อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนเมษายนปี 2560 เท่ากับร้อยละ 0.38(YoY) จากปัจจัยสินค้ากลุ่มพลังงาน โดยมีการปรับขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศเฉลี่ยทุกประเภทสุทธิ 50 สตางค์ในเดือนที่ผ่านมาตามราคาน้ำมันดิบในต่างประเทศที่ทะยอยปรับสูงขึ้นจากปีก่อนหน้า อาหารสำเร็จรูปและค่าเช่าบ้าน อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมแล้วราคาสินค้าในกลุ่มอาหารยังเป็นปัจจัยฉุดรั้งอัตราเงินเฟ้อ ผลจากฐานสูงในปีก่อนหน้าจากภาวะภัยแล้ง ภาวะอุปทานส่วนเกินในอาหารสดบางชนิด อาทิ ไข่ไก่ รวมถึงค่ากระแสไฟฟ้าจากการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) ตั้งแต่ไตรมาส 1/2559 ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อ ปี2560 ยังคงขยายตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปอยู่ในระดับทีมีเสถียรภาพ โดยมีช่วงประมาณการร้อยละ 1.5 - 2.2
ระดับราคาสินค้าและบริการ ในเดือนเมษายน 2560 สูงขึ้นร้อยละ 0.16 จากเดือนก่อนหน้า (MoM) ผลจากน้ำมันเชื้อเพลิง ผักสด ข้าวสารเจ้า อาหารสำเร็จรูป โดยมีภาวะความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าดังนี้
น้ำมันเชื้อเพลิง ราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.63 (MoM) สำหรับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ (แก๊สโซฮอล์ 91 95 E20 น้ำมันเบนซิน 95) โดยมีการปรับขึ้นราคาสุทธิ 50 สตางค์
ผักสด ราคาสูงขึ้นร้อยละ 6.67 (MoM) อาทิ มะนาว มะเขือ ผักชี ผักกาดขาว ผักคะน้า ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว
ข้าวสารเจ้า ราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.57 (MoM) ผลจากการสิ้นสุดรายการส่งเสริมการขายของข้าวสารเจ้าทั่วไป 5 กิโลกรัม
อาหารสำเร็จรูป ราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.04 (MoM) โดยเฉพาะอาหารโทรสั่ง (Delivery) เนื่องจากสิ้นสุดรายการส่งเสริมการขายของพิซซ่า เดลิเวอรี่ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2560
เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2559 อัตราเงินเฟ้อ อยู่ที่ร้อยละ 0.38 (YoY) ปัจจัยหลักยังคงเป็นผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศตามราคาน้ำมันดิบที่ทะยอยปรับขึ้น อาหารสำเร็จรูป (ข้าวราดแกง และกับข้าวสำเร็จรูป) และการปรับขึ้นของราคาค่าเช่าบ้านในเขตภาคกลาง อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์นั้นมีแนวโน้มลดลงในภาพรวม สาเหตุจากสินค้าสำคัญ อาทิ ไข่ไก่ เนื้อสุกร และมะนาว ผลจากฐานราคาสูงในช่วงภาวะภัยแล้งในปีก่อนหน้า ส่งผลให้ผลไม้และและสัตว์เติบโตได้ช้า อุปทานในตลาดลดลง
อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยเดือนม.ค. - เม.ย. 2560 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหน้า สูงขึ้นในอัตราชะลอตัวที่ร้อยละ 1.03 (AoA)
กระทรวงพาณิชย์ ประมาณการอัตราเงินเฟ้อปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 - 2.2 โดยมีสมมติฐานหลักคือ
1) GDP ขยายตัวร้อยละ 3.0 - 4.0 เศรษฐกิจปี 2560 ขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2559 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากรายได้จากการส่งออกที่มีทิศทางการขยายตัวอย่างชัดเจน และรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นตามราคาสินค้าเกษตร เป็นผลดีต่อเนื่องต่ออุปสงค์ภายในประเทศ อาทิ การใช้จ่ายภาคครัวเรือนและภาคเอกชน นอกจากนี้ การการลงทุนภาคเอกชนสูงขึ้นจากนโยบายการเงินที่ผ่อนปรน และการส่งเสริมนักลงทุนรายย่อยตามแนวทางประชารัฐ
2) ราคาน้ำมันดิบดูไบ อยู่ในช่วง 50 - 60 ดอลล่าร์สหรัฐฯต่อ อุปสงค์และอุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลกจะมีความสมดุลมากขึ้น ผลจากการควบคุมกำลังการผลิต ขณะที่ความต้องการน้ำมันดิบทั่วโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ตลาดยังเผชิญกับความเสี่ยงจากการปฏิบัติตามข้อตกลงของผู้ผลิตกลุ่มโอเปคที่อาจก่อให้เกิดอุปทานส่วนเกินและส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับลดลง
3) อัตราแลกเปลี่ยน อยู่ในช่วง 35.5-37.5 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ ตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ เดือนธันวาคม 2559 และคาดว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปี 2560 ขณะที่ธนาคารกลางอื่นๆ ยังตรึงอัตราดอกเบี้ยส่งผลให้เงินดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่นๆ
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนเมษายน 2560
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าและบริการที่ครัวเรือนใช้สอยครอบคลุม
หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ มีจำนวนรายการสินค้าปีฐาน 2558 ทั้งหมด 422 รายการ
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนเมษายน 2560 สรุปได้ดังนี้ คือ
1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนเมษายน 2560 (ปี 2558 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100) มีค่าเท่ากับ 100.49 (เดือนมีนาคม 2560 เท่ากับ 100.33)
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนเมษายน 2560 เมื่อเทียบกับ
ระยะเวลา การเปลี่ยนแปลง ร้อยละ 2.1 เดือนมีนาคม 2560 (MoM) สูงขึ้น +0.16 2.2 เดือนเมษายน 2559 (YoY) สูงขึ้น +0.38 2.3 เฉลี่ย 4 เดือน 2560 (AoA) (มกราคม - เมษายน 2559) สูงขึ้น +1.03
โดยมีรายละเอียดดังนี้
2.1 เทียบเดือนมีนาคม 2560 (MoM) สูงขึ้น ร้อยละ +0.16 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 1
อัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายน 2560 สูงขึ้นจากเดือนมีนาคม 2560 (MoM) ร้อยละ +0.16 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจาก หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ +0.29 ได้แก่ มะนาว มะเขือ ผักชี ผักกาดขาว ผักคะน้า ข้าวสารเจ้า หมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้น ร้อยละ +0.20 (ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้น ร้อยละ +0.63) หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษา ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ +0.03 (ค่าทัศนาจรต่างประเทศ ค่าห้องพักโรงแรม และเครื่องรับโทรทัศน์) หมวดเคหสถาน ดัชนีราคาสูงขึ้น ร้อยละ +0.04 (ค่าเช่าบ้าน น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผงซักฟอก) ขณะที่ หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ดัชนีราคาลดลงร้อยละ -0.05 (สบู่ถูตัว โฟมล้างหน้า น้ำยาระงับกลิ่นกาย ผ้าอ้อมสำเร็จรูป(แพมเพิส)) และหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าดัชนีราคาลดลง ร้อยละ -0.06 (เสื้อยืดบุรุษ กางเกงขายาวบุรุษ เสื้อเชิ้ต)
2.2 เทียบเดือนเมษายน 2559 (YoY) สูงขึ้น ร้อยละ +0.38 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวดแสดงได้ดัง ภาพที่ 2
อัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายน 2560 สูงขึ้นจากเดือนเมษายน 2559 (YoY) ร้อยละ +0.38 ได้รับผลกระทบจากหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ +3.07 (รถยนต์ น้ำมันเชื้อเพลิง อาทิ น้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์91 95 แก๊สโซฮอล์E20 E85และน้ำมันเบนซิน 95) หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา สูงขึ้นร้อยละ +0.63 (ค่าเล่าเรียน-ค่าธรรมเนียมประถมศึกษาภาคเอกชน ค่าลงทะเบียน-ค่าธรรมเนียมอุดมศึกษาเอกชน) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ +0.39 (แชมพูสระผม ยาสีฟัน ครีมนวดผม แป้งทาผิวกาย น้ำหอม ค่าแต่งผมบุรุษ-สตรี) หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์สูงขึ้น สูงขึ้นร้อยละ +0.09 ขณะที่ราคาสินค้าหมวดเคหสถานลดลงร้อยละ -1.17 (ค่ากระแสไฟฟ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผลิตภัณฑ์ซักผ้า น้ำยาถูพื้น ปูนซีเมนต์) หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ -0.26 (กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวราดแกง กระเทียม ทุเรียน ปลาหมึกกล้วย) และหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลงร้อยละ -0.04
2.3 เดือนมกราคม - เมษายน 2560 (AoA) เทียบกับเดือนมกราคม - เมษายน 2559 สูงขึ้น ร้อยละ 1.03 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 3
อัตราเงินเฟ้อในเฉลี่ยเดือนม.ค.- เม.ย.60/เดือนม.ค.-เม.ย.59) สูงขึ้นร้อยละ +1.03 (AoA) ได้รับอิทธิพลมาจากการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการในหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ร้อยละ +4.17 (น้ำมันเชื้อเพลิง อาทิ เบนซิน95 ดีเซล แก๊สโซฮอล์ 91 95 E20 E85) หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ราคาสูงขึ้นร้อยละ +4.09 หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ราคาสูงขึ้นร้อยละ +0.74 หมวดบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา ราคาสูงขึ้นร้อยละ +0.54 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ราคาสูงขึ้นร้อยละ +0.37 และหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าราคาปรับสูงขึ้น ร้อยละ +0.07 ในขณะที่ราคาสินค้าและบริการในหมวดเคหสถาน ลดลงร้อยละ -1.19 (ค่ากระแสไฟฟ้า)
3. คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2560 กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2560 อยู่ระหว่าง ร้อยละ 1.5 - 2.2 ต่อปี โดยมีสมมติฐานหลักคือ
ช่วงประมาณการ
1. การขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศไทย (%) 3.50 (3.0 - 4.0) ปัจจัยสนับสนุนจากรายได้จากการส่งออกที่มีทิศทางการขยายตัวอย่างชัดเจน จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าและรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก เป็นผลดีต่อเนื่องต่ออุปสงค์ภายในประเทศ อาทิ การใช้จ่ายภาคครัวเรือนและภาคเอกชน นอกจากนี้ การลงทุนภาคเอกชนสูงขึ้นจากนโยบายการเงินที่ผ่อนปรน และการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมให้แก่ธุรกิจรายย่อยตามแนวประชารัฐจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชนให้ขยายตัวในปี 2560
2. ราคาน้ำมันดิบดูไบ (USD/Barrel) 55.0 (50.0 - 60.0) ราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 2560 อุปสงค์และอุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลกจะมีความสมดุลมากขึ้น ผลจากการควบคุมกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปค ขณะที่ความต้องการน้ำมันดิบทั่วโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างไรก็ตาม ตลาดยังเผชิญกับความเสี่ยงจากการปฏิบัติตามข้อตกลงของผู้ผลิตกลุ่มโอเปคที่อาจก่อให้เกิดอุปทานส่วนเกินและส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับลดลงในระยะสั้น
3. อัตราแลกเปลี่ยน (บาท/ USD) 36.5 (35.5 - 37.5) อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่า ตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในเดือนธันวาคม 2559 และคาดว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปี 2560 ขณะที่ธนาคารกลางอื่นๆ ยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดียวกับปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐ มีแนวโน้มแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่นๆ ทั้งนี้ ยังคงต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ และการดำเนินนโยบายที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ ในเดือนเมษายน 2560 อัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 34.44 บาทต่อดอลลาร์ และราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 52.45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 27 เมษายน 2560)
4. ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ
ปัจจัยสนับสนุน ปัจจัยเสี่ยง
อุปสงค์ภาคครัวเรือนเริ่มฟื้นตัวสอดคล้องกับการการผลิตและรายได้เกษตรกร ประกอบกับภาระหนี้ครัวเรือนที่ลดลงหลังจากหมดระยะเวลาการชำระมาตรการรถคันแรก ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของคู่ค้าสำคัญ ส่งผลกระทบต่อการส่งออก
รายได้จากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น กระทบราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ
มาตรการภาครัฐสนับสนุนกำลังซื้อสำหรับครัวเรือนรายได้น้อยและการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2017 เงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าส่งผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันของภาคการส่งออก และต้นทุนการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0-2507-5850 โทรสาร. 0-2507-5825