ดัชนีราคาส่งออก เดือนมกราคม 2561 เทียบกับเดือนมกราคม 2560 สูงขึ้นร้อยละ 4.8 (YoY) ปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ซึ่งเป็นไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้า ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าจากตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งผลจากการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐฯ สินค้าส่งออกสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไก่สด และกุ้งสด แช่เย็นแช่แข็ง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ทองคำ เหล็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
ดัชนีราคานำเข้า เดือนมกราคม 2561 เทียบกับเดือนมกราคม 2560 ปรับสูงขึ้นร้อยละ 6.7 (YoY) เป็นผลจากการปรับสูงขึ้นของทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดสินค้าเชื้อเพลิงเป็นหลัก จากราคาน้ำมันตามปริมาณผลผลิตโลกที่ลดลง ขณะที่ความต้องการเพิ่มขึ้น รองลงมาคือ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป หมวดสินค้าทุน หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง และ
ดัชนีราคาส่งออก เดือนมกราคม 2561 เท่ากับ 100.1 เทียบกับเดือนมกราคม 2560 (ปี 2555=100) สูงขึ้นร้อยละ 4.8 (YoY) ปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นจากน้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ ตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นจาก ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไก่สด และกุ้งสด แช่เย็น แช่แข็ง หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นจาก อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ ตามความต้องการสินค้าเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารที่มีการขยายตัว และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นจาก เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์พลาสติก เนื่องจากเป็นสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น สำหรับทองคำ สูงขึ้นจากเงินเหรียญสหรัฐฯ อ่อนค่าลง และเหล็ก สูงขึ้นจากมาตรการลดกำลังการผลิตส่วนเกินและการควบคุมคุณภาพเหล็กของประเทศจีน นอกจากนี้ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สูงขึ้นตามความต้องการของตลาดต่างประเทศ
ดัชนีราคานำเข้า เดือนมกราคม 2561 เท่ากับ 92.2 เทียบกับเดือนมกราคม 2560 (ปี 2555=100) สูงขึ้นร้อยละ 6.7 (YoY) ปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า โดยได้รับแรงหนุนจากหมวดสินค้าเชื้อเพลิงเป็นหลัก ได้แก่ น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป
เนื่องจากประเทศผู้ผลิตน้ำมันปรับลดกำลังการผลิตลงอย่างต่อเนื่อง หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ ทองคำ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ สินแร่โลหะ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม สบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ รถยนต์นั่ง
ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าส่งออกในรูปของดัชนี โดยใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาส่งออกที่ผู้ส่งออกในประเทศไทยได้ส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ทั้งนี้ ราคาส่งออกที่สำรวจเป็นราคา F.O.B (Free On Broad) ครอบคลุม 4 หมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเกษตรกรรม หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร หมวดสินค้าอุตสาหกรรม และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 743 รายการ สรุปได้ดังนี้
1. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนมกราคม 2561 เท่ากับ 100.1 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนธันวาคม 2560 เท่ากับ 99.3) โดยดัชนีราคาส่งออกเดือนมกราคม 2561 ในหมวดสินค้าเกษตรกรรม เท่ากับ 96.9 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร เท่ากับ 108.6 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เท่ากับ 102.2 และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง เท่ากับ 77.6
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนมกราคม 2561 เมื่อเทียบกับ
2.1 เทียบกับเดือนธันวาคม 2560 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.8 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าส่งออกจำแนกตามรายหมวดสินค้า ดังนี้
หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ข้าว สูงขึ้นตามความต้องการของตลาดต่างประเทศที่มีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังและยางพารา สูงขึ้นเนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการดูแลการนำเข้ามันสำปะหลังจากต่างประเทศที่เข้มงวดขึ้น และมาตรการตามโครงการรักษาความสมดุลระหว่างปริมาณและความต้องการใช้เพื่อเพิ่มเสถียรภาพราคายางพารา สำหรับไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง สูงขึ้นตามความต้องการสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ส่งออกรายใหญ่อย่างบราซิลประสบปัญหาการระบาดของไข้หวัดนก ทำให้ขาดความน่าเชื่อถือด้านมาตรฐานการส่งออก ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์พลาสติก สูงขึ้นเนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ สูงขึ้นจากการอ่อนค่าของเงินเหรียญสหรัฐฯ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สูงขึ้นจากปริมาณผลผลิตเหล็กมีแนวโน้มชะลอลง เป็นผลจากจีนปิดโรงงานผลิตเหล็กที่ไม่ได้คุณภาพและมีนโยบายปกป้องสิ่งแวดล้อม ขณะที่แนวโน้มความต้องการยังคง เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สูงขึ้นตามความต้องการของตลาดต่างประเทศ และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบ เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากการขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ทำให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังโลกปรับลดลง ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรปรับตัวลดลง ได้แก่ อาหารทะเลแปรรูป และน้ำตาลทราย โดยเฉพาะน้ำตาลทราย ปริมาณผลผลิตตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลกดดันให้ราคาน้ำตาลทรายปรับลดลง
2.2 เทียบกับเดือนมกราคม 2560 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 4.8 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าส่งออกจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้
ดัชนีราคาส่งออกปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ข้าว ผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลัง ผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็งและแห้ง กล้วยไม้ สินค้าปศุสัตว์ (ไก่) สินค้าประมง (กุ้ง ปลาหมึก ปลา) หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ และอาหารสัตว์เลี้ยง หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์พลาสติก ทองคำ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สิ่งทอ และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบ
ดัชนีราคานำเข้าของประเทศ แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้านำเข้าที่ผู้นำเข้าในประเทศไทยได้จ่ายไปเพื่อนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ราคานำเข้าที่สำรวจเป็นราคา C.I.F. (Cost, Insurance และ Freight) ครอบคลุม 5 หมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเชื้อเพลิง หมวดสินค้าทุน หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 751 รายการ สรุปได้ดังนี้
1. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนมกราคม 2561 เท่ากับ 92.2 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนธันวาคม 2560 เท่ากับ 90.9) โดยดัชนีราคานำเข้าเดือนมกราคม 2561 ในหมวดสินค้าเชื้อเพลิง เท่ากับ 70.0 หมวดสินค้าทุน เท่ากับ 102.0 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เท่ากับ 96.5 หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค เท่ากับ 102.3 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง เท่ากับ 97.4
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนมกราคม 2561 เมื่อเทียบกับ
2.1 เทียบกับเดือนธันวาคม 2560 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 1.4 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้
ดัชนีราคานำเข้าปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม และเชื้อเพลิงอื่นๆ โดยได้รับแรงหนุนจากการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่องของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันทั้งในและนอกกลุ่มโอเปคที่ต้องการผลักดันตลาดให้เข้าสู่สมดุล หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์โลหะ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ ทองคำ สูงขึ้นจากสกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลง เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติก สูงขึ้นตามราคาน้ำมัน นอกจากนี้ สินค้าอื่นๆ ที่ราคาปรับสูงขึ้น ได้แก่ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สินแร่โลหะ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช ด้ายและเส้นใย หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ สบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์
2.2 เทียบเฉลี่ยกับเดือนมกราคม 2560 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 6.7 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้
หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม ถ่านหิน และเชื้อเพลิงอื่นๆ หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ ทองคำ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ สินแร่โลหะ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช สัตว์น้ำสด แช่เย็นแช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป ด้ายและเส้นใย หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม สบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผักผลไม้ เครื่องประดับอัญมณีเครื่องใช้เบ็ดเตล็ด และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ รถยนต์นั่ง ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825