ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนมิถุนายน 2560 และระยะ 6 เดือนแรกของปี 2560

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 3, 2017 13:53 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ครึ่งปีแรก 2560 เท่ากับร้อยละ 0.67 เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก 2559 ที่ลดลงร้อยละ -0.09 แสดงถึงเสถียรภาพเศรษฐกิจดีกว่าปีที่แล้ว ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน 2560 เท่ากับร้อยละ -0.05 (YoY) จากราคาผักสดที่เริ่มโน้มสูงขึ้น เนื่องจากผักสดเสียหายจากอากาศแปรปรวน ขณะที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้น ในอัตราที่ชะลอตัวลงตามภาวะตลาดโลกจากความไม่แน่นอนในปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรียและลิเบีย รวมทั้งความขัดแย้งทางการเมืองในกลุ่มตะวันออกกลาง ทำให้ยังคงมีอุปทานส่วนเกินในตลาด

กระทรวงพาณิชย์ ปรับประเมิน อัตราเงินเฟ้อ ปี 2560 ลดลงอยู่ระหว่างร้อยละ 0.7 - 1.7 ( เดิม 1.5 - 2.2 ) เพื่อให้สะท้อนภาวะเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลัง 2560

ระดับราคาสินค้าและบริการ ในมิถุนายน 2560 สูงขึ้นร้อยละ 0.02 จากเดือนก่อนหน้า (MoM) ผลจากกลุ่มอาหารสด (ผักสด เนื้อสัตว์ ไข่) ค่าซื้อยานพาหนะ และค่าการศึกษา-ค่าเล่าเรียนโดยมีภาวะความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าสำคัญดังนี้

ผักสด ราคาสูงขึ้นร้อยละ 15.35 (MoM) เช่น ผักคะน้า ผักบุ้ง ผักกวางตุ้ง ผักชี จากฝนตกชุกในบางพื้นที่ ผักใบเน่าเสียง่าย

ไข่ ราคาสูงขึ้น ร้อยละ 1.94 ปริมาณผลผลิตลดลง เนื่องจากมาตรการปลดแม่พันธุ์ไก่ยืนกรงออกจากระบบก่อนกำหนด

ปลาและสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 0.08 ได้แก่ ปลาทู ปลาลัง ปลาหมึกกล้วย ปลาจาระเม็ดหอยแมลงภู่ กุ้งนาง เนื่องจากเป็นช่วงปิดอ่าวไทยเป็นเวลา 3 เดือนและเป็นช่วงมรสุม

ค่าโดยสารเรือด่วนเจ้าพระยา ปรับลดลง 0.50 - 1.00 บาท จากน้ำมันดีเซลปรับลดลง

ค่าของใช้ส่วนบุคคล ลดลงร้อยละ -0.03 เช่น สบู่ถูตัว น้ำยาระงับกลิ่นกาย น้ำยาบ้วนปาก

น้ำมันเชื้อเพลิง ราคาลดลงร้อยละ -3.20 (MoM) สำหรับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ (แก๊สโซฮอล์ 91 95 E20 น้ำมันเบนซิน 95 น้ำมันดีเซล และ LPG)

เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2559 อัตราเงินเฟ้อ เท่ากับร้อยละ -0.05 (YoY) จากราคาอาหารสดมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง รวมทั้งทิศทางของการสูงขึ้นของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง ตามความเคลื่อนไหวของน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้น และการปรับค่ากระแสไฟฟ้าอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ประจำเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2560

อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยเดือนม.ค. - มิ.ย. 2560 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหน้า สูงขึ้นในอัตราร้อยละ 0.67 (AoA) โดยมีแนวโน้มขยายตัวตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และกำลังซื้อของครัวเรือนที่ปรับตัวดีขึ้นสะท้อนจากรายได้เกษตรกร และการผลิตภาคการเกษตรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแรงหนุนจากมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย และการขยายระยะเวลาดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพในการเดินทางของประชาชน เป็นสำคัญ

กระทรวงพาณิชย์ ปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อปี 2560 (ณ เดือนกรกฎาคม 2560) อยู่ที่ร้อยละ 0.7 - 1.7 โดยมีสมมติฐานหลักคือ

1) GDP ขยายตัวร้อยละ 3.0-4.0 เศรษฐกิจปี2560 ขยายตัวต่อเนื่องจากปี2559 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรและรายได้จากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของการค้าโลก รวมทั้งการสูงขึ้นของราคาสินค้าเกษตรเป็นผลดีต่อเนื่องจากอุปสงค์ อาทิการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและภาคเอกชน

2) ราคาน้ำมันดิบดูไบ อยู่ในช่วง 45-55 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันปรับลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2559 เหตุจากตลาดกังวลต่อการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ประเทศนอกกลุ่มโอเปกและปริมาณการผลิตน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐอเมริกา ลิเบีย และไนจีเรีย

3) อัตราแลกเปลี่ยน อยู่ในช่วง 34.0-36.0 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐอเมริกา จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด (FED) การปรับลดขนาดการถือครองสินทรัพย์ รวมทั้งนโยบายผ่อนคลายกฎเกณฑ์ การดำเนินธุรกรรมอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทย

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมิถุนายน 2560

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าและบริการที่ครัวเรือนใช้สอยครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ มีจำนวนรายการสินค้าปีฐาน 2558 ทั้งหมด 422 รายการ

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมิถุนายน2560 สรุปได้ดังนี้ คือ

1.ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมิถุนายน 2560 (ปี 2558 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100) มีค่าเท่ากับ 100.66 (เดือนพฤษภาคม 2560 เท่ากับ 100.64)

2.การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมิถุนายน 2560 เมื่อเทียบกับ

          ระยะเวลา                                              การเปลี่ยนแปลง     ร้อยละ
          2.1 เดือนพฤษภาคม 2560 (MoM)                                สูงขึ้น         +0.02
          2.2 เดือนมิถุนายน 2559 (YoY)                                 ลดลง         -0.05
          2.3 เฉลี่ย 6 เดือน 2560 (AoA) (มกราคม - มิถุนายน 2559)         สูงขึ้น         +0.67

โดยมีรายละเอียดดังนี้

2.1 เทียบเดือนพฤษภาคม 2560 (MoM) สูงขึ้น ร้อยละ +0.02 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 1

อัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน 2560 สูงขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2560 (MoM) ร้อยละ +0.02 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ +0.62 จากการสูงขึ้นของผักสด (ผักคะน้า ผักบุ้ง ผักกวางตุ้ง ผักชี) ไข่ไก่ ปลาและสัตว์น้ำ (ปลาหมึกกล้วย หอยแมลงภู่ ปลาจะระเม็ด ปลาทู ปลาลัง กุ้งนาง) หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ สูงขึ้นร้อยละ +0.34 (ค่าการศึกษา-ค่าเล่าเรียน) ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ +0.06 (บุหรี่ เบียร์) รวมทั้งค่าเช่าบ้าน ก๊าซหุงต้ม และค่ายา ขณะที่หมวดยานพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ลดลงร้อยละ -0.97 (แก๊สโซฮอล์ 91 95 E20 E85 น้ำมันเบนซิน 95 น้ำมันดีเซล LPG และ NGV) เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลงร้อยละ -0.15 (เสื้อผ้าสตรี ผลิตภัณฑ์รองเท้า) รวมทั้งการปรับลดลงของค่าโดยสารเรือด่วนเจ้าพระยา เรือในคลองแสนแสบ เรือข้ามฝาก ลดลง 0.50 - 1.00 บาท ผลจากน้ำมันดีเซลปรับลดลงต่ำกว่า 25 บาทต่อลิตร และการลดลงจากโปรโมชั่น สินค้าของใช้ส่วนบุคคล เช่น น้ำยาบ้วนปาก สบู่ถูตัว และน้ำยาระงับกลิ่นกาย เป็นต้น

2.2 เทียบเดือนมิถุนายน 2559 (YoY) ลดลง ร้อยละ -0.05 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวดแสดงได้ดัง ภาพที่ 2

อัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน 2560 ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2559 (YoY) ร้อยละ -0.05 ได้รับผลกระทบจากหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ดัชนีลดลงรอยละ -0.70 ( ข้าวสารเจ้า เนื้อสุกร ไข่ไก่ กะหล่ำปลี มะเขือเทศ มะนาว พริกสด เงาะ) รวมทั้งเครื่องรับโทรศัพท์มือถือ ขณะที่ หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้นร้อยละ+0.02(ชุดนักเรียน) หมวดเคหสถานสูงขึ้นร้อยละ +0.62 (ค่าเช่าบ้าน ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าแรงซ่อมแซมบ้าน ) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ +0.26 (ค่ายา ค่าทำฟัน ค่าเจาะเลือด ค่าแต่งผมชาย-สตรี) หมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ +0.03 (น้ำมันเชื้อเพลิง อาทิ แก๊สโซฮอล์ 91 95 แก๊สโซฮอล์E20 E85 น้ำมันเบนซิน 95 และรถยนต์ หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา สูงขึ้นร้อยละ +0.67 (ค่าการศึกษา-ค่าเล่าเรียน ค่าห้องพักโรงแรม ค่าทัศนาจรภายใน-ต่างประเทศ ค่าชมภาพยนตร์) หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.12 (ไวน์ สุรา)

2.3 เดือนมกราคม - มิถุนายน 2560 (AoA) เทียบกับเดือนมกราคม - มิถุนายน 2559 สูงขึ้น ร้อยละ +0.67 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 3

อัตราเงินเฟ้อเดือน ม.ค.-มิ.ย.60 เทียบกับม.ค.-มิ.ย.59 สูงขึ้นร้อยละ 0.67 (YoY) ได้รับผลกระทบจากหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 0.14 ( ไก่สด ปลาลัง น้ำมันพืช มะขามเปียก) รวมทั้ง หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้นร้อยละ+0.05 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ +0.31 หมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ +2.98 (น้ำมันเชื้อเพลิง อาทิ น้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์91 95 แก๊สโซฮอล์E20 E85และน้ำมันเบนซิน 95) หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา สูงขึ้นร้อยละ +0.55 (ค่าการศึกษา-ค่าเล่าเรียน) หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 2.72 (ไวน์ สุรา) ขณะที่หมวดหมวดเคหสถานลดลงร้อยละ -0.59 (ค่าเช่าบ้าน ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าแรงซ่อมแซมบ้าน)

3. คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2560 กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2560 อยู่ระหว่าง ร้อยละ 0.7 - 1.7 ต่อปี โดยมีสมมติฐานหลักคือ

ช่วงประมาณการ

1. การขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศไทย (%) 3.50 (3.0 - 4.0) การใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่สูงขึ้น

รายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นตามราคา สินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก

มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย และการขยายระยะเวลาลดภาระค่าครองชีพด้านการเดินทาง

การส่งออกที่ขยายตัวเป็นลำดับจากการฟื้นตัวของการค้าโลก

จำนวน นักท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง

2. ราคาน้ำมันดิบดูไบ (USD / Barrel) 50.0 (45.0 - 55.0) ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบที่ไม่แน่นอนของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (ปริมาณการผลิตน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐอเมริกา ลิเบีย และไนจีเรีย

ความต้องการฤดูหนาวตามปัจจัยฤดูกาล

ความต้องการใช้ที่สูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

3. อัตราแลกเปลี่ยน (บาท / USD) 35.0 (34.0 - 36.0) อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐปี 2560 มีแนวโน้มแข็งค่า

การปรับลดขนาดการถือครองสินทรัพย์ทั้งส่วนของพันธบัตรและอสังหาริมทรัพย์

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด

นโยบายผ่อนคลายกฎเกณฑ์ในการดำเนินธุรกรรมอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ช่วยภาคธุรกิจในการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ

ทั้งนี้ ในเดือนมิถุนายน 2560 อัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉลี่ยเท่ากับ 34.04 บาทต่อดอลลาร์ และราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 45.73 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 29 มิถุนายน 2560)

4. ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ

ปัจจัยสนับสนุน ปัจจัยเสี่ยง

อุปสงค์ภาคครัวเรือนเริ่มฟื้นตัวสอดคล้องกับการการผลิตและรายได้เกษตรกร ประกอบกับภาระหนี้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มลดลงความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของคู่ค้าสำคัญ ส่งผลกระทบต่อการส่งออก

รายได้จากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนทั้งทางด้านปริมาณและราคา ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น กระทบราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ

มาตรการภาครัฐสนับสนุนกำลังซื้อสำหรับครัวเรือนรายได้น้อยและการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2017 ความผันผวนของงค่าเงินบาทส่งผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันของภาค

การส่งออก และต้นทุนการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0-2507-5850 โทรสาร. 0-2507-5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ