รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมกราคม 2561 ปรับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และสูงที่สุดในรอบ 35 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 1, 2018 14:20 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ปัจจุบัน และอนาคตปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอยู่ในระดับที่สูงที่สุดในรอบ 35 เดือน สอดคล้องกับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์ทั่วไป และความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการใช้จ่ายที่ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมกราคม 2561 จากประชาชนสาขาอาชีพต่างๆ จำนวน 3,578 คน ใน 77 จังหวัด ทั่วประเทศ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ปัจจุบัน และอนาคตมีค่า 41.0 34.9 และ 45.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 35 เดือน สะท้อนว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น แม้จะยังอยู่ในช่วงความไม่เชื่อมั่นก็ตาม สอดคล้องกับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์ทั่วไป ซึ่งประกอบด้วย ความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน การหางานทำปัจจุบันและอีก 3 เดือนข้างหน้า ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 41.5 26.4 และ 31.9 ในเดือนก่อน มาอยู่ที่ 42.6 27.2 และ 32.9

อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังของประชาชนอีก 3 เดือนข้างหน้า ที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจ และรายได้ ปรับลดลง จากเดือนก่อนเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในช่วงความเชื่อมั่น (สูงกว่า 50) ชี้ว่าผู้บริโภคยังคงมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจและรายได้ในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวดีขึ้น

นอกจากนี้ ความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการใช้จ่าย ได้แก่ การใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพเทียบกับเดือนก่อนหน้าและ 3 เดือนที่ผ่านมา ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากเดือนก่อนหน้า ที่ระดับ 53.6 และ 49.4 มาอยู่ที่ 54.8 และ 51.0 รวมทั้ง การวางแผนที่จะซื้อรถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าคงทนต่างๆ ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน จาก 13.7 และ 19.8 มาอยู่ที่ 15.0 และ 22.0 ตามลำดับ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index)
รายการ                 ก.ค.60  ส.ค.60   ก.ย.60   ต.ค.60   พ.ย.60   ธ.ค.60   ม.ค.61
ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม       38.6    38.4     39.5     39.7     40.0     40.6     41.0

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค  (Consumer Confidence Index)
รายการ                              ก.ค.60  ส.ค.60   ก.ย.60   ต.ค.60   พ.ย.60   ธ.ค.60   ม.ค.61
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน       31.9    32.1     33.0     33.0     33.1     33.9     34.9
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต       43.1    42.6     43.9     44.2     44.5     45.0     45.1

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                          ก.ค.60   ส.ค.60   ก.ย.60   ต.ค.60   พ.ย.60   ธ.ค.60   ม.ค.61
รายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)       48.2     48.6     49.7     49.4     50.3     51.0     50.7

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                                      ก.ค.60   ส.ค.60   ก.ย.60   ต.ค.60   พ.ย.60   ธ.ค.60   ม.ค.61
โอกาสในการหางานทำในปัจจุบัน                      24.9     25.8     27.6     26.0     26.4     26.4     27.2
โอกาสในการหางานทำในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)       30.1     31.9     33.2     31.7     31.9     31.9     32.8

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                                     ก.ค.60   ส.ค.60   ก.ย.60   ต.ค.60   พ.ย.60   ธ.ค.60   ม.ค.61
การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบัน          54.1     52.4     53.7     53.3     53.6     53.6     54.8
การวางแผนที่จะซื้อรถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า           14.6     14.7     14.0     13.6     13.7     13.7     15.0
การวางแผนที่จะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าคงทน         21.0     19.5     19.4     20.1     19.8    19.8      22.0
ต่างๆ(ยกเว้นบ้านและรถยนต์) ใน 6 เดือนข้างหน้า

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค

เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมกราคม 2561 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาคตะวันออก จาก 42.0 เป็น 43.6 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจาก 46.0 เป็น 47.4 และภาคใต้ จาก 33.3 เป็น 36.1 ขณะที่ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล ภาคกลาง และภาคเหนือ ดัชนีฯ ปรับตัวลดลงจาก 37.7 43.9 และ 40.4 เป็น 36.5 43.7 และ 39.3 ทั้งนี้ ค่าดัชนีฯ ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนยังไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ จากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ส่งผลต่อรายได้เกษตรกร ซึ่งขึ้นอยู่กับราคาผลผลิตทางการเกษตรเป็นหลัก ประกอบกับภาวะน้ำท่วมที่ผ่านมาส่งผลต่อการประกอบอาชีพของประชาชน รวมทั้ง แรงงานมีความกังวลจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ที่อาจทำให้ผู้ประกอบการเลิกจ้างงานในอนาคต

บทสะท้อนจากข้อคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่างๆ

ด้านเศรษฐกิจ

1. แก้ปัญหาเศรษฐกิจ เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

2. สร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน

3. ส่งเสริมและกระตุ้นการส่งออกให้มาก

4. ผลักดันธุรกิจภายในประเทศให้มั่นคง

5. จัดการควบคุมระบบการขาย Online ซึ่งมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ

6. ปฏิรูปเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้เกิดการสร้างงาน

7. แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ

8. ลดค่าน้ำ ค่าไฟ และภาษีทุกชนิด

9. ควบคุมราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็น และเพิ่มภาษีเหล้า-บุหรี่ สินค้าฟุ่มเฟือยให้มากขึ้น

10. ลดค่าครองชีพและกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น

11. แก้ไขความเหลื่อมล้ำ และนโยบายการค้า ให้เอื้อผลประโยชน์กับประชาชนที่อยู่ระดับกลางกับล่าง ลดการผูกขาดทางการค้า และการครองตลาดของกลุ่มทุน

12. ไม่ควรใช้นโยบายประชานิยมแจกเงิน แลกของ ซึ่งไม่ทำให้เศรษฐกิจฐานรากดีขึ้น ควรส่งเสริมให้ประชาชนหารายได้เลี้ยงตนเอง

13. กระตุ้นเศรษฐกิจในระดับล่าง

14. ช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุน

15. ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคเอกชนจากผลกระทบค่าเงินบาทที่แข็งค่า

16. แก้ปัญหาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ จัดหาแหล่งน้ำให้เกษตรกร และหาตลาดให้กลุ่มรายย่อย รวมทั้ง ผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตร

ด้านสังคม

1. ฝึกอบรม และหาอาชีพเสริมให้ผู้มีรายได้น้อย

2. ดูแลความปลอดภัยและความเป็นอยู่ของประชาชนให้มากกว่านี้

3. หางานรองรับนักศึกษาที่จบใหม่ในแต่ละปี

4. ขจัดการคอรัปชั่น และยาเสพติดให้หมดไป

5. รับฟังประชาชนเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

6. ทำให้ประชากรมีคุณภาพ มีการศึกษา

7. บังคับใช้กฏหมายอย่างจริงจังและเป็นธรรมกับทุกคน

8. แก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในวงราชการ เพื่อให้ประเทศชาติพัฒนา

9. แก้ปัญหาหนี้สินของครัวเรือน

10. รัฐบาลควรใช้คนที่มีความรู้ให้เหมาะสมกับงาน

11. จัดหาอาชีพเสริมแก่เกษตรกรนอกฤดูการผลิต สร้างงานในชนบท และเพิ่มทักษะด้านเกษตรเพื่อให้มีความรู้ในการผลิต

12. ช่วยเหลือประชาชนให้มีอาชีพที่มั่นคง ส่งเสริมการสร้างงาน สร้างรายได้ อย่างยั่งยืน

ที่มา: กองสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์

โทรศัพท์ 02-5076554 โทรสาร 02-5075806

http://www.price.moc.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ