยละ +0.15 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 1
อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2560 สูงขึ้นจากเดือนเมษายน 2560 (MoM) ร้อยละ +0.15 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากหมวดเคหะสถาน ร้อยละ 0.54 จากการปรับอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ประจำเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2560 สูงขึ้น 12.52 สตางค์ต่อหน่วย หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ +0.40 ได้แก่ ผักสด (มะนาว ผักชี มะเขือเทศ ผักกาดขาว หัวผักกาดขาว ผักคะน้า) ผลไม้ (ทุเรียน เงาะ มังคุด) หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษา ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ +0.07 (ค่าเล่าเรียนจากการเปิดภาคการศึกษาใหม่เดือนพฤษภาคม) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าดัชนีราคาสูงขึ้น ร้อยละ +0.04 (เครื่องแบบนักเรียน รองเท้า และค่าจ้างซักรีด) หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์สูงขึ้น ร้อยละ +0.03 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคลสูงขึ้น ร้อยละ +0.02 (ค่าตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ ค่าทำฟัน สบู่ถูตัว โฟมล้างหน้า) ขณะที่หมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร ดัชนีราคาลดลง ร้อยละ -0.51 (ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดลง ร้อยละ -1.67)
2.2 เทียบเดือนพฤษภาคม 2559 (YoY) ลดลง ร้อยละ -0.04 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวดแสดงได้ดัง ภาพที่ 2
อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2560 ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2559 (YoY) ร้อยละ -0.04 ได้รับผลกระทบจากหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ดัชนีลดลงร้อยละ -1.38 ( เนื้อสุกร ผักสด (พริกสด ถั่วฝักยาว มะนาว แตงกวา ผักคะน้า ต้นหอม) ข้าวสารเจ้า ไข่ไก่) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลงร้อยละ -0.01 (เสื้อผ้าเด็ก) ขณะที่ หมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ +1.26 (น้ำมันเชื้อเพลิง อาทิ น้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์91 95 แก๊สโซฮอล์E20 E85 และน้ำมันเบนซิน 95) รถยนต์) สินค้าหมวดเคหสถานสูงขึ้นร้อยละ +0.64 (ค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ค่าเช่าบ้าน ค่าคนรับใช้ น้ำยาล้างจาน ค่าบริการล้างแอร์) หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา สูงขึ้นร้อยละ +0.44 (ค่าการศึกษา-ค่าเล่าเรียน ค่าห้องพักโรงแรม ค่าทัศนาจรภายใน-ต่างประเทศ ค่าชมภาพยนตร์) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ +0.18 (แชมพูสระผม ยาสีฟัน สบู่ถูตัว ค่าตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ ค่าเจาะเลือด) ค่ายา (ยาแก้ไข้หวัด ยาบรรเทาปวดกล้ามเนื้อ ยาคุมกำเนิด) และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์สูงขึ้นร้อยละ +0.08
2.3 เดือนมกราคม - พฤษภาคม 2560 (AoA) เทียบกับเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2559 สูงขึ้น ร้อยละ +0.81 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 3
อัตราเงินเฟ้อในเฉลี่ยเดือนม.ค.- พ.ค.60 เทียบกับเดือนม.ค.-พ.ค.59) สูงขึ้นร้อยละ +0.81 (AoA) ได้รับอิทธิพลมาจากการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการในหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ร้อยละ +3.59 (น้ำมันเชื้อเพลิง อาทิ เบนซิน95 ดีเซล แก๊สโซฮอล์ 91 95 E20 E85) หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์สูงขึ้นร้อยละ +3.26 หมวดบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา สูงขึ้นร้อยละ +0.52 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ +0.32 และหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้นร้อยละ +0.31 หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าปรับสูงขึ้น ร้อยละ +0.06 ในขณะที่ราคาสินค้าและบริการในหมวดเคหสถาน ลดลงร้อยละ -0.83 (ค่ากระแสไฟฟ้า)
3. คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2560 กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2560 อยู่ระหว่าง ร้อยละ 1.5 - 2.2 ต่อปี โดยมีสมมติฐานหลักคือ
ช่วงประมาณการ
1. การขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศไทย (%)3.50 (3.0 - 4.0)
- รายได้จากการส่งออกที่มีทิศทางการขยายตัวอย่างชัดเจน จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า
- รายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก เป็นผลดีต่อเนื่องต่ออุปสงค์ภายในประเทศ อาทิ การใช้จ่ายภาคครัวเรือนและภาคเอกชน
2. ราคาน้ำมันดิบดูไบ (USD/Barrel) 55.0 (50.0 - 60.0) อุปสงค์และอุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลกมีความสมดุลมากขึ้น
- ความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
- ข้อตกลงการควบคุมกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน แม้ว่าจะมีความเสี่ยงจากสต๊อกน้ำมันส่วนเกินในบางพื้นที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้นน้อยกว่าคาดการณ์
3. อัตราแลกเปลี่ยน (บาท/ USD) 36.5 (35.5 - 37.5) อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าในปี 2560 โดยมีปัจจัยหลักจาก
- คาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯอีก 2 ครั้งในปี 2560
- ความชัดเจนของนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ ในเดือนพฤษภาคม 2560 อัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 34.47 บาทต่อดอลลาร์ และราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 50.41 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 30 พฤษภาคม 2560)
4. ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ
ปัจจัยสนับสนุน ปัจจัยเสี่ยง
อุปสงค์ภาคครัวเรือนเริ่มฟื้นตัวสอดคล้องกับการการผลิตและรายได้เกษตรกร ประกอบกับภาระหนี้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มลดลง ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของคู่ค้าสำคัญ ส่งผลกระทบต่อการส่งออก
รายได้จากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนทั้งทางด้านปริมาณและราคาราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น กระทบราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ
มาตรการภาครัฐสนับสนุนกำลังซื้อสำหรับครัวเรือนรายได้น้อยและการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2017 ความผันผวนของค่าเงินบาทส่งผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันของภาคการส่งออก และต้นทุนการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0-2507-5850 โทรสาร. 0-2507-5825