ดัชนีราคาส่งออก เดือนมีนาคม 2561 เทียบกับเดือนมีนาคม 2560 สูงขึ้นร้อยละ 4.8 (YoY) ปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผลจากการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้สินค้าส่งออกสำคัญราคาสูงขึ้น ได้แก่ ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง กุ้งสด และไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป
ดัชนีราคานำเข้า เดือนมีนาคม 2561 เทียบกับเดือนมีนาคม 2560 ปรับสูงขึ้นร้อยละ 6.8 (YoY) เป็นผลจากการปรับสูงขึ้นของทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดสินค้าเชื้อเพลิงเป็นหลัก จากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นตามปริมาณผลผลิตโลกที่ลดลง ขณะที่ความต้องการเพิ่มขึ้น รองลงมาคือ หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป หมวดสินค้าทุน และ หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค
ดัชนีราคาส่งออก เดือนมีนาคม 2561 เท่ากับ 100.6 เทียบกับเดือนมีนาคม 2560 (ปี 2555=100) สูงขึ้นร้อยละ 4.8 (YoY) ปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเกษตรกรรมสูงขึ้นจากข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง กุ้งสด และไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง หมวดสินค้าอุตสาหกรรมสูงขึ้นจากเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า นอกจากนี้ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน ตามความต้องการสินค้าจากตลาดต่างประเทศ หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิงสูงขึ้นจากน้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบ ตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรสูงขึ้นจากอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ ตามความต้องการสินค้าเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารที่มีการขยายตัว
ดัชนีราคานำเข้า เดือนมีนาคม 2561 เท่ากับ 92.7 เทียบกับเดือนมีนาคม 2560 (ปี 2555=100) สูงขึ้นร้อยละ 6.8 (YoY) ปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า โดยได้รับแรงหนุนจากหมวดสินค้าเชื้อเพลิงเป็นหลัก ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม และน้ำมันสำเร็จรูป เนื่องจากประเทศผู้ผลิตน้ำมันยังคงปรับลดกำลังการผลิตลงอย่างต่อเนื่อง หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ ทองคำ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ สินแร่โลหะอื่นๆ หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม สบู่ ผงซักฟอก และเครื่องสำอาง
ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าส่งออกในรูปของดัชนี โดยใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาส่งออกที่ผู้ส่งออกในประเทศไทยได้ส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ทั้งนี้ ราคาส่งออกที่สำรวจเป็นราคา F.O.B (Free On Broad) ครอบคลุม 4 หมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเกษตรกรรม หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร หมวดสินค้าอุตสาหกรรม และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 743 รายการ สรุปได้ดังนี้
1. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนมีนาคม 2561 เท่ากับ 100.6 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนกุมภาพันธ์ 2561 เท่ากับ 100.3) โดยดัชนีราคาส่งออกเดือนมีนาคม 2561 ในหมวดสินค้าเกษตรกรรม เท่ากับ 98.8 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร เท่ากับ 108.3 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เท่ากับ 102.6 และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง เท่ากับ 76.6
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนมีนาคม 2561 เมื่อเทียบกับ
2.1 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2561 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.3 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าส่งออกจำแนกตามรายหมวดสินค้า ดังนี้
หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ข้าว เนื่องจากความต้องการนำเข้าข้าวจากตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และจีน นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังสูงขึ้นเนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง ประกอบกับความต้องการนำเข้ามันสำปะหลังจากจีนเพิ่มขึ้นเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบผลิตแอลกอฮอล์ทดแทนข้าวโพดซึ่งมีราคาสูงกว่า และยางพาราสูงขึ้นเล็กน้อยตามทิศทางค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น รวมถึงผลจากมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางทั้งระบบจากหน่วยงานภาครัฐ ประกอบกับบางพื้นที่ปลูกยางพาราของภาคใต้เข้าสู่ฤดูผลัดใบ ทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง สำหรับกุ้งสด แช่เย็นแช่แข็งสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดต่างประเทศ หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ตามความต้องการสินค้าจากตลาดต่างประเทศ เม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์ สูงขึ้นตามความเกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น สำหรับเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สูงขึ้นจากการลดปริมาณกำลังการผลิตส่วนเกิน ขณะที่แนวโน้มความต้องการในตลาดยังคงเพิ่มขึ้น หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบ โดยปัจจัยหลักเป็นผลจากกลุ่มโอเปกและผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกกำหนดทิศทางการปรับลดกำลังการผลิตต่อเนื่องจนถึงปี 2562 เพื่อลดปริมาณน้ำมันดิบส่วนเกินให้กลับมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรปรับตัวลดลง ได้แก่ น้ำตาลทราย เนื่องจากปริมาณผลผลิตในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการมีปริมาณน้อยลง
2.2 เทียบกับเดือนมีนาคม 2560 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 4.8 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าส่งออกจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้
ดัชนีราคาส่งออกปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็งและแห้ง สินค้าปศุสัตว์ (ไก่) สินค้าประมง (กุ้ง ปลาหมึก ปลา) หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์พลาสติก หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบ และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ และอาหารสัตว์เลี้ยง
2.3 เทียบเฉลี่ยกับเดือนมกราคม-มีนาคม 2560 (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 4.7 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้
ดัชนีราคาส่งออกปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง กุ้งสด แช่เย็นแช่แข็ง ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ทองคำ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบ และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ อาหารสัตว์เลี้ยง
โดยสาเหตุหลักที่ราคาสินค้าส่งออกปรับสูงขึ้น เป็นผลจากความต้องการของตลาดต่างประเทศมีอย่างต่อเนื่อง และแนวโน้มราคาน้ำมันตลาดโลกปรับสูงขึ้น
ทั้งนี้ แนวโน้มดัชนีราคาส่งออกไตรมาสที่ 2 ของปี 2561 คาดว่าจะมีทิศทางสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้การส่งออกของไทยขยายตัวได้ดีในหลายกลุ่มสินค้าและตลาดสำคัญ ประกอบกับหน่วยงานภาครัฐ ได้เข้ามาดูแลราคาสินค้าเกษตรให้มีเสถียรภาพมากขึ้น รวมถึงราคาน้ำมันที่เริ่มกลับเข้าสู่สมดุล ส่งผลให้สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มของราคาสูงขึ้น ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลังเหล็ก น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการส่งออกของไทยยังคงมีอยู่ เช่น ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของประเทศคู่ค้า แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท และสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน เป็นต้น
ดัชนีราคานำเข้าของประเทศ แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้านำเข้าที่ผู้นำเข้าในประเทศไทยได้จ่ายไปเพื่อนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ราคานำเข้าที่สำรวจเป็นราคา C.I.F. (Cost, Insurance และ Freight) ครอบคลุม 5 หมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเชื้อเพลิง หมวดสินค้าทุน หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 751 รายการ สรุปได้ดังนี้
1. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนมีนาคม 2561 เท่ากับ 92.7 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนกุมภาพันธ์ 2561 เท่ากับ 92.4) โดยดัชนีราคานำเข้าเดือนมีนาคม 2561 ในหมวดสินค้าเชื้อเพลิง เท่ากับ 68.9 หมวดสินค้าทุน เท่ากับ 102.7 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เท่ากับ 97.3 หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค เท่ากับ 102.9 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง เท่ากับ 99.0
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนมีนาคม 2561 เมื่อเทียบกับ
2.1 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2561 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.3 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้
ดัชนีราคานำเข้าปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สัตว์น้ำสด แช่เย็นแช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศที่ฟื้นตัว ทำให้อัตรากำลังการผลิตเพิ่มขึ้น หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม และน้ำมันสำเร็จรูป โดยรับแรงหนุนจากความร่วมมือระหว่างกลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันลง รวมทั้งเหตุการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่เพิ่มมากขึ้น หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน
2.2 เทียบกับเดือนมีนาคม 2560 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 6.8 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้
ดัชนีราคานำเข้าปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม น้ำมันสำเร็จรูป เชื้อเพลิงอื่นๆ และถ่านหิน หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ ทองคำ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สินแร่โลหะอื่นๆ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ สัตว์น้ำสด แช่เย็นแช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ รถยนต์นั่ง และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม สบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ
2.3 เทียบเฉลี่ยกับเดือนมกราคม-มีนาคม 2560 (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 6.6 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้
ดัชนีราคานำเข้าปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซปิโตรเลียมธรรมชาติ น้ำมันสำเร็จรูป เชื้อเพลิงอื่นๆ และถ่านหิน หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ ทองคำ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สินแร่โลหะอื่นๆ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ สัตว์น้ำสด แช่เย็นแช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ รถยนต์นั่ง และหมวดสินค้าอุปโภคและบริโภค ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม สบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผักและผลไม้
ทั้งนี้ แนวโน้มดัชนีราคานำเข้าไตรมาสที่ 2 ของปี 2561 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยบวกจากราคาสินค้าเชื้อเพลิงซึ่งเป็นสินค้านำเข้าหลักยังคงปรับสูงขึ้นจากความตกลงร่วมมือกันระหว่างกลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน รวมทั้งสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่เพิ่มมากขึ้น และรวมถึงสินค้านำเข้าอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เช่น เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก เป็นต้น คาดว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นกัน สำหรับเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ราคายังมีแนวโน้มสูงขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกส่งผลให้ความต้องการในตลาดสูงขึ้น ขณะที่จีนซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตรายใหญ่มีนโยบายลดกำลังการผลิตส่วนเกินและปรับปรุงคุณภาพสินค้าควบคู่ไปกับการคำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่ดี นอกจากนี้ คาดว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทจะยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย อาจเป็นปัจจัยเสริมที่จะทำให้ดัชนีราคานำเข้าในรูปเงินเหรียญสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้นได้
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825