ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือน กันยายน 2561 และเฉลี่ยระยะ 9 เดือนของปี 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 1, 2018 14:16 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนกันยายน 2561 เท่ากับ 102.57 เมื่อเทียบกับระยะเวลา การเปลี่ยนแปลง ร้อยละ
          1. เดือนสิงหาคม 2561 (MoM)                สูงขึ้น   0.29
          2. เดือนกันยายน 2560 (YoY)                สูงขึ้น   1.33
          3. เฉลี่ย 9 เดือน 2561 (AoA)               สูงขึ้น   1.14

(ม.ค. - ก.ย. 2561)/(ม.ค. - ก.ย. 2560)

ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนกันยายน 2561 เทียบกับเดือนกันยายน 2560 สูงขึ้น 1.33 (YoY) สูงขึ้นต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมาในอัตราที่ชะลอตัวลง (เดือนสิงหาคม 2561 สูงขึ้น 1.62) โดยหมวดพลังงานสูงขึ้นร้อยละ 8.10 และยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ส่วนอาหารสดลดลงร้อยละ -1.16 จากการลดลงของผักและผลไม้เป็นสำคัญ เนื่องจากเป็นช่วงฤดูของผักและผลไม้หลายชนิดออกสู่ตลาดในปริมาณมาก เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวร้อยละ 0.80 (YoY) เฉลี่ยช่วง 9 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-ก.ย.) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยายตัวร้อยละ 1.14 (AoA) ซึ่งอยู่ในกรอบคาดการณ์เงินเฟ้อของกระทรวงพาณิชย์ (ร้อยละ 0.8-1.6) ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวร้อยละ 0.72

1. การเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าสำคัญ ที่ส่งผลให้เงินเฟ้อเดือนกันยายน ปี 2561 สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 0.29 (MoM) (สิงหาคม 2561 สูงขึ้น ร้อยละ 0.26) มีรายละเอียด ดังนี้

หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.28 จากการสูงขึ้นของกลุ่มอาหารสดร้อยละ 0.10 โดย ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้น ร้อยละ 0.46 ตามการสูงขึ้นของข้าวสารเจ้าเป็นสำคัญ เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ร้อยละ 0.45 (เนื้อสุกร ไก่สด ปลาทู กุ้งขาว) ผลไม้สด ร้อยละ 1.13 (มะม่วงส้มเขียวหวาน สับปะรด) ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 0.35 (นมผง นมถั่วเหลือง นมสด ไข่ไก่) นอกจากนี้ อาหารบริโภค-ในบ้านและนอกบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 0.30 และ 0.70 ตามลำดับ ตามการสูงขึ้นของอาหารเช้า ข้าวราดแกง กับข้าวสำเร็จรูป เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.21 (กาแฟสำเร็จรูป น้ำผลไม้ น้ำหวาน) ขณะที่ผักสด ลดลงร้อยละ -3.74 ตามการลดลงของผักกาดขาว กะหล่ำปลี มะเขือ ถั่วฝักยาว ส่งผลให้หมวดผักและผลไม้ ลดลงร้อยละ -0.76 ส่วนเครื่องประกอบอาหาร ลดลงร้อยละ -0.27 ตามการลดลงของกะทิสด ซีอิ๊ว น้ำปลา

หมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.30 ตามการสูงขึ้นของน้ำมันเชื้อเพลิงร้อยละ 2.17 จากการสูงขึ้นของน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภทรวมถึงก๊าซธรรมชาติ (NGV) ส่งผลให้หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ 0.72 นอกจากนี้ หมวดเคหสถาน สูงขึ้นร้อยละ 0.06 จากการสูงขึ้นของผลิตภัณฑ์ซักผ้า น้ำยารีดผ้า เนื่องจากสินค้าหมดโปรโมชั่นในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงค่าเช่าบ้านปรับราคาสูงขึ้น หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ร้อยละ 0.06 ได้แก่ น้ำหอม ยาระงับกลิ่นกาย สบู่ถูตัว หมวดการบันเทิง การอ่าน และการศึกษา สูงขึ้นร้อยละ 0.03 ตามการสูงขึ้นของเครื่องถวายพระ อาหารสัตว์เลี้ยง เครื่องรับโทรทัศน์ สำหรับหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ดัชนีราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.02 (เบียร์ สุรา ไวน์)

2. เทียบเดือนกันยายน 2560 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 1.33 โดยมีการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการ ดังนี้

หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.35 จากการสูงขึ้นของข้าวแป้ง ผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 4.48 ตามการสูงขึ้นของข้าวสารเจ้า ขนมอบ ขนมปังปอนด์ เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 1.98 (ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ เกลือป่น) เครื่องดื่ม ไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.88 (กาแฟและชาสำเร็จรูปพร้อมดื่ม) อาหารบริโภค-ในบ้าน ร้อยละ 0.91 (กับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว) และอาหารบริโภค-นอกบ้าน ร้อยละ 1.92 (ข้าวราดแกง อาหารเช้า อาหารสำเร็จรูป) ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 0.18 (นมผง นมสด นมเปรี้ยว) ขณะที่ผักและผลไม้ ลดลงร้อยละ -6.69 โดยผักสด ลดลงร้อยละ -8.52 (ผักชี ผักคะน้า พริกสด) ผลไม้สด ลดลงร้อยละ -3.84 (เงาะ มะม่วง กล้วยน้ำว้า ลองกอง) เป็นช่วงฤดูกาลผลไม้หลายชนิดเข้าตลาดปริมาณมาก สำหรับหมวดเนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ดัชนีราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง

หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.90 ตามการสูงขึ้นของหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ร้อยละ 3.86 โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง สูงขึ้นถึงร้อยละ 11.98 ตามการสูงขึ้นของน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท และค่าโดยสารสาธารณะ สูงขึ้นร้อยละ 0.69 หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 3.86 (บุหรี่ เบียร์ สุรา ไวน์) หมวดเคหสถาน สูงขึ้นร้อยละ 0.67 (ค่าเช่าบ้าน ก๊าซหุงต้ม ค่าแรงช่างทาสี) เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.44 (ค่าเครื่องแบบนักเรียน) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.59 (ค่าแต่งผม ยาและเวชภัณฑ์) หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ สูงขึ้นร้อยละ 0.31 สำหรับการสื่อสาร ลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.07

3. เฉลี่ย 9 เดือนของปี 2561 (ม.ค. - ก.ย. 2561) เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ม.ค. - ก.ย. 2560) (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 1.14 โดยมีการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการ ดังนี้

หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 0.30 ตามการสูงขึ้นของข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 1.97 โดยเฉพาะข้าวสารเจ้าและขนมอบ ผักสด ร้อยละ 0.61 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.42 อาหารบริโภค-ในบ้าน และนอกบ้าน ร้อยละ 1.15 และ 1.19 ตามลำดับ ส่วนสินค้าสำคัญที่ราคาลดลงได้แก่ เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ ร้อยละ -1.02 จากการลดลงของ เนื้อสุกร ไก่สด และปลาน้ำจืด เป็นสำคัญ ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ -0.78 ผักและผลไม้ ร้อยละ -2.05 จากการลดลงของผลไม้สด ร้อยละ -1.52 และเครื่องประกอบอาหาร ลดลงร้อยละ -0.17 หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.63 จากการสูงขึ้นของหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ร้อยละ 2.54 ตามการสูงขึ้นของน้ำมันเชื้อเพลิงร้อยละ 7.54 หมวดเคหสถาน ร้อยละ 1.19 (ก๊าซหุงต้ม ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน) หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 5.68 (บุหรี่ เบียร์ ไวน์ สุรา) นอกจากนี้ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.26 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.53 (ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาล) หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ สูงขึ้นร้อยละ 0.41 ขณะที่การสื่อสาร ลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.05

4. คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2561

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 0.8 - 1.6 (YoY)

อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ 4.2 - 4.7 (YoY) (สศช.

ราคาน้ำมันดิบดูไบ ทั้งปี 68-73 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

อัตราการแลกเปลี่ยน ทั้งปี 32 - 34 บาท/เหรียญสหรัฐ

ราคาสินค้าเกษตร (-7.5) - (-6.5) %

การบริโภคภาคเอกชน 4.1 % (สศช.)

การส่งออก สูงกว่า 8.0 %

สถานการณ์และปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อเงินเฟ้อ

อุปสงค์ภาคครัวเรือนเริ่มฟื้นตัว ตามผลผลิตและรายได้เกษตรกรที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ปี 2561 อาจส่งผลดีต่อกำลังซื้อในประเทศ การใช้จ่ายภาครัฐในปีงบประมาณ 2561 ช่วงครึ่งปีหลังมีมากขึ้น

การส่งออกที่มีการขยายตัวเป็นลำดับจากการฟื้นตัวของการค้าโลก รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง

ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของคู่ค้าสำคัญ ส่งผลกระทบต่อการส่งออก แนวโน้มค่าเงินบาทอ่อนตัว

ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกแม้มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น แต่ยังมีความผันผวน

การลงทุนภาครัฐอาจมีขั้นตอนที่อาจไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนทั้งหมด

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0-2507-5850 โทรสาร. 0-2507-5825


แท็ก ดัชนีราคา  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ