ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนตุลาคม 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 1, 2018 14:24 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนตุลาคม 2561 ปรับตัวลดลงจากเดือนกันยายน 2561 ที่ระดับ 38.0 มาอยู่ที่ 35.5 รวมทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคปัจจุบัน และอนาคต จากความเชื่อมั่นที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน และ 3 เดือนข้างหน้า การหางานทำในปัจจุบัน และ 3 เดือนข้างหน้า ที่ปรับตัวลดลง ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อรายได้ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวเพิ่มขึ้น สำหรับด้านกำลังซื้อของผู้บริโภคในการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพในปัจจุบัน และการวางแผนซื้อสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าคงทนต่างๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนการวางแผนซื้อรถยนต์ปรับตัวลงลง

  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 30.9 มาอยู่ที่ 26.5 โดยผู้บริโภคมีความคิดเห็นต่อภาวะเศรษฐกิจ และการหางานทำในปัจจุบัน ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 35.4 และ 26.5 มาอยู่ที่ระดับ 30.4 และ 22.7
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 42.7 มาอยู่ที่ 41.5 โดยผู้บริโภคมีความคิดเห็นต่อภาวะเศรษฐกิจ และการหางานทำอีก 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า ที่ระดับ 47.7 และ 32.2 มาอยู่ที่ 47.0 และ 28.7 ตามลำดับ ขณะที่รายได้ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 48.3 มาอยู่ที่ 48.9

สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับกำลังซื้อของผู้บริโภค ได้แก่ การใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพในปัจจุบัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 53.0 มาอยู่ที่ 54.5 เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี รวมทั้งการวางแผนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าในระยะ 6 เดือนข้างหน้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 22.7 มาอยู่ที่ 24.1 ขณะที่การวางแผนการซื้อรถยนต์ ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 15.6 มาอยู่ที่ 15.4

บทสะท้อนจากข้อคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่างๆ

ด้านเศรษฐกิจ

1. ฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจให้เหมาะสมกับความเป็นอยู่ของประชาชน

2. ดูแลเกษตรกร พักชำระหนี้ รวมทั้งแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำมาก เช่น ยางพารา ข้าวโพด และมันสำปะหลัง รวมทั้งส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรให้มากขึ้น

3. สนับสนุนสินค้าเกษตร สินค้าชุมชน และการค้าออนไลน์

4. ลดราคาน้ำมัน แก้ไขราคาที่แพงกว่าต่างประเทศ

5. ปัญหาราคาสินค้าแพงขึ้น และควบคุมราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคให้ลดลง

6. ลดค่าครองชีพ ภาษี และดอกเบี้ยธนาคารสูงที่ขึ้น

7. กระตุ้น เศรษฐกิจที่ตกต่ำในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การเงิน การส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุน และการจ้างงานให้ประชาชนมีรายได้ เพื่อให้เกิดการบริโภคและการลงทุน การใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการภายในประเทศ รวมทั้งเศรษฐกิจระดับรากหญ้า ทำให้ปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น

8. ปรับค่าแรงขั้นต่ำให้เหมาะสม 9.การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SME

ด้านสังคม

1. กำจัดคอรัปชั่นในทุกหน่วยงานที่สูงมาก ไม่มีที่สิ้นสุด รวมทั้งลดการทุจริตของข้าราชการ ที่ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำไม่ก้าวหน้า คนโกงเยอะ และปรับแก้กฎหมายที่เอาเปรียบคนจนมากๆ

2. ลดอัตราการว่างงานของประชาชนที่เพิ่มสูงต่อเนื่อง รวมทั้งบัณฑิตจบใหม่ และขอให้เน้นแรงงานไทยมากกว่า AEC โดยส่งเสริมอาชีพ เพิ่มการจ้างงานให้ประชาชนมีงานทำ สร้างงานให้ผู้ว่างงานมีที่ทำกิน

3. เปิดอบรมให้ความรู้ และฝึกแรงงานให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้น

4. ส่งเสริมและสร้างรายได้แก่ประชาชนให้มากขึ้น เพิ่มเงินเดือนของลูกจ้างในส่วนภาครัฐ พร้อมทั้งกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม

5. แก้ไขปัญหายาเสพติด

6. ลดจำนวนข้าราชการให้น้อยลง

7. รณรงค์การใช้สินค้าไทยให้มากขึ้น

8. การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพ ควรเอามูลค่าการจ่ายภาษีให้รัฐของคนๆ นั้น มาเป็นปัจจัยการจ่ายด้วย คนเสียภาษีมากควรได้รับเบี้ยมากขึ้น

9. เปลี่ยนแปลงทางการเมือง

10. การพัฒนาคุณภาพชีวิต

11. การส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่

12. แก้ไขปัญหาความยากจน

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0-2507-5850 โทรสาร. 0-2507-5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ