ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงราคาในรูปของดัชนี เพื่อใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าที่ผู้ผลิตได้รับ ครอบคลุม 3 หมวด คือ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จากการสำรวจและประมวลผลราคาสินค้าที่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ผลิตจำหน่ายทั่วประเทศ มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 596 รายการ
1. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนมกราคม 2561 (ปี 2553 = 100) มีค่าเท่ากับ 101.9 (เดือนธันวาคม 2560 เท่ากับ 101.5)
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ เดือนมกราคม 2561 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนธันวาคม 2560 (MoM) สูงขึ้น ร้อยละ 0.4 โดยเมื่อพิจารณาดัชนีราคาเทียบกับเดือนธันวาคม 2560 สูงขึ้นร้อยละ 0.4 จากการสูงขึ้นของสินค้าทั้ง 3 หมวดหลัก คือ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.3 สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น กลุ่มผลผลิตการเกษตร ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นช่วงปลายฤดูกาล ขณะที่ตลาดมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว จากผู้ประกอบการมีความต้องการเพิ่มขึ้นเพื่อส่งมอบตามคำสั่งซื้อ หัวมันสำปะหลังสด ตลาดมีความต้องการอย่างต่อเนื่องจากราคามันเส้นราคาปรับสูงขึ้น ผลปาล์มสด ความต้องการใช้เพิ่มขึ้น และอ้อย เป็นช่วงฤดูกาลเปิดหีบ กลุ่มผลไม้ ได้แก่ องุ่น กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า สับปะรดโรงงาน และลำไย กลุ่มปลาและสัตว์น้ำ ได้แก่ ปลาช่อน ปลาทูสด และปลาหมึกสด สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ ยางพารา สุกรมีชีวิต ไข่ไก่และไข่เป็ด จากสภาพอากาศเอื้ออำนวยส่งผลให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 1.0 สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ และแร่โลหะ (ตะกั่ว สังกะสี ดีบุก) ปรับตามภาวะตลาดโลก หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.3 สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น กลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง (น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันเตา น้ำมันก๊าด) จากประเทศทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกปรับลดกำลังการผลิต ประกอบกับปริมาณน้ำมันคงคลังของสหรัฐและสิงคโปร์ลดลง กลุ่มอาหาร ได้แก่ เนื้อสุกร น้ำสับปะรด สับปะรดกระป๋อง ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ข้าวนึ่ง ปลายข้าว และมันเส้น ตามราคาสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบในการผลิต กลุ่มเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ได้แก่ เหล็กแผ่น เหล็กเส้น เหล็กฉาก และลวดแรงดึงสูง สินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้แก่ ทองคำ ตามภาวะตลาดโลก
2.2 เดือนมกราคม 2560 (YoY) ลดลง ร้อยละ 1.1 โดยเมื่อพิจารณาดัชนีราคาเทียบกับเดือนมกราคม 2560 ลดลงร้อยละ 1.1 สาเหตุจากดัชนีราคาหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 6.4 จากกลุ่มสินค้าผลผลิตการเกษตร สัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.4 จากสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่มและยาสูบ ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก เครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ยานพาหนะและอุปกรณ์ ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 3.2 จากสินค้ากลุ่มลิกไนต์ ปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ และแร่โลหะ
ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงราคาในรูปของดัชนี เพื่อใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าที่ผู้ผลิตได้รับ ครอบคลุม 3 หมวด คือ หมวดสินค้าสำเร็จรูป หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และหมวดสินค้าวัตถุดิบ จากการสำรวจและประมวลผลราคาสินค้าที่เกษตรกร ผู้ประกอบการและผู้ผลิตจำหน่ายทั่วประเทศ มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 596 รายการ สรุปผลได้ดังนี้
1. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศชุดแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) ประกอบด้วย ดัชนีราคาหมวดสินค้าสำเร็จรูป หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และหมวดสินค้าวัตถุดิบ (ปี 2553 = 100) เดือนมกราคม 2561 ดัชนีราคาเท่ากับ 103.1 , 101.7 และ 94.4 ตามลำดับ
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศชุดแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP) เดือนมกราคม 2561 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2560 หมวดสินค้าสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 0.1 หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) สูงขึ้นร้อยละ 1.0 และ หมวดสินค้าวัตถุดิบ สูงขึ้นร้อยละ 1.5
3. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศชุดแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) เดือนมกราคม 2561 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2560 หมวดสินค้าสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 1.1 หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) สูงขึ้นร้อยละ 0.3 และหมวดสินค้าวัตถุดิบ ลดลงร้อยละ 4.9
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2507 5808 โทรสาร. 0 2507 5825