ดัชนีราคาส่งออก เดือนมิถุนายน 2560 เทียบกับเดือนมิถุนายน 2559 สูงขึ้นร้อยละ 2.3 (YoY) เป็นการปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า โดยสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็ก อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป น้ำตาลทราย ยางพารา ไก่และกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง เป็นต้น เนื่องจากทิศทางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าจากตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
ดัชนีราคานำเข้า เดือนมิถุนายน 2560 เทียบกับเดือนมิถุนายน 2559 ปรับสูงขึ้นร้อยละ 3.0 (YoY) โดยเป็นการปรับสูงขึ้นของหมวดสินค้าเชื้อเพลิง หมวดสินค้าทุน หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งปรับลดลงเล็กน้อย ทั้งนี้ ราคาสินค้านำเข้าสำคัญที่ปรับสูงขึ้น เช่น น้ำมันดิบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เนื่องจากปัญหาอุปทานส่วนเกินในตลาดโลกคลี่คลายลง
ดัชนีราคาส่งออก เดือนมิถุนายน 2560 มีค่าเท่ากับ 96.8 เทียบกับเดือนมิถุนายน 2559 (ปี 2555=100) สูงขึ้นร้อยละ 2.3 (YoY) ทั้งนี้ เป็นการปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เช่น เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เนื่องจากเป็นสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สูงขึ้นตามความต้องการของตลาดที่มีอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สูงขึ้นตามราคาเหล็กตลาดโลก หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นจากน้ำตาลทราย ตามผลผลิตโลกที่ลดลงจากปัญหาภาวะภัยแล้ง และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป จากการขาดแคลนวัตถุดิบประเภทอาหารทะเลและความต้องการของตลาดที่มีมากขึ้น หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นจากยางพารา ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ไก่และกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงในช่วงก่อนหน้า และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นจากน้ำมันสำเร็จรูปตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น
ดัชนีราคานำเข้า เดือนมิถุนายน 2560 เท่ากับ 86.9 เทียบกับเดือนมิถุนายน 2559 (ปี 2555=100) ปรับสูงขึ้นร้อยละ 3.0 (YoY) สินค้าสำคัญที่เป็นแรงหนุนให้ดัชนีราคานำเข้าปรับสูงขึ้น ได้แก่ หมวดสินค้าเชื้อเพลิงเป็นหลัก จากน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป เนื่องจากประเทศผู้ผลิตน้ำมันทั้งในและนอกกลุ่มโอเปคได้ปรับลดกำลังการผลิตลงอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขภาวะอุปทานที่ล้นตลาด หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ และสินแร่โลหะอื่นๆ ทองคำ หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ขณะที่ดัชนีราคานำเข้าหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งปรับลดลง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์
ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนมิถุนายน 2560
ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าส่งออกในรูปของดัชนี โดยใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาส่งออกที่ผู้ส่งออกในประเทศไทยได้ส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ทั้งนี้ ราคาส่งออกที่สำรวจเป็นราคา F.O.B (Free On Broad) ครอบคลุม 4 หมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเกษตรกรรม หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร หมวดสินค้าอุตสาหกรรม และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 764 รายการ สรุปได้ดังนี้
1. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนมิถุนายน 2560 เท่ากับ 96.8 (ปีฐาน 2555 =100) (เดือนพฤษภาคม 2560 เท่ากับ 96.7) โดยดัชนีราคาส่งออกเดือนมิถุนายน 2560 ในหมวดสินค้าเกษตรกรรม เท่ากับ 91.7 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร เท่ากับ 106.8 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เท่ากับ 99.8 และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง เท่ากับ 61.1
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนมิถุนายน 2560 เมื่อเทียบกับ
2.1 เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2560 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.1 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าส่งออกจำแนกตามรายหมวดสินค้า ดังนี้
หมวดสินค้าที่ราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ผักและผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง และกุ้งสดแช่เย็น แช่แข็ง เนื่องจากตลาดต่างประเทศมีความต้องการสินค้ามากขึ้น ขณะที่สินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ ยางพารา เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากเกินความต้องการของตลาด เช่นเดียวกับราคาข้าวโดยเฉพาะข้าวขาวและข้าวนึ่งที่ประสบปัญหาการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง เนื่องจากสต๊อกข้าวโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาข้าวหอมมะลิยังอยู่ในเกณฑ์ดี หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เนื่องจากเกิดภาวะฝนตกหนักในหลายพื้นที่การทำประมง ทำให้อาหารทะเลออกสู่ตลาดน้อยลง ขณะที่ความต้องการของตลาดยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น สำหรับน้ำตาลทรายราคาสูงขึ้นเนื่องจากเกิดปัญหาภาวะภัยแล้งในประเทศผู้ผลิต หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า ตามความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มอาเซียน ยุโรปและสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สูงขึ้นตามทิศทางเหล็กตลาดโลกที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง ขณะที่หมวดสินค้าที่ราคาส่งออกปรับลดลงคือ หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบ สาเหตุหลักเป็นผลจากภาวะอุปทานน้ำมันดิบส่วนเกินส่งผลกดดันให้ราคาน้ำมันลดลงต่อเนื่อง
2.2 เทียบกับเดือนมิถุนายน 2559 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 2.3 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าส่งออกจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้
ดัชนีราคาส่งออกปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ยางพารา สินค้าประมง (กุ้ง ปลาหมึก ปลา) สินค้าปศุสัตว์ (ไก่) ผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็งและแห้ง หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ น้ำตาลทราย อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง สิ่งทอ และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป ทั้งนี้ ภาพรวมของราคาสินค้าส่งออกสำคัญที่ปรับสูงขึ้นเป็นผลจากปริมาณผลผลิตที่ลดลง ประกอบกับความต้องการสินค้าจากต่างประเทศที่มีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาส่งออกปรับสูงขึ้น นอกจากนี้ แนวโน้มการปรับขึ้นของราคาน้ำมันเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้นด้วย
2.3 เทียบเฉลี่ยกับเดือนมกราคม-มิถุนายน 2560 (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 3.3 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้
ดัชนีราคาส่งออกปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ยางพารา กุ้งสด แช่เย็นแช่แข็ง ไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ น้ำตาลทราย อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป โดยสาเหตุที่สินค้าส่งออกสำคัญปรับสูงขึ้น ปัจจัยหลักเป็นผลจากปริมาณผลผลิตที่ลดลง ประกอบกับราคาน้ำมันตลาดโลกมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น และเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้ความต้องการสินค้าจากต่างประเทศมีอย่างต่อเนื่อง
ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนมิถุนายน 2560
ดัชนีราคานำเข้าของประเทศ แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้านำเข้าที่ผู้นำเข้าในประเทศไทยได้จ่ายไปเพื่อนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ราคานำเข้าที่สำรวจเป็นราคา C.I.F. (Cost, Insurance และ Freight) ครอบคลุม 5 หมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเชื้อเพลิง หมวดสินค้าทุน หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 775 รายการ สรุปได้ดังนี้
1. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนมิถุนายน 2560 เท่ากับ 86.9 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนพฤษภาคม 2560 เท่ากับ 87.3) โดยดัชนีราคานำเข้าเดือนมิถุนายน 2560 ในหมวดสินค้าเชื้อเพลิง เท่ากับ 53.7 หมวดสินค้าทุน เท่ากับ 100.5 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เท่ากับ 93.2 หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค เท่ากับ 100.7 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง เท่ากับ 93.0
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนมิถุนายน 2560 เมื่อเทียบกับ
2.1 เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2560 (MoM) ลดลงร้อยละ 0.5 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้
ดัชนีราคานำเข้าปรับลดลง เป็นผลจากหมวดสินค้าเชื้อเพลิงเป็นหลัก ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม เนื่องจากตลาดกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันทั้งในและนอกกลุ่มโอเปคที่เพิ่งขยายระยะเวลาการปรับลดออกไป และยังได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตของลิเบีย ไนจีเรีย และสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ ทองคำ สินแร่โลหะอื่นๆ แผงวงจรไฟฟ้า และปุ๋ย หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม และเครื่องประดับอัญมณีแท้ และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์
2.2 เทียบกับเดือนมิถุนายน 2559 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 3.0 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้
หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียมตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น เนื่องจากปัญหาอุปทานส่วนเกินของน้ำมันในตลาดโลกคลี่คลายลงตามการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ ยากำจัดศัตรูพืช สินแร่โลหะอื่นๆ เคมีภัณฑ์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช ปุ๋ย สัตว์น้ำสด แช่เย็นแช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ขณะที่ดัชนีราคานำเข้าหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งปรับลดลง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์
2.3 เทียบเฉลี่ยกับเดือนมกราคม-มิถุนายน 2559 (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 6.2 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้
ดัชนีราคานำเข้าปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม ถ่านหิน และเชื้อเพลิงอื่นๆ หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และการทดสอบ และผลิตภัณฑ์โลหะ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช สินแร่โลหะอื่นๆ ทองคำ แผงวงจรไฟฟ้า สัตว์น้ำสด แช่เย็นแช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป ด้ายและเส้นใย หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องประดับอัญมณี และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และรถยนต์นั่ง ทั้งนี้ ภาพรวมของราคาสินค้านำเข้าที่สำคัญ ที่ปรับตัวสูงขึ้นมาจากปัจจัยการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าในตลาดโลก โดยสินค้าที่เคยได้รับแรงกดดันจากปัญหาภาวะอุปทานส่วนเกิน อาทิ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เริ่มปรับราคาสูงขึ้นจากภาวะอุปทานล้นตลาดที่คลี่คลายลง นอกจากนี้สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันได้มีการปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน ได้แก่ เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นของดัชนีราคานำเข้าเป็นการทยอยปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากราคาสินค้านำเข้าหลักคือสินค้าเชื้อเพลิงยังมีความผันผวนตามราคาน้ำมันในตลาดโลก
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825