ดัชนีราคาส่งออก เดือนกุมภาพันธ์ 2561 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2560 สูงขึ้นร้อยละ 4.5 (YoY) ปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ซึ่งเป็นไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าสำคัญ รวมถึงเป็นผลจากการแข็งค่าของเงินบาท เมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐฯ สินค้าส่งออกสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง
ดัชนีราคานำเข้า เดือนกุมภาพันธ์ 2561 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ปรับสูงขึ้นร้อยละ 6.2 (YoY) เป็นผลจากการปรับสูงขึ้นของทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดสินค้าเชื้อเพลิงเป็นหลัก จากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นตามปริมาณผลผลิตโลกที่ลดลง ขณะที่ความต้องการเพิ่มขึ้น รองลงมาคือ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป หมวดสินค้าทุน หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค
ดัชนีราคาส่งออก เดือนกุมภาพันธ์ 2561 เท่ากับ 100.3 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2560 (ปี 2555=100) สูงขึ้นร้อยละ 4.5 (YoY) ปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นจากเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ นอกจากนี้ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สูงขึ้นตามความต้องการของตลาดต่างประเทศสำหรับใช้ในการพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้วยการใช้ระบบอัตโนมัติทดแทนของเดิม หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นจาก ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นจากน้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบ ตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นจาก อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ ตามความต้องการสินค้าเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารที่มีการขยายตัว
ดัชนีราคานำเข้า เดือนกุมภาพันธ์ 2561 เท่ากับ 92.4 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2560 (ปี 2555=100) สูงขึ้นร้อยละ 6.2 (YoY) ปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า โดยได้รับแรงหนุนจากหมวดสินค้าเชื้อเพลิงเป็นหลัก ได้แก่ น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป เนื่องจากประเทศผู้ผลิตน้ำมันปรับลดกำลังการผลิตลงอย่างต่อเนื่อง หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ ทองคำ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์
ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าส่งออกในรูปของดัชนี โดยใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาส่งออกที่ผู้ส่งออกในประเทศไทยได้ส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ทั้งนี้ ราคาส่งออกที่สำรวจเป็นราคา F.O.B (Free On Broad) ครอบคลุม 4 หมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเกษตรกรรม หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร หมวดสินค้าอุตสาหกรรม และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 743 รายการ สรุปได้ดังนี้
1. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2561 เท่ากับ 100.3 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนมกราคม 2560 เท่ากับ 100.1) โดยดัชนีราคาส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ในหมวดสินค้าเกษตรกรรม เท่ากับ 97.8 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร เท่ากับ 108.8 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เท่ากับ 102.4 และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง เท่ากับ 76.2
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2561 เมื่อเทียบกับ
2.1 เทียบกับเดือนมกราคม 2560 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.2 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าส่งออกจำแนกตามรายหมวดสินค้า ดังนี้
หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง สูงขึ้นเนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง ประกอบกับความต้องการนำเข้ามันสำปะหลังจากจีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สำหรับยางพารา สูงขึ้นเล็กน้อยตามทิศทางค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น รวมถึงผลจากมาตรการแก้ไขปัญหายางพาราของหน่วยงานภาครัฐฯ ที่เป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของราคายาง สำหรับไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง สูงขึ้นตามความต้องการของตลาดต่างประเทศ และต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ และอาหารสัตว์เลี้ยง หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ตามความต้องการสินค้าจากตลาดต่างประเทศ สำหรับเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สูงขึ้นจากการลดปริมาณกำลังการผลิตส่วนเกิน ประกอบกับมีการสั่งห้ามผลิตเหล็กที่มีคุณภาพต่ำของจีน ขณะที่แนวโน้มความต้องการในตลาดยังคงเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สูงขึ้นตามความต้องการของตลาดต่างประเทศ ขณะที่หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิงปรับตัวลดลง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบ เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
2.2 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2560 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 4.5 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าส่งออกจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้
ดัชนีราคาส่งออกปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็งและแห้ง สินค้าปศุสัตว์ (ไก่) สินค้าประมง (กุ้ง ปลาหมึก ปลา) หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ และอาหารสัตว์เลี้ยง หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ทองคำ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สิ่งทอ และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบ
2.3 เทียบเฉลี่ยกับเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2560 (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 4.6 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้
ดัชนีราคาส่งออกปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง กุ้งสด แช่เย็นแช่แข็ง ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ อาหารสัตว์เลี้ยง หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ทองคำ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ยาง และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบ โดยสาเหตุหลักที่ราคาสินค้าส่งออกปรับสูงขึ้น เป็นผลจากความต้องการของตลาดต่างประเทศมีอย่างต่อเนื่อง และแนวโน้มราคาน้ำมันตลาดโลกปรับสูงขึ้น
ทั้งนี้ แนวโน้มดัชนีราคาส่งออก ปี 2561 คาดว่าจะมีทิศทางสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้การส่งออกของไทยขยายตัวได้ดีในหลายกลุ่มสินค้าและตลาดสำคัญ ประกอบกับหน่วยงานภาครัฐฯ ได้เข้ามาดูแลราคาสินค้าเกษตรให้มีเสถียรภาพมากขึ้น รวมถึงราคาน้ำมันที่เริ่มกลับเข้าสู่สมดุล ส่งผลให้สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ มีแนวโน้มของราคาสูงขึ้น ได้แก่ ข้าว ยางพารา เหล็ก น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการส่งออกของไทยยังคงมีอยู่ เช่น ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของประเทศคู่ค้า ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน เป็นต้น
ดัชนีราคานำเข้าของประเทศ แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้านำเข้าที่ผู้นำเข้าในประเทศไทยได้จ่ายไปเพื่อนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ราคานำเข้าที่สำรวจเป็นราคา C.I.F. (Cost, Insurance และ Freight) ครอบคลุม 5 หมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเชื้อเพลิง หมวดสินค้าทุน หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 751 รายการ สรุปได้ดังนี้
1. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2561 เท่ากับ 92.4 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนมกราคม 2561 เท่ากับ 92.2) โดยดัชนีราคานำเข้าเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ในหมวดสินค้าเชื้อเพลิง เท่ากับ 68.6 หมวดสินค้าทุน เท่ากับ 102.4 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เท่ากับ 96.9 หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค เท่ากับ 102.7 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง เท่ากับ 98.5
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2561 เมื่อเทียบกับ
2.1 เทียบกับเดือนมกราคม 2561 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.2 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้
หมวดสินค้านำเข้าที่ดัชนีปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เนื่องจากราคาเหล็กจากจีนปรับสูงขึ้นตามนโยบายลดกำลังการผลิตส่วนเกินและควบคุมให้คุณภาพเหล็กดีขึ้น สำหรับทองคำ อุปกรณ์และส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สินแร่โลหะ รวมทั้งหมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์โลหะ หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ปรับตัวสูงขึ้นตามการอ่อนค่าของเงินเหรียญสหรัฐฯ หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผักและผลไม้ ขณะที่หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ปรับลดลง โดยได้รับแรงกดดันจากกำลังการผลิตและแท่นขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น
2.2 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2560 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 6.2 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้
ดัชนีราคานำเข้าปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม ถ่านหิน และเชื้อเพลิงอื่นๆ หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ ทองคำ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์และส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สินแร่โลหะ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช ด้ายและเส้นใย สัตว์น้ำสด แช่เย็นแช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม สบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผักผลไม้ และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ รถยนต์นั่ง
2.3 เทียบเฉลี่ยกับเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2560 (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 6.5 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้
ดัชนีราคานำเข้าปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม ถ่านหิน และเชื้อเพลิงอื่นๆ หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ ทองคำ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์และส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สินแร่โลหะ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช ด้ายและเส้นใย สัตว์น้ำสด แช่เย็นแช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม สบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผักผลไม้ เครื่องใช้และเครื่องตกแต่งภายในบ้าน และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ รถยนต์นั่ง
ทั้งนี้ แนวโน้มดัชนีราคานำเข้าปี 2561 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยบวกจากราคาสินค้าเชื้อเพลิงซึ่งเป็นสินค้านำเข้าหลักยังคงปรับสูงขึ้น ตามมาตรการปรับลดกำลังการผลิตของประเทศผู้ผลิตน้ำมันทั้งในและนอกกลุ่มโอเปคเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมัน รวมถึงสินค้านำเข้าอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เช่น เคมีภัณฑ์และเม็ดพลาสติก มีแนวโน้มราคาปรับสูงขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ราคายังมีแนวโน้มสูงขึ้นเนื่องจากความต้องการใช้ในตลาดเพิ่มขึ้น ขณะที่จีนซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตมีนโยบายลดกำลังการผลิตส่วนเกินและปรับปรุงคุณภาพสินค้าควบคู่ไปกับการคำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่ดี
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825