ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนพฤษภาคม 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 1, 2018 13:40 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงราคาในรูปของดัชนี เพื่อใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าที่ผู้ผลิตได้รับ ครอบคลุม 3 หมวด คือ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จากการสำรวจและประมวลผลราคาสินค้าที่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ผลิตจำหน่ายทั่วประเทศ มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 596 รายการ สรุปผลได้ดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนพฤษภาคม 2561 (ปี 2553 = 100) มีค่าเท่ากับ 103.0 (เดือนเมษายน 2561 เท่ากับ 102.0)

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ เดือนพฤษภาคม 2561 เมื่อเทียบกับ

2.1 เดือนเมษายน 2561 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 1.0 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าทั้ง 3 หมวดหลัก คือ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ร้อยละ 1.5 สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น กลุ่มผลผลิตการเกษตร ได้แก่ ข้าวเปลือก หัวมันสำปะหลังสด ถั่วเหลือง จากความต้องการของตลาดยังมีอย่างต่อเนื่อง ผลปาล์มสด มาตรการเพิ่มความต้องการใช้ด้านพลังงานและผลักดันการส่งออก ยางพารา (น้ำยางข้น ยางแผ่นดิบ เศษยาง) ผลผลิตออกน้อยจากฝนตกชุกในพื้นที่กรีดยาง พืชผัก (แตงกวา มะเขือ ข้าวโพดฝักอ่อน พริกสด กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว ผักชี ผักกาดหัว ผักขึ้นฉ่าย กะหล่ำดอก ฟักทอง แตงร้าน มะระจีน) ผลไม้ (กล้วยน้ำว้า มะพร้าวอ่อน ส้มเขียวหวาน เงาะ กล้วยไข่) สุกร/ไก่มีชีวิต และไข่ไก่ จากสภาพอากาศที่แปรปรวนผลผลิตออกสู่ตลาดไม่มากนัก โดยเฉพาะพืชผักบางชนิดเน่าเสียง่าย สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง กลุ่มปลาและสัตว์น้ำ (ปลาดุก ปลาลัง กุ้งแวนนาไม) หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 5.0 สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้นได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และก๊าซธรรมชาติ ปรับตามภาวะตลาดโลก และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.8 สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น กลุ่มอาหาร ได้แก่ ปลาหมึกแช่แข็ง ตามราคาวัตถุดิบที่ปรับสูงขึ้น น้ำมันปาล์มดิบ/บริสุทธิ์ จากการรับซื้อไปผลิตไบโอดีเซลเพิ่มขึ้น กากถั่วเหลือง ข้าวสารเจ้า ข้าวนึ่ง และปลายข้าว ปริมาณผลผลิตน้อยและความต้องการของตลาดยังมีอย่างต่อเนื่อง กลุ่มสิ่งทอ ได้แก่ ผ้าใยสังเคราะห์ ผ้าฝ้าย และผ้าดิบ กลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันเตา และน้ำมันก๊าด การปรับลดกำลังการผลิตของประเทศผู้ผลิตน้ำมันประกอบกับแรงกดดันของสหรัฐฯ ต่อเวเนซูเอลาและอิหร่าน ส่งผลให้อุปทานลดลง ผลิตภัณฑ์ยาง ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน และยางแท่ง ผู้ประกอบการมีความต้องการรับซื้อเพื่อส่งมอบ กลุ่มอโลหะ ได้แก่ อิฐก่อสร้าง ปูนซีเมนต์ และคอนกรีตสำเร็จรูป เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ (ฮาร์ดดิสไดร์ฟ)

2.2 เดือนพฤษภาคม 2560 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 0.7 สาเหตุจากดัชนีราคาหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.7 จากสินค้ากลุ่มหนังฟอก ผลิตภัณฑ์หนังและรองเท้า (ร้อยละ 0.4) เยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษและสิ่งพิมพ์ (ร้อยละ 1.5) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 15.6) เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี (ร้อยละ 1.0) ผลิตภัณฑ์อโลหะ (ร้อยละ 0.7) โลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์โลหะ (ร้อยละ 1.9) เครื่องจักร ส่วนประกอบและอุปกรณ์ (ร้อยละ 0.8) ยานพาหนะและอุปกรณ์ (ร้อยละ 0.1) และหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 9.2 จากสินค้ากลุ่มลิกไนต์ ปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ (ร้อยละ 11.2) ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และก๊าชธรรมชาติ ขณะที่หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 1.2 จากกลุ่มสินค้าผลผลิตการเกษตร (ร้อยละ -0.3) สัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ (ร้อยละ -3.7) ปลาและสัตว์น้ำ (ร้อยละ -3.0) ขณะที่สินค้าบางรายการราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หัวมันสำปะหลังสด พืชผัก (มะนาว กะหล่ำปลี ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง ถั่วฝักยาว) อาหารทะเล (ปลาทูสด ปลาลัง ปลากะพง ปลาจาระเม็ด กุ้งทะเล ปลาหมึกกล้วย หอยแครง)

2.3 เทียบเฉลี่ยเดือน ม.ค. – พ.ค. ปี 2561 กับระยะเดียวกันปี 2560 ลดลงร้อยละ 1.0 1.0 โดยหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 4.7 จากกลุ่มสินค้าผลผลิตการเกษตร (ร้อยละ -4.7) สัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ (ร้อยละ -7.2) ปลาและสัตว์น้ำ (ร้อยละ -1.1) และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.6 จากการลดลงของราคาสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่มและยาสูบ (ร้อยละ -1.4) สิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ (ร้อยละ -0.2) ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ (ร้อยละ -1.2) ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก (ร้อยละ -8.4) เครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ -2.7) และสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ (ร้อยละ -0.8) ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 4.1 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้ากลุ่มลิกไนต์ ปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ (ร้อยละ 4.9)

ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงราคาในรูปของดัชนี เพื่อใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าที่ผู้ผลิตได้รับ ครอบคลุม 3 หมวด คือ หมวดสินค้าสำเร็จรูป หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และหมวดสินค้าวัตถุดิบ จากการสำรวจและประมวลผลราคาสินค้าที่เกษตรกร ผู้ประกอบการและผู้ผลิตจำหน่ายทั่วประเทศ มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 596 รายการ สรุปผลได้ดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศชุดแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) ประกอบด้วย ดัชนีราคาหมวดสินค้าสำเร็จรูป หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และหมวดสินค้าวัตถุดิบ (ปี 2553 = 100) เดือนพฤษภาคม 2561 ดัชนีราคาเท่ากับ 103.4 , 103.1 และ 99.4 ตามลำดับ

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศชุดแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP) เดือนพฤษภาคม 2561 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2561 หมวดสินค้าสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 0.5 หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) สูงขึ้นร้อยละ 1.3 และ หมวดสินค้าวัตถุดิบ สูงขึ้นร้อยละ 3.2

3. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศชุดแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP) เดือนพฤษภาคม2561 เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2560 หมวดสินค้าสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 0.5 หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) สูงขึ้นร้อยละ 2.6 และหมวดสินค้าวัตถุดิบ สูงขึ้นร้อยละ 3.1

4. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศชุดแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP) เฉลี่ยเดือนมกราคม –พฤษภาคม 2561 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 หมวดสินค้าสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 1.1 หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป)ไม่เปลี่ยนแปลง และหมวดสินค้าวัตถุดิบ ลดลงร้อยละ 2.4

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2507 5808 โทรสาร. 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ