รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 2, 2018 10:32 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ปรับตัวลดลง

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2561 จากประชาชนสาขาอาชีพต่างๆ จำนวน 3,587 คน ใน 77 จังหวัด ทั่วประเทศ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ปัจจุบัน และอนาคตมีค่า 40.3 34.0 และ 44.5 ปรับตัวลดลง และต่ำกว่าระดับ 50 สะท้อนว่า ประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นโดยรวม ทั้งปัจจุบัน และอนาคต จากความคิดเห็นที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน และ 3 เดือนข้างหน้า รายได้ในอีก 3 เดือนข้างหน้า การหางานทำในปัจจุบัน และ 3 เดือนข้างหน้า ที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังของประชาชนอีก 3 เดือนข้างหน้า ที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจ และรายได้ ยังสูงกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่า ผู้บริโภคยังคงมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจและรายได้ในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวดีขึ้น

สำหรับ ความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการใช้จ่าย ได้แก่ การใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพเทียบกับเดือนก่อนหน้าและ 3 เดือนที่ผ่านมา ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 53.2 และ 50.5 จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 54.8 และ 51.0 แต่ยังอยู่สูงกว่าระดับ 50 แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังมีความเชื่อมั่นต่อการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ นอกจากนี้ การวางแผนที่จะซื้อรถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าคงทนต่างๆ ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงเล็กน้อย จาก 15.0 และ 22.0 มาอยู่ที่ 14.9 และ 21.0 ตามลำดับ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index)

รายการ                 ส.ค.60   ก.ย.60   ต.ค.60   พ.ย.60   ธ.ค.60   ม.ค.61   ก.พ.61
ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม       38.4     39.5     39.7     40.0     40.6     41.0     40.3

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค  (Consumer Confidence Index)
รายการ                              ส.ค.60   ก.ย.60   ต.ค.60   พ.ย.60   ธ.ค.60   ม.ค.61   ก.พ.61
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน       32.1     33.0     33.0     33.1     33.9     34.9     34.0
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต       42.6     43.9     44.2     44.5     45.0     45.1     44.5

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                          ส.ค.60   ก.ย.60   ต.ค.60   พ.ย.60   ธ.ค.60   ม.ค.61   ก.พ.61
รายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)       48.6     49.7     49.4     50.3     51.0     50.7     50.4

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                                      ส.ค.60   ก.ย.60   ต.ค.60   พ.ย.60   ธ.ค.60   ม.ค.61   ก.พ.61
โอกาสในการหางานทำในปัจจุบัน                      25.8     27.6     26.0     26.4     26.4     27.2     26.3
โอกาสในการหางานทำในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)       31.9     33.2     31.7     31.9     31.9     32.8     32.6

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                                   ส.ค.60   ก.ย.60   ต.ค.60   พ.ย.60   ธ.ค.60   ม.ค.61   ก.พ.61
การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบัน        52.4     53.7     53.3     53.6     53.6     54.8     53.2
การวางแผนที่จะซื้อรถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า         14.7     14.0     13.6     13.7     13.7     15.0     14.9
การวางแผนที่จะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าคงทน       19.5     19.4     20.1     19.8     19.8     22.0     21.0
ต่างๆ(ยกเว้นบ้านและรถยนต์) ใน 6 เดือนข้าง

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค

เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาคกลาง และภาคเหนือ จาก 43.7 และ 39.3 เป็น 44.8 และ 39.4 ตามลำดับ สำหรับภาคตะวันออก ดัชนีฯ ไม่เปลี่ยนแปลง อยู่ที่ 43.6 ขณะที่ กรุงเทพฯและปริมณฑล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ดัชนีฯ ปรับตัวลดลงจาก 36.5 47.4 และ 36.1 เป็น 34.6 47.2 และ 33.5 ทั้งนี้ ค่าดัชนีฯ ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนยังไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ จากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น ทำให้การซื้อขายสินค้ามีราคาสูงขึ้น การค้าขายไม่ดี การจับจ่ายใช้สอยน้อยลง ค่าครองชีพสูงขึ้น รายรับไม่เพียงพอกับรายจ่าย เนื่องจากรายได้เท่าเดิมแต่ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น รวมทั้ง ภาคการเกษตรไม่มีทุนหมุนเวียน ต้นทุนการเกษตรสูงขึ้น และสภาพอากาศแปรปรวน ผลผลิตไม่ดี กอปรกับราคายางลดลง นอกจากนี้ แรงงานยังมีความกังวลต่อการเลิกจ้างจากการขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ และปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้

บทสะท้อนจากข้อคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่างๆ

ด้านเศรษฐกิจ

1. กระตุ้นเศรษฐกิจ

2. เพิ่มค่าแรงงาน / ค่าจ้าง ให้สูงขึ้น

3. ดูแลพืชผลทางการเกษตรให้มีราคาสูงขึ้น

4. แก้ปัญหาปากท้องของประชาชน

5. การแก้ไขปัญหา และดำเนินการกองทุนหมู่บ้านให้จริงจัง

6. ลดค่าครองชีพให้มากที่สุด ควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค

7. ธนาคารควรปล่อยสินเชื่อให้ง่ายขึ้น

8. กระตุ้นการท่องเที่ยว และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว

9. หามาตรการให้ประชาชนใช้จ่ายเพิ่มขึ้น รวมทั้งมาตรการเพิ่มรายได้ เพื่อให้ประชาชนใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้น เงินสะพัดมากขึ้น

10. กระจายรายได้ให้ครอบคลุมประชากรทุกระดับชั้น พร้อมเร่งโครงการ EEC

11. ภาวะภัยแล้งส่งผลต่อภาคการเกษตร

12. ราคาสินค้า ปุ๋ย น้ำมัน อยู่ในระดับสูง

13. สร้างงานสร้างรายได้ ปรับทัศนคติ ใช้ชีวิตแบบพอเพียง ลดการเข้าไปหางานในเมืองหลวง

14. แก้ไขปัญหาการส่งออกสินค้า สร้างสาธารณูปโภค อำนวยความสะดวกด้านการขนส่ง

15. แก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานราก และ SME

ด้านสังคม

1. แก้ระบบบริหารท้องถิ่นให้ดีขึ้น

2. ปัญหาขยะในพื้นที่

3. แก้ปัญหายาเสพติดและคอรัปชั่น

4. รัฐควรตรวจสอบงบประมาณที่จัดสรรในพื้นที่อย่างจริงจัง

5. พัฒนาระบบการทำงานของภาครัฐและเอกชน

6. แก้ปัญหาวัยรุ่นว่างงาน และติดยาเสพติด

7. ป้องกัน และปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ

8. สร้างความรัก ความสามัคคี ของคนทั้งประเทศ

9. แก้ไขการว่างงานของประชาชน

10. รักษาความสงบในประเทศ

ที่มา: กองสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์

โทรศัพท์ 02-5076554 โทรสาร 02-5075806

http://www.price.moc.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ