รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมีนาคม 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 25, 2018 13:56 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมีนาคม 2561 ปรับตัวลดลงเล็กน้อย

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมีนาคม 2561 จากประชาชนสาขาอาชีพต่างๆ จำนวน 3,587 คน ใน 77 จังหวัด ทั่วประเทศ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของประเทศ เดือนมีนาคม 2561 อยู่ที่ระดับ 40.0 ปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 40.3 ดัชนีฯ ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 เดือน (นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 - มกราคม 2561) รวมทั้ง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตปรับตัวลดลง อยู่ที่ระดับ 43.8 จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 44.5 จากความคาดหวัง ในอีก 3 เดือนข้างหน้าต่อภาวะเศรษฐกิจ รายได้ และการหางานทำ ปรับตัวลดลง ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 34.0 มาอยู่ที่ 34.3 จากภาวะเศรษฐกิจ และการหางานทำ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 41.6 และ 26.3 เป็น 41.9 และ 26.7 ตามลำดับ ทั้งนี้ ดัชนีฯ ยังมีค่าต่ำกว่าระดับ 50 สะท้อนว่า ประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นโดยรวม ปัจจุบัน และอนาคต

สำหรับ ความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการใช้จ่าย ได้แก่ การใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภค ที่จำเป็นต่อการครองชีพเทียบกับ 3 เดือนที่ผ่านมา และการวางแผนซื้อรถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลง จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 50.5 และ 14.9 มาอยู่ที่ 49.8 และ 14.4 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 52.5 จากเดือนก่อนหน้า ที่ระดับ 53.2 ยังคงสูงกว่าระดับ 50 แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังมีความเชื่อมั่นต่อการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ ขณะที่การวางแผนที่จะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าคงทนต่างๆ ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า แม้จะปรับตัวเพิ่มขึ้น จาก 21.0 มาอยู่ที่ 22.2 แต่ค่าดัชนีฯ ยังมีค่าต่ำกว่าระดับ 50 อยู่มาก สะท้อนว่า ประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อการใช้จ่ายในสินค้าคงทนต่างๆ ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า

เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม 2561 ภาคเหนือ ปรับตัวสูงขึ้น เป็นเดือนที่ 2 ที่ระดับ 40.2 จากเดือนก่อนหน้าที่ 39.4 สำหรับแนวโน้มดัชนีฯ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และภาคใต้ คาดว่าอาจปรับลดลงเล็กน้อย จากค่าครองชีพที่ยังเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับราคายางพารายังคงตกต่ำ และยังไม่มีปัจจัยใหม่ๆ ออกมาสนับสนุนเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคกลาง ปรับตัวลดลงหลังจากที่สูงขึ้นในเดือนก่อนหน้า ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 45.0 ปรับตัวสูงขึ้น จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 43.6 และสูงสุดในรอบ 39 เดือน นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2557 ที่อยู่ระดับ 47.4 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปรับตัวสูงขึ้นที่ระดับ 47.6 จากเดือนก่อนหน้าที่ 47.2 ซึ่งสูงสุด ในรอบ 41 เดือน นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 ทั้งนี้ คาดว่า ดัชนีฯ ทั้ง 3 ภาค ยังคงมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากโครงการกระตุ้นจากภาครัฐ เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่จะช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยได้พัฒนาตนเอง ด้วยการเพิ่มโอกาสในการทำงานและสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน อีกทั้ง โครงการไทยนิยมยั่งยืนที่น่าจะสามารถยกระดับเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมการค้า การลงทุน ที่มีแนวโน้มดีขึ้น ทั้งนี้ ค่าดัชนีฯ ของทุกภาคยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนยังไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ โดยให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น ครัวเรือนยังมีข้อจำกัดด้านการเงินและขาดสภาพคล่อง การเพิ่มขึ้นของรายจ่าย ขณะที่เงินเดือนยังเท่าเดิม ส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่าย และกระทบต่อภาคการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index)

รายการ               ก.ย.60   ต.ค.60   พ.ย.60   ธ.ค.60   ม.ค.61   ก.พ.61   มี.ค.61
ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม     39.5     39.7     40.0     40.6     41.0     40.3     40.0

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค  (Consumer Confidence Index)

รายการ                            ก.ย.60   ต.ค.60   พ.ย.60   ธ.ค.60   ม.ค.61   ก.พ.61   มี.ค.61
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน     33.0     33.0     33.1     33.9     34.9     34.0     34.3
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต     43.9     44.2     44.5     45.0     45.1     44.5     43.8

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ

รายการ                        ก.ย.60   ต.ค.60   พ.ย.60   ธ.ค.60   ม.ค.61   ก.พ.61   มี.ค.61
รายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)     49.7     49.4     50.3     51.0     50.7     50.4     49.9

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ

รายการ                                    ก.ย.60   ต.ค.60   พ.ย.60   ธ.ค.60   ม.ค.61   ก.พ.61   มี.ค.61
โอกาสในการหางานทำในปัจจุบัน                   27.6      26.0     26.4     26.4     27.2     26.3     26.7
โอกาสในการหางานทำในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)    33.2      31.7     31.9     31.9     32.8     32.6     32.2

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ

รายการ                                   ก.ย.60   ต.ค.60   พ.ย.60   ธ.ค.60   ม.ค.61   ก.พ.61   มี.ค.61
การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบัน        53.7     53.3     53.6     53.6     54.8     53.2     52.5
การวางแผนที่จะซื้อรถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า         14.0     13.6     13.7     13.7     15.0     14.9     14.4
การวางแผนที่จะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าคงทน       19.4     20.1     19.8     19.8     22.0     21.0     22.2
ต่างๆ(ยกเว้นบ้านและรถยนต์) ใน 6 เดือนข้างหน้า

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค

เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม 2561 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 34.6 39.4 43.6 และ 47.2 เป็น 34.7 40.2 45.0 และ 47.6 ตามลำดับ ขณะที่ ภาคกลาง และภาคใต้ ดัชนีฯ ปรับตัวลดลงจาก 44.8 และ 33.5 เป็น 44.0 และ 29.9 ตามลำดับ ทั้งนี้ ค่าดัชนีฯ ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนยังไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ โดยให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจไม่ดีขึ้น และแย่ลง ครัวเรือนยังติดขัดเรื่องการเงิน และประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากสินค้าอาหารและของใช้ยังคงราคาสูง ประชาชนมีค่าใช้จ่าย และรายจ่ายเพิ่มมากขึ้น ขณะที่เงินเดือนเท่าเดิม ผู้บริโภคใช้จ่ายน้อยลง จากกำลังซื้อที่น้อยลง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีกำลังซื้อ ส่งผลให้การค้าขายไม่ดี ขายของได้น้อยลงและยากขึ้น ผู้คนไม่ค่อยใช้จ่าย และการเข้ามาติดต่องานน้อยลง รวมทั้ง สินค้าทางการเกษตรบางชนิดราคาตกต่ำ ยางพาราราคาถูก ประกอบกับ การเมืองของประเทศยังไม่มีความแน่นอน

บทสะท้อนจากข้อคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่างๆ

ด้านเศรษฐกิจ

1. ควบคุมราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค ปรับราคาสินค้าให้ลดลงมากที่สุด แก้ไขราคาสินค้าทั้งหมดให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจ และค่าครองชีพในปัจจุบัน เช่น ลดค่าอาหารประจำวัน ค่าสาธารณูปโภค ควบคุมราคาสินค้าที่ผู้จำหน่ายเอาเปรียบประชาชน

2. เพิ่มราคาผลผลิตทางการเกษตร ให้มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และมะพร้าว แก้ปัญหาราคาปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ให้ลดลง ดูแลราคาสินค้าเกษตรให้ดีขึ้น นอกจากนี้ ควรส่งเสริมการแปรรูป เพิ่มมูลค่า และสนับสนุนการจำหน่ายสินค้าเกษตร เพื่อรายได้เกษตรกรที่ดีขึ้น มีการเยียวยาเกษตรกรจากสถานการณ์ภัยแล้ง การเข้าถึงแหล่งเงินทุน มีมาตรการผ่อนปรนให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อได้ง่ายขึ้น รวมทั้งปัญหาหนี้สินเกษตรกร

3. แก้ปัญหาค่าครองชีพให้สอดคล้องกับรายได้ของบุคคล ปัญหาปากท้อง และหนี้สินหนี้ครัวเรือน ช่วยการทำมาหากินของประชาชน เพื่อให้ประชาชนอยู่ได้

4. กระตุ้นเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ส่งเสริมภาคเอกชน เศรษฐกิจระดับรากหญ้า เพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐ สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการกระจายรายได้ แก้ไขปัญหาการค้าขายซบเซา ไม่ใช้นโยบายแจกเงินประชาชน ควรส่งเสริมให้ประชาชนนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงชีวิต ขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงอย่างจริงจัง และเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจให้ดีขึ้น

ด้านสังคม

1. ปัญหาการว่างงาน และนักศึกษาจบใหม่ว่างงาน เนื่องจากงานทำให้เกิดรายได้ ลดปัญหาการลักเล็กขโมยน้อย ทำให้ทุกคนมีงานทำ ส่งเสริมให้มีอาชีพ รวมทั้งการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว

2. เสถียรภาพทางการเมือง ปัญหาผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ แก้ไขจัดการเลือกตั้งให้มีความโปร่งใสยุติธรรม สร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างประเทศ ทำให้การลงทุนจากต่างชาติมีมากขึ้น และมีทีมที่มีศักยภาพในการบริหารงานด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งส่งเสริมเกษตรกรให้ผลิตสินค้าที่ได้คุณภาพ เพื่อให้เศรษฐกิจดีขึ้น และสร้างความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ ช่วยกันพัฒนาประเทศ ไม่คอรัปชั่น และปฏิรูปกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ

3. ปราบปรามการทุจริตในวงราชการทั้งระบบ รวมทั้งปฏิรูประบบข้าราชการ และตรวจสอบความโปร่งใสในการทำงานของรัฐบาล

ที่มา: กองสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์

โทรศัพท์ 02-5076554 โทรสาร 02-5075806

http://www.price.moc.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ