รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนกันยายน 2560

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 1, 2017 15:48 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกันยายน 2560 ปรับตัวสูงขึ้น

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ปัจจุบัน และอนาคตปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้ง ความคาดหวังในอีก 3 เดือนข้างหน้าต่อ เศรษฐกิจและธุรกิจ รายได้ และโอกาสในการหางานทำ เพิ่มขึ้นเช่นกัน

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนกันยายน 2560 จากประชาชนสาขาอาชีพต่างๆ 77 จังหวัด ทั่วประเทศ จำนวน 3,515 คน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ มีค่า 39.5 ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2560 ที่มีค่า 38.4 จากเศรษฐกิจไทยขยายตัวดีต่อเนื่อง แนวโน้มการบริโภค การส่งออกสินค้า และบริการขยายตัวได้ดี เอกชนเริ่มมีกำไรจากการขยายการลงทุนเพิ่มตามโครงการลงทุนต่างๆ ของรัฐ ทั้งในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ และโครงการลงทุนขนาดใหญ่อีกหลายโครงการ สินค้าเกษตรแปรรูป ขยายตัวตามการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางและน้ำตาล สินค้าเกษตรขยายตัวตามการส่งออกข้าว ยางพาราและผลไม้ ส่งผลต่อกำลังซื้อจากภาคเกษตรกรรมที่สามารถส่งออกได้มากขึ้น รวมทั้งการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนในประเทศผ่านมาตรการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันมีค่า 33.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาที่มีค่า 32.1 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต มีค่า 43.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาที่มีค่า 42.6 โดยค่าดัชนีฯ ยังอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนยังไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ การคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้าของ สถานการณ์ทั่วไปของเศรษฐกิจและธุรกิจอยู่ที่ระดับ 50.0 ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาที่ระดับ 48.9 ความคาดหวังรายได้อยู่ที่ระดับ 49.7 ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาที่ระดับ 48.6 และโอกาสในการหางานทำอยู่ที่ระดับ 31.9 ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาที่ระดับ 30.1 รวมทั้งการวางแผนซื้อรถยนต์ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 14.7 ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาที่ระดับ 14.6 โดยค่าดัชนีมีค่าต่ำกว่าระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังไม่มีความเชื่อมั่น ขณะที่ การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบัน อยู่ที่ 52.4 ปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่ระดับ 54.1 โดยค่าดัชนีมีค่าสูงกว่าระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังมีความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบัน

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค

เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกันยายน 2560 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ กรุงเทพฯ/ปริมณฑลจาก 34.0 เป็น 34.7 ภาคเหนือจาก 35.8 เป็น 36.4 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจาก 40.4 เป็น 45.5 และภาคใต้จาก 34.8 เป็น 35.6 ขณะที่ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ปรับตัวลดลง จาก 46.6 เป็น 45.3 และ จาก 41.7 เป็น 38.9 ตามลำดับ ทั้งนี้ ค่าดัชนีฯ ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนยังไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัว แต่อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดียังคงไม่กระจายตัวไปสู่ภูมิภาค เนื่องจากในปัจจุบันพบว่าราคาสินค้าเกษตรเพิ่งเริ่มฟื้นตัวจากที่ตกต่ำมานาน และจากการไม่ได้เพิ่มผลิตภาพการผลิต ส่งผลให้รายได้กลุ่มดังกล่าวยังไม่ได้เติบโตมากนัก ทำให้กำลังซื้อของประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ฟื้นตัวกลับมาดี และส่งผลกระทบในแง่การทำธุรกิจของภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ประกอบกับแนวโน้มราคาก๊าซหุงต้ม น้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีก และค่ากระแสไฟฟ้าที่สูงขึ้น กระทบต่อค่าใช้จ่ายของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

บทสะท้อนจากข้อคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่างๆ

ด้านเศรษฐกิจ

1. กำหนดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับจังหวัด

2. กระตุ้นการจ้างงาน เศรษฐกิจฐานราก การใช้จ่ายภายในประเทศ และเพิ่มรายได้ภาคครัวเรือนให้เพิ่มขึ้น

3. สร้างความมั่นใจว่าเศรษฐกิจจะแข็งแรง และให้มีนักลงทุนเข้ามาภายในประเทศมากขึ้น

4. การกระจายรายได้ และลดความเหลื่อมล้ำ

5. แก้ไขปัญหาค่าครองชีพ และหนี้สินภาคครัวเรือนของประชาชนที่ยังคงสูงอย่างต่อเนื่อง

6. เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมแก้ปัญหาระบบขนส่งมวลชน ให้มีประสิทธิภาพ

7. แก้ไขค่าครองชีพประชาชนระดับรากหญ้าให้มีพอกินพอใช้

8. แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรให้มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยางพารา

9. ดูแลเรื่องการเงิน การค้าขาย การลงทุน และการค้าระหว่างประเทศ ให้ดีขึ้น

10. เพิ่มความรู้เรื่องการตลาดต่อทุกกลุ่มอาชีพ

11. ฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัด เพื่อสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่

12. ลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เช่น การเดินทาง ค่าขนส่ง ราคาน้ำมัน และก๊าซหุงต้ม

13. ลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษา

14. ลดราคาปุ๋ย สินค้าอุปโภค บริโภค และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้

15. สร้างความมั่นใจให้นักลงทุน

16. หาตลาดส่งออกสินค้าทางการเกษตรให้มากกว่านี้

17. จัดสรรงบประมาณให้ถึงระดับหมู่บ้าน

ด้านสังคม

1. ป้องกัน ปราบปรามยาเสพติด การคอรัปชั่นให้หมดจากแผ่นดินไทย และบำบัดผู้ที่ติดยา

2. ดูแลเอาใจใส่อนาคตของชาติให้มากกว่านี้ ทั้งเรื่องการศึกษา แก้ปัญหาระบบการศึกษาของนักเรียนให้ทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ พัฒนาให้ทันสังคมโลก และยกระดับความรู้ของประชาชนภายในประเทศ

3. แก้ไขการว่างงาน ส่งเสริมอาชีพ พัฒนาฝีมือแรงงานตามที่ตลาดต้องการ และจัดฝึกอบรมให้กับเยาวชน เพื่อใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

4. แก้ไขความยากจนของประชาชน

5. สนับสนุนให้ประชาชนพึ่งพาตนเองได้

6. เน้นการพัฒนาคน ชุมชน และดูแลสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น

7. รักษาความสงบภายในประเทศ

8. แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด

ที่มา: กองสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์

โทรศัพท์ 02-5076554 โทรสาร 02-5075806

http://www.price.moc.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ