ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนมิถุนายน 2561 และระยะ 6 เดือนแรกของปี 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 2, 2018 10:25 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงราคาในรูปของดัชนี เพื่อใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าที่ผู้ผลิตได้รับ ครอบคลุม 3 หมวด คือ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จากการสำรวจและประมวลผลราคาสินค้าที่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ผลิตจำหน่ายทั่วประเทศ มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 596 รายการ สรุปผลได้ดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนมิถุนายน 2561 (ปี 2553 = 100) มีค่าเท่ากับ 103.2 (เดือนพฤษภาคม 2561 เท่ากับ 103.0)

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ เดือนมิถุนายน 2561 เมื่อเทียบกับ

2.1 เดือนพฤษภาคม 2561 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.2 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ร้อยละ 0.3 สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น กลุ่มอาหาร ได้แก่ ข้าวสารเจ้า เนื่องจากผู้ประกอบการมีความต้องการเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น น้ำมันปาล์มดิบ/บริสุทธิ์ กากถั่วเหลือง มันเส้น มันอัดเม็ด แป้งมันสำปะหลัง ปลาหมึกแช่แข็ง ตามราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น และน้ำตาลทราย จากอ้อยมีคุณภาพกว่าปีที่ผ่านมาส่งผลให้ราคาดีขึ้น กลุ่มเยื่อกระดาษ ได้แก่ เยื่อกระดาษ กล่องกระดาษ กลุ่มเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ได้แก่ เหล็กแผ่น เหล็กเส้นและเหล็กฉาก กลุ่มเครื่องจักร ได้แก่ เครื่องสูบน้ำ รถไถนา ปรับตามต้นทุนที่สูงขึ้น กลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันเตา และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ขณะที่น้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล ราคาปรับลดลงไม่มากนักจากอุปทานน้ำมันสำเร็จรูปในภูมิภาคที่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 0.3 สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง กลุ่มผลผลิตการเกษตร ได้แก่ หัวมันสำปะหลังสด คุณภาพของหัวมันสำปะหลังลดลงส่งผลให้เชื้อแป้งต่ำ ยางพารา (น้ำยางข้น ยางแผ่นดิบ) ปริมาณออกสู่ตลาดมากขึ้น พืชผัก (มะนาว ผักกาดขาว พริกชี้ฟ้าสด หน่อไม้ฝรั่ง แตงร้าน) ผลไม้ (กล้วยน้ำว้า สับปะรด เงาะ มังคุด กล้วยไข่) เป็นช่วงฤดูกาลผลผลิตของผัก/ผลไม้บางชนิด สุกร/ไก่มีชีวิต ราคาเคลื่อนไหวไม่มากนักจากปริมาณผลผลิตใกล้เคียงกับความต้องการบริโภค และหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 0.5 สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และก๊าซธรรมชาติ ปรับตามภาวะตลาดโลก

2.2 เดือนมิถุนายน 2560 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 1.8 สาเหตุจากดัชนีราคาหมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.2 จากกลุ่มสินค้าผลผลิตการเกษตร (ร้อยละ 1.3) ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลังสด หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 10.9 จากสินค้ากลุ่มลิกไนต์ ปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ (ร้อยละ 13.1) ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และก๊าชธรรมชาติ กลุ่มแร่โละ ได้แก่ ตะกั่วและสังกะสี และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.7 จากสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่มและยาสูบ (ร้อยละ 0.3) หนังฟอก ผลิตภัณฑ์หนังและรองเท้า (ร้อยละ 0.3) เยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษและสิ่งพิมพ์ (ร้อยละ 1.7) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 22.5) เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี (ร้อยละ 2.2) ผลิตภัณฑ์อโลหะ (ร้อยละ 0.7) โลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์โลหะ (ร้อยละ 2.1) เครื่องจักร ส่วนประกอบและอุปกรณ์ (ร้อยละ 1.4) ยานพาหนะและอุปกรณ์ (ร้อยละ 0.1)

2.3 เทียบเฉลี่ยเดือน ม.ค. – มิ.ย. ปี 2561 กับระยะเดียวกันปี 2560 ลดลงร้อยละ 0.5 โดยสินค้าสำคัญที่ส่งผลให้ดัชนีราคาลดลง ได้แก่ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 3.9 จากกลุ่มสินค้าผลผลิตการเกษตร (ร้อยละ -3.7) สัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ (ร้อยละ -6.7) ปลาและสัตว์น้ำ (ร้อยละ -1.1) และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.2 จากการลดลงของราคาสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่มและยาสูบ (ร้อยละ -1.0) สิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ (ร้อยละ -0.2) ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ (ร้อยละ -1.3) ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก (ร้อยละ -7.3) เครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ -2.5) และสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ (ร้อยละ -0.9) ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 5.1 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้ากลุ่มลิกไนต์ ปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ (ร้อยละ 6.1)

ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงราคาในรูปของดัชนี เพื่อใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าที่ผู้ผลิตได้รับ ครอบคลุม 3 หมวด คือ หมวดสินค้าสำเร็จรูป หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และหมวดสินค้าวัตถุดิบ จากการสำรวจและประมวลผลราคาสินค้าที่เกษตรกร ผู้ประกอบการและผู้ผลิตจำหน่ายทั่วประเทศ มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 596 รายการ สรุปผลได้ดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศชุดแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) ประกอบด้วย ดัชนีราคาหมวดสินค้าสำเร็จรูป หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และหมวดสินค้าวัตถุดิบ (ปี 2553 = 100) เดือนมิถุนายน 2561 ดัชนีราคาเท่ากับ 103.5 , 103.6 และ 99.7 ตามลำดับ

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศชุดแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP) เดือนมิถุนายน 2561 เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2561 หมวดสินค้าสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 0.1 หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) สูงขึ้นร้อยละ 0.5 และ หมวดสินค้าวัตถุดิบ สูงขึ้นร้อยละ 0.3

3. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศชุดแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP) เดือนมิถุนายน2561 เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2560 หมวดสินค้าสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 0.2 หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) สูงขึ้นร้อยละ 5.1 และหมวดสินค้าวัตถุดิบ สูงขึ้นร้อยละ 5.8

4. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศชุดแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP) เฉลี่ยเดือนมกราคม –มิถุนายน 2561 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 หมวดสินค้าสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 0.9 หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) สูงขึ้นร้อยละ 0.9 และหมวดสินค้าวัตถุดิบ ลดลงร้อยละ 1.0

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2507 5808 โทรสาร. 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ