ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือน ตุลาคม 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 1, 2018 14:17 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนตุลาคม 2561 เท่ากับ 102.63 เมื่อเทียบกับ

          1. เดือนกันยายน 2561 (MoM)               สูงขึ้น   0.06
          2. เดือนตุลาคม 2560 (YoY)                สูงขึ้น   1.23
          3. เฉลี่ย 10 เดือน 2561 (AoA)             สูงขึ้น   1.15

(ม.ค. - ต.ค. 2561)/(ม.ค. - ต.ค. 2560)

ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนตุลาคม 2561 เทียบกับเดือนตุลาคม 2560 สูงขึ้น 1.23 (YoY) สูงขึ้นต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาในอัตราที่ชะลอตัวลง (เดือนกันยายน 2561 สูงขึ้น 1.33) ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือหมวดพลังงาน ที่สูงขึ้นร้อยละ 8.11 โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับสูงขึ้นตามภาวะราคาในตลาดโลก ส่วนอาหารสด ลดลงร้อยละ -1.48 จากการลดลงของผักและผลไม้เป็นสำคัญ เนื่องจากสภาพอากาศเอื้อต่อการเจริญเติบโตของผักและผลไม้ ส่งผลให้ผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณมาก เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวร้อยละ 0.75 (YoY) เฉลี่ยช่วง 10 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-ต.ค.) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยายตัวร้อยละ 1.15 (AoA) ซึ่งอยู่ในกรอบคาดการณ์เงินเฟ้อของกระทรวงพาณิชย์ (ร้อยละ 0.8-1.6) ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวร้อยละ 0.72 (AoA)

1. การเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าสำคัญ ที่ส่งผลให้เงินเฟ้อเดือนตุลาคม ปี 2561 สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 0.06 (MoM) (กันยายน 2561 สูงขึ้นร้อยละ 0.29) มีละเอียด ดังนี้

หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.14 จากการสูงขึ้นของกลุ่มอาหารสดร้อยละ 0.16 โดยผักและผลไม้ สูงขึ้นร้อยละ 0.89 ตามการสูงขึ้นของผักสด ร้อยละ 1.83 (มะนาว ผักชี กะหล่ำดอก เห็ด) ผลไม้สด ร้อยละ 0.26 (มะม่วง ทุเรียน แก้วมังกร) ทั้งนี้ เทศกาลกินเจไม่ส่งผลกระทบต่อราคาผักและผลไม้มากนัก เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้นร้อยละ 0.47 ตามการสูงขึ้นของข้าวสารเจ้า ขนมปังปอนด์ ขนมอบ นอกจากนี้ อาหารบริโภค-ในบ้าน และนอกบ้าน สูงขึ้น ร้อยละ 0.11 และ 0.23 ตามลำดับ ตามการสูงขึ้นของข้าวราดแกง อาหารเช้า กับข้าวสำเร็จรูป ขณะที่เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ลดลงร้อยละ -0.25 (เนื้อสุกร ไก่สด ปลาทู กุ้งขาว ปลากะพง) ไข่และผลิตภัณฑ์นม ลดลงร้อยละ -0.85 (ไข่ไก่ นมถั่วเหลือง นมข้นหวาน) สำหรับเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ดัชนีราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง

หมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.02 ตามการสูงขึ้นของน้ำมันเชื้อเพลิงร้อยละ 0.18 (น้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์ 91 95 E20 น้ำมันเบนซิน 95 ก๊าซธรรมชาติ (NGV) รวมถึงก๊าชยานพาหนะ (LPG) และค่าโดยสารสาธารณะ ร้อยละ 0.02 (ค่าโดยสารรถประจำทางปรับอากาศของ ขสมก. และรถสามล้อเครื่อง) ส่งผลให้หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ 0.07 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ร้อยละ 0.08 ได้แก่ โฟมล้างหน้า ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว ครีมนวดผม นอกจากนี้ หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.01 (เบียร์ สุรา ไวน์) ขณะที่หมวดเคหสถาน ดัชนีราคาลดลงร้อยละ -0.04 ตามการลดลงของสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (น้ำยาซักแห้ง ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม) เครื่องแต่งบ้านและบริภัณฑ์อื่นๆ (เครื่องซักผ้า เตารีด ผ้าห่ม) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลงร้อยละ -0.03 ตามการลดลงของเสื้อผ้าและรองเท้าของบุรุษ/สตรี และหมวดการบันเทิง การอ่าน และการศึกษา ลดลงร้อยละ -0.01 ตามการลดลงของเครื่องถวายพระเป็นสำคัญ

2. เทียบเดือนตุลาคม 2560 (YoY) สูงขึ้น ร้อยละ 1.23 โดยมีการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการ ดังนี้

หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.26 จากการสูงขึ้นของข้าวแป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 4.87 ตามการสูงขึ้นของข้าวสารเจ้า ขนมอบ ขนมปังปอนด์ อาหารบริโภค-ในบ้าน ร้อยละ 0.94 และอาหารบริโภค-นอกบ้าน ร้อยละ 2.15 ตามการสูงขึ้นของข้าวราดแกง อาหารเช้า อาหารตามสั่ง เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 2.06 (เครื่องปรุงรส น้ำพริกแกง ซอสพริก) เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.77 (กาแฟและชาสำเร็จรูปพร้อมดื่ม) ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 0.73 (นมผง นมสด นมเปรี้ยว) เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ร้อยละ 0.21 (ปลาทู ปลาหมึกกล้วย ปลาทูนึ่ง) ขณะที่ผักและผลไม้ ลดลงร้อยละ -8.33 โดยผักสด ลดลงร้อยละ -12.26 (ผักชี ผักคะน้า พริกสด) ผลไม้สด ลดลงร้อยละ -3.75 (เงาะ มะม่วง ส้มเขียวหวาน) เป็นช่วงฤดูกาลผลไม้หลายชนิดเข้าตลาดปริมาณมาก

หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.79 ตามการสูงขึ้นของหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ร้อยละ 3.89 โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง สูงขึ้นถึงร้อยละ 11.98 จากการสูงขึ้นของน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท และค่าโดยสารสาธารณะ ร้อยละ 0.66 (ค่ารถรับส่งนักเรียน) หมวดเคหสถาน สูงขึ้นร้อยละ 0.59 (ค่าเช่าบ้าน ก๊าซหุงต้ม ค่าแรงช่างทาสี) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.67 (ค่าแต่งผมชายและสตรี ยาและเวชภัณฑ์) เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.47 นอกจากนี้หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.31 และ 0.41 ตามลำดับ ขณะที่หมวดการสื่อสาร ลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.06

3. เฉลี่ย 10 เดือนของปี 2561 (ม.ค.- ต.ค. 2561) เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ม.ค.- ต.ค. 2560) (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 1.15 โดยมีการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการ ดังนี้

หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.29 ตามการสูงขึ้นของข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 2.25 โดยเฉพาะข้าวสารเจ้า ขนมอบ ขนมปังปอนด์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.45 ตามการสูงขึ้นของกาแฟและชาสำเร็จรูปพร้อมดื่ม น้ำหวาน อาหารบริโภค-ในบ้าน และนอกบ้าน ร้อยละ 1.13 และ 1.27 ตามลำดับ เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 0.05 ขณะที่ผักและผลไม้ ลดลงร้อยละ -2.71 ตามการลดลงของผักสด ร้อยละ -0.83 ผลไม้สด ร้อยละ -1.74 นอกจากนี้เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ ลดลงร้อยละ -0.89 ไข่และผลิตภัณฑ์นม ลดลงร้อยละ -0.62

หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.65 จากการสูงขึ้นของหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ร้อยละ 2.67 ตามการสูงขึ้นของน้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ 7.98 และค่าโดยสารสาธารณะ ร้อยละ 0.60 หมวดเคหสถาน ร้อยละ 1.13 (ก๊าซหุงต้ม ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน) หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 5.13 (บุหรี่ เบียร์ ไวน์ สุรา) นอกจากนี้ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.27 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.54 (ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาล) หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ สูงขึ้นร้อยละ 0.41 ขณะที่การสื่อสาร ลดลงร้อยละ -0.06

4. คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2561

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 0.8 - 1.6 (YoY)

อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ 4.2 - 4.7 (YoY) (สศช.)

ราคาน้ำมันดิบดูไบ ทั้งปี 68-73 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

อัตราการแลกเปลี่ยน ทั้งปี 32 - 34 บาท/เหรียญสหรัฐ

ราคาสินค้าเกษตร (-7.5) - (-6.5) %

การบริโภคภาคเอกชน 4.1 % (สศช.)

การส่งออก สูงกว่า 8.0 %

สถานการณ์และปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อเงินเฟ้อ

อุปสงค์ภาคครัวเรือนเริ่มฟื้นตัว ตามผลผลิตและรายได้เกษตรกรที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ปี 2561 อาจส่งผลดีต่อกำลังซื้อในประเทศ การใช้จ่ายภาครัฐในปีงบประมาณ 2561 ช่วงครึ่งปีหลังมีมากขึ้น

การส่งออกที่มีการขยายตัวเป็นลำดับจากการฟื้นตัวของการค้าโลก รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง

ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของคู่ค้าสำคัญ ส่งผลกระทบต่อการส่งออก แนวโน้มค่าเงินบาทอ่อนตัว

ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกแม้มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น แต่ยังมีความผันผวน

การลงทุนภาครัฐอาจมีขั้นตอนที่อาจไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนทั้งหมด

ที่มา: กองสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์

โทรศัพท์ 02-5076554 โทรสาร 02-5075806

http://www.price.moc.go.th


แท็ก ดัชนีราคา  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ