อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนสิงหาคม 2560 ปรับสูงขึ้นร้อยละ 0.32 (YoY) ต่อเนื่องจากเดือนกรกฎาคม 2560 ที่สูงขึ้นร้อยละ 0.17 จากสินค้ากลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกภายในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบตลาดโลก จากพายุเฮอริเคนฮาวีย์ถล่มชายฝั่งเท็กซัสและหลุยเซียน่า ของสหรัฐฯ ทำให้กำลังการผลิตลดลง 10% ของทั้งหมด ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 8 เดือนขยายตัวเล็กน้อย ร้อยละ 0.56
ระดับราคาสินค้าและบริการ ในเดือนสิงหาคม 2560 สูงขึ้นร้อยละ 0.11 จากเดือนกรกฎาคม 2560 (MoM) เป็นผลจากหมวดสินค้าอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ( ค่าเช่าบ้าน เครื่องนุ่งห่ม ค่าของใช้ส่วนบุคคล น้ำมันเชื้อเพลิง สุรา ) รวมทั้งอาหารบริโภค-ในบ้าน และนอกบ้านที่ปรับสูงขึ้น โดยมีภาวะความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าสำคัญดังนี้
ค่าเช่าบ้าน ราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.07
เครื่องนุ่งห่ม ราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.12 เช่น เสื้อผ้าสตรี และผลิตภัณฑ์รองเท้า
บริภัณฑ์อื่น ๆ ที่ใช้ในบ้าน ราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.05 เช่น เตาอบไมโครเวฟ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า
ค่าโดยสารเรือ ราคาสูงขึ้นร้อยละ 4.82 จากราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับสูงขึ้น
น้ำมันเชื้อเพลิง ราคาสูงขึ้นร้อยละ 2.64 (น้ำมันเบนซิน 95 ดีเซล แก๊สโซฮอล์ 91 95 E20 และ E85) ตามภาวะตลาดโลก
อาหารสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 0.22 เช่น กับข้าวสำเร็จรูป อาหารเช้า อาหารเย็น(อาหารตามสั่ง)
ผักสดและผลไม้ ราคาลดลงร้อยละ -2.35 เช่น ผักคะน้า ผักชี ขึ้นฉ่าย ต้นหอม เงาะ ทุเรียน ลำไย แก้วมังกร จากสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของพืชผัก และเป็นฤดูกาลของผลไม้หลายชนิด
เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2559 อัตราเงินเฟ้อ สูงขึ้นร้อยละ 0.32 (YoY) ตามการสูงขึ้นของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง ตามความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น ค่ากระแสไฟฟ้า และการสูงขึ้นของเครื่องประกอบอาหาร เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อาหารสำเร็จรูป อาหารบริโภค-ในบ้าน/นอกบ้าน เป็นสำคัญ
อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยเดือน ม.ค. - ส.ค. 2560 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหน้า สูงขึ้นร้อยละ 0.56 (AoA) โดยมีแนวโน้มขยายตัวตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และกำลังซื้อของครัวเรือนที่ปรับตัวดีขึ้นสะท้อนจากรายได้เกษตรกร และการผลิตภาคการเกษตรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแรงหนุนจากมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย และปัจจัยบวกจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพที่กำลังดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าและบริการที่ครัวเรือนใช้สอยครอบคลุม
หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ มีจำนวนรายการสินค้าปีฐาน 2558 ทั้งหมด 422 รายการ
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนสิงหาคม 2560 สรุปได้ดังนี้ คือ
1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนสิงหาคม 2560 (ปี 2558 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100) มีค่าเท่ากับ 100.64 (เดือนกรกฎาคม 2560 เท่ากับ 100.53)
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนสิงหาคม 2560 เมื่อเทียบกับ
ระยะเวลา การเปลี่ยนแปลง ร้อยละ 2.1 เดือนกรกฎาคม 2560 (MoM) สูงขึ้น +0.11 2.2 เดือนสิงหาคม 2559 (YoY) สูงขึ้น +0.32 2.3 เฉลี่ย 8 เดือน 2560(AoA) สูงขึ้น +0.56
(มกราคม - สิงหาคม 2560) เทียบกับ (มกราคม - สิงหาคม 2559)
โดยมีรายละเอียดดังนี้
2.1 เทียบเดือนกรกฎาคม 2560 (MoM) สูงขึ้น ร้อยละ +0.11 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวด ดังนี้
อัตราเงินเฟ้อเดือนสิงหาคม 2560 สูงขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2560 (MoM) ร้อยละ +0.11 โดยมีสาเหตุสำคัญจากหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ +0.86 จากราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ +2.64 ตามราคาน้ำมันดิบตลาดโลก (น้ำมันเบนซิน 95 ดีเซล แก๊สโซฮอล์ 91 95 E20 และ E85) และค่าโดยสารเรือ ที่ปรับขึ้นตามการสูงขึ้นของราคาน้ำมันดีเซล และการสูงขึ้นของหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ +0.12 (เสื้อผ้าสตรี รองเท้าบุรุษ-สตรี ค่าจ้างซักรีด) รวมทั้งเครื่องถวายพระ และไวน์ ขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ - 0.24 จากการลดลงของหมวดผักสดและผลไม้ ร้อยละ -2.35 เช่น ผักคะน้า ผักชี ขึ้นฉ่าย ต้นหอม เงาะ ทุเรียน ลำไย แก้วมังกร จากสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของพืชผัก และเป็นฤดูกาลของผลไม้หลายชนิด รวมทั้งการลดลงของราคาข้าวสารเจ้า เนื้อสุกร ไข่ไก่ ส่วนอาหารสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ +0.22 (อาหารบริโภค-ในบ้าน ร้อยละ +0.38 และอาหารบริโภค-นอกบ้าน ร้อยละ +0.05)
2.2 เทียบเดือนสิงหาคม 2559 (YoY) สูงขึ้น ร้อยละ +0.32 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวด ดังนี้
อัตราเงินเฟ้อเดือนสิงหาคม 2560 สูงขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2559 (YoY) ร้อยละ +0.32 ได้รับผลกระทบจาก หมวดเคหสถานสูงขึ้นร้อยละ +0.57 (ค่าเช่าบ้าน วัสดุก่อสร้าง ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าคนรับใช้/คนงาน) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ +0.22 (ค่ายา ค่ารักษาพยาบาลคนไข้นอก ค่าทำฟัน ค่าเจาะเลือด ) หมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ +2.10 (น้ำมันเชื้อเพลิง อาทิ น้ำมันเบนซิน 95 แก๊สโซฮอล์ 91 95 แก๊สโซฮอล์E20 E85 NGV LPG รถยนต์ รถจักรยานยนต์) หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา สูงขึ้นร้อยละ +0.61 (ค่าการศึกษา-ค่าเล่าเรียน ค่าห้องพักโรงแรม ค่าทัศนาจรภายใน-ต่างประเทศ ค่าเครื่องถวายพระ) หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ +0.11 (ไวน์ สุรา) ขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ดัชนีลดลงร้อยละ -0.92 ( ข้าวสารเจ้า เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ ผักคะน้า ผักชี มะนาว ต้นหอม เงาะ มังคุด ลองกอง) และหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลงร้อยละ -0.09 (เสื้อยืดบุรุษ กางเกงว่ายน้ำบุรุษ เสื้อยกทรง กางเกง-กระโปรงเด็ก)
2.3 เฉลี่ย 8 เดือน (ม.ค.- ส.ค. 2560) เทียบกับ(ม.ค.-ส.ค.2559) (AoA) สูงขึ้นร้อยละ +0.56 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวด ดังนี้
อัตราเงินเฟ้อเดือน ม.ค.-ส.ค.60 เทียบกับม.ค.-ส.ค.59 สูงขึ้นร้อยละ +0.56 (YoY) ได้รับผลกระทบจากหมวดเครื่องนุ่งห่ม สูงขึ้นร้อยละ +0.01 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ +0.31 หมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ +2.59 (น้ำมันเชื้อเพลิง อาทิ น้ำมันเบนซิน 95 น้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์91 95 แก๊สโซฮอล์E20 E85 NGV) หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา สูงขึ้นร้อยละ +0.58 (ค่าการศึกษา-ค่าเล่าเรียน) หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ +2.06 (ไวน์ สุรา) รวมทั้งหมวดอาหารบริโภค-ในบ้าน และนอกบ้านที่ปรับสูงขึ้นร้อยละ +1.07 และ +1.23 ตามลำดับ ขณะที่หมวดเคหสถานลดลงร้อยละ -0.30 (ค่ากระแสไฟฟ้า สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด) หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ -0.08 (ข้าวสารเจ้า เนื้อสุกร ไข่ไก่ ผักสดและผลไม้) เป็นสำคัญ
3. คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2560 กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2560 อยู่ระหว่าง ร้อยละ 0.7 - 1.7 ต่อปี โดยมีสมมติฐานหลักคือ
ช่วงประมาณการ
1. การขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศไทย (%) 3.50 (3.0 - 4.0)
การใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่สูงขึ้น
รายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นตามราคา สินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก
มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย และการขยายระยะเวลาลดภาระค่าครองชีพด้านการเดินทาง
การส่งออกที่ขยายตัวเป็นลำดับจากการฟื้นตัวของการค้าโลก
จำนวน นักท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง
2. ราคาน้ำมันดิบดูไบ (USD / Barrel) 50.0 (45.0 - 55.0)
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบที่ไม่แน่นอนของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน
การผลิตน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐอเมริกา ลิเบีย และไนจีเรีย
ความต้องการฤดูหนาวตามปัจจัยฤดูกาล
ความต้องการใช้ที่สูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
3. อัตราแลกเปลี่ยน (บาท / USD) 35.0 (34.0 - 36.0)
อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐปี 2560 มีแนวโน้มแข็งค่า
การปรับลดขนาดการถือครองสินทรัพย์ทั้งส่วนของพันธบัตรและอสังหาริมทรัพย์
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด
นโยบายผ่อนคลายกฎเกณฑ์ในการดำเนินธุรกรรมอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ช่วยภาคธุรกิจในการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ
4. ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ
ปัจจัยสนับสนุน ปัจจัยเสี่ยง
อุปสงค์ภาคครัวเรือนเริ่มฟื้นตัวสอดคล้องกับการการผลิตและรายได้เกษตรกร ประกอบกับภาระหนี้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มลดลง ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของคู่ค้าสำคัญ ส่งผลกระทบต่อการส่งออก
รายได้จากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนทั้งทางด้านปริมาณและราคา ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น กระทบราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ
มาตรการภาครัฐสนับสนุนกำลังซื้อสำหรับครัวเรือนรายได้น้อยและการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2017
ความผันผวนของงค่าเงินบาทส่งผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันของภาค
การส่งออก และต้นทุนการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0-2507-5850 โทรสาร. 0-2507-5825