ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าวัสดุก่อสร้างที่ซื้อขายในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ) ครอบคลุมหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์คอนกรีต เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก กระเบื้อง วัสดุฉาบผิว สุขภัณฑ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา และวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 134 รายการ
1. ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมกราคม 2561 เท่ากับ 107.5 (ปี 2553 = 100 และเดือนธันวาคม 2560 เท่ากับ 106.7)
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมกราคม 2561
2.1 เทียบกับเดือนธันวาคม 2560 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.7 โดยมีสาเหตุสำคัญจากดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 2.2 (เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ข้ออ้อย เหล็กตัวซี เหล็กฉาก เหล็กรางน้ำ ลวดผูกเหล็กท่อเหล็กดำ เหล็กแผ่นรียบดำ) ตามราคาเหล็กในตลาดโลกที่ขยับสูงขึ้นตามราคาสินแร่เหล็กและราคาเศษเหล็กในประเทศขยับขึ้นเล็กน้อย หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 1.1 (ดินลูกรัง ทรายถมที่ ทรายหยาบ ทรายละเอียด หินคลุก หินย่อย) ปริมาณการผลิตมีไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ เนื่องจากเป็นวัสดุธรรมชาติที่เริ่มลดน้อยลง การผลิตมีขั้นตอนการขออนุญาตสัมปทาน รวมทั้งต้นทุนเพิ่มขึ้นทั้งด้านพลังงานและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ (ยางมะตอย) ปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ รวมทั้งมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นเพื่อซ่อมแซมถนนที่เสียหายจากน้ำท่วม และหมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 0.8 (กระเบื้องเคลือบบุผนัง กระเบื้องเคลือบปูพื้น) เป็นสินค้าล็อตใหม่ที่ผลิตเพื่อรองรับความต้องการที่เริ่มกลับมา เห็นได้จากปริมาณการจำหน่ายที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้นจากปริมาณลดน้อยลง ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 0.1 (เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง) ผู้ประกอบการต่างเร่งผลิตในช่วงฝนหยุดตก ทำให้มีสินค้าออกสู่ตลาดพร้อมกัน ส่งผลให้มีการแข่งขันสูง
2.2 เทียบกับเดือนมกราคม 2561 เทียบกับเดือนมกราคม 2560 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 2.8 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ร้อยละ 3.9 (ไม้ฝา ไม้คาน ไม้โครงคร่าว วงกบประตู-หน้าต่าง บานประตู-หน้าต่าง) ราคาไม้เริ่มปรับสูงขึ้นตั้งแต่เดือน มี.ค.60 เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค.60 ที่ราคายังต่ำ ทำให้อัตราการขยายตัว มค.61 ยังเป็นบวก หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 4.0 (ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ขาว) จากสถานการณ์ปูนล้นตลาดก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการจึงได้ปรับลดปริมาณการผลิตปลายปี 2560 ความต้องการเริ่มกลับมาทำให้ปริมาณการใช้ขยายตัวเพิ่มขึ้น อีกทั้งต้นทุนการผลิตด้านเชื้อเพลิงขยับสูงขึ้น หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 2.9 (พื้น-คานคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง ท่อระบายน้ำคอนกรีต) ต้นทุนสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ คือ ปูนซีเมนต์และลวดเหล็กอัดแรง ประกอบกับมีความต้องการใช้ในการปรับปรุงระบบการระบายน้ำเพิ่มขึ้น หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 8.1 (เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ข้ออ้อย เหล็กฉาก เหล็กตัว I เหล็กตัว H เหล็กรางน้ำ ลวดเหล็กเสริมคอนกรีตอัดแรง ท่อเหล็กดำ เหล็กแผ่นเรียบดำ) ราคาเหล็กในตลาดโลกขยายตัวกว่าปีที่ผ่านมาจากต้นทุนวัตถุดิบ ได้แก่ สินแร่เหล็กและเศษเหล็กราคาขยับสูงขึ้น และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 1.2 (ดินลูกรัง ทรายถมที่ ทรายหยาบ ทรายละเอียด หินคลุก หินย่อย) ปริมาณการผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการใช้เนื่องจากวัสดุธรรมชาติที่เริ่มลดน้อยลง (วงกบอลูมิเนียม อลูมิเนียนเส้น) ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น ประกอบกับปัจจุบันนิยมใช้แทนไม้มากขึ้น เนื่องจากใช้งานง่ายและสะดวกกว่า ขณะที่หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ลดลงร้อยละ 2.7 (สายเคเบิล THW สายส่งกำลังไฟฟ้า NYY สายไฟฟ้า VCT ท่อร้อยสายไฟสายโทรศัพท์พีวีซี ท่อพีวีซี ข้องอ-ข้อต่อ-สามทางท่อประปา ท่อระบายน้ำเสียพีวีซี) มีปริมาณสินค้าในตลาดจำนวนมาก ส่งผลให้มีการแข่งขันสูง
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2507 5808 โทรสาร. 0 2507 5825