ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการไตรมาส 3/2561 ในสถานการณ์ปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นที่ระดับ 42.4 จากไตรมาสก่อนหน้าที่ระดับ 42.2 รวมทั้งความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ คาดการณ์ไตรมาส 4/2561 ปรับตัวดีขึ้น ที่ระดับ 57.6 จากไตรมาสก่อนหน้าที่ระดับ 56.1 อยู่เหนือเส้นความเชื่อมั่น 50 ต่อเนื่องมาตลอด แต่มีความกังวลต่อเศรษฐกิจ อาทิ กำลังชื้อ ราคาสินค้าเกษตรบางชนิดตกต่ำ ขณะที่นโยบายภาครัฐช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้คาดการณ์ความเชื่อมั่นมีทิศทางดีมาโดยตลอด
ผลการสำรวจภาวะธุรกิจไตรมาส 3 ปี 2561 (ก.ค.-ก.ย.61) จากผู้ประกอบการจำนวน 2,385 ราย พบว่าดัชนีภาวะธุรกิจสถานการณ์ปัจจุบันมีค่า 42.4 ปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งมีค่า 42.2 โดยเห็นว่าในปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจ ดีขึ้น ร้อยละ 16.5 ไม่ดี ร้อยละ 31.8 และ ไม่เปลี่ยนแปลง ร้อยละ 51.7 ทั้งนี้ ค่าดัชนีต่ำกว่าระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการไม่มีความเชื่อมั่น เนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบ น้ำมัน ค่าแรงงาน ขาดแคลนแรงงาน ค่าสาธารณูปโภค ความผันผวนของค่าเงินบาท ราคาสินค้าเกษตรบางชนิดตกต่ำ กำลังซื้อลดลง การแข่งขันสูง ส่งผลให้ผลประกอบการลดลง
ดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจ 3 เดือนข้างหน้า มีค่า 57.6 เหนือเส้น 50 ที่แสดงว่าธุรกิจยังคงขยายตัว สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4/2561 มีทิศทางที่ดี ร้อยละ 32.9 ไม่ดี ร้อยละ 17.8และไม่เปลี่ยนแปลง ร้อยละ 49.3 โดยภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จากนโยบายของภาครัฐ อาทิ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ความชัดเจนด้านการเมืองทำให้ผู้ประกอบการเริ่มมีความเชื่อมั่นมากขึ้น
เมื่อพิจารณาจากผู้ประกอบการรายสาขา พบว่า ผู้ประกอบการเกือบทุกสาขามีความเชื่อมั่นลดลง ยกเว้นสาขาบริการ ที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ ค่าดัชนีทุกสาขาอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการทุกสาขาไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ สาเหตุจากต้นทุนปรับสูงขึ้น (วัตถุดิบ น้ำมันเชื้อเพลิง) ความผันผวน อัตราแลกเปลี่ยน กำลังซื้อลดลง การแข่งขันสูง พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปนิยมสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น ส่งผลกระทบต่อร้านค้าทั่วไป รวมถึงราคาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำ
สำหรับการคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการทุกสาขายังมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ โดยค่าดัชนียังสูงกว่าระดับ 50 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะมีทิศทางที่ดีขึ้น
ภาวะธุรกิจรายภาคต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน พบว่า ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น 3 ภาค ประกอบด้วย กรุงเทพและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขณะที่อีก 3 ภาค ภาคกลาง ภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ ปรับตัวลดลง ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการทุกภาค มีค่าดัชนี ต่ำกว่า 50 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ สาเหตุจากเศรษฐกิจซบเซา สินค้าราคาแพงขึ้น กำลังซื้อลดลง ต้นทุนสูงขึ้น การแข่งขันสูง ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่ส่งผลต่อการส่งออก
สำหรับการคาดการณ์อีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการเกือบทุกภาคมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ โดยดัชนีมีค่าสูงกว่าระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในอนาคต ทั้งนี้จากนโยบายของภาครัฐ อาทิ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ความชัดเจนด้านการเมือง ยังคงทำให้ผู้ประกอบการเริ่มมีความเชื่อมั่นมากขึ้น
ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการ
1. คาดว่าเศรษฐกิจปี 2562 น่าจะดีขึ้นหลังจากมีการเลือกตั้ง
2. ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมยังคงซบเซา กำลังซื้อมีน้อย การค้าขายไม่มีความคล่องตัว
3. ต้นทุนการประกอบธุรกิจสูงขึ้น จากค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าจ้างแรงงาน ค่าขนส่ง วัตถุดิบ ฯลฯ ขณะที่ราคาขายสินค้ายังคงเท่าเดิม
4. ธุรกิจมีการแข่งขันสูง ภาวะการค้ามีการเปลี่ยนแปลง ผู้บริโภคหันไปซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น
5. เศรษฐกิจฐานรากไม่ดี ราคายางพารา ปาล์มน้ำมัน ตกต่ำ ทำให้กำลังซื้อลดลง
6. การปล่อยกู้ของธนาคาร SME มีความล่าช้า และวงเงินที่อนุมัติมีจำนวนน้อยไม่เพียงพอความต้องการ
1. ภาครัฐควรกระตุ้นกำลังซื้อระดับรากหญ้า รวมทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย
2. ภาครัฐควรมีมาตรการให้ความช่วยเหลือและดูแลประชาชนเป็นหนี้นอกระบบ
3. รัฐควรเข้ามาให้ความช่วยเหลือ ดูแลผู้มีรายได้น้อย แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เช่น ยางพารา และปาล์มน้ำมัน อย่างเร่งด่วน
4. กำลังซื้อของประชาชนลดลง รัฐบาลช่วยเหลือและควบคุมราคาสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการครองชีพ
5. ภาครัฐควรเข้ามาช่วยเหลือให้เกษตรกร มีความรู้ เพื่อพัฒนา ปรับปรุงคุณภาพสินค้า ส่งเสริมและหาช่องทางการส่งออกสินค้าไปจำหน่ายในต่างประเทศ
6. ควรจัดแคมเปญส่งเสริมนโยบายและโครงการต่าง ๆ ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเป็นการเพิ่มเม็ดเงินและกระจายรายได้มากขึ้น
7. โครงการลงทุนภาครัฐเริ่มมีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น อยู่ในช่วงเริ่มต้นดำเนินการ คาดว่าในปี 2562 จะมีการใช้วัสดุในการก่อสร้าง การจ้างงาน และเงินหมุนเวียนในระบบจะเพิ่มมากขึ้น ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ รัฐบาลชุดใหม่ควรดำเนินการและสานต่อจากรัฐบาลชุดปัจจุบัน
8. ภาครัฐควรออกมาตรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อให้สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ ได้ในการปล่อยกู้ของธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ยแก่ผู้ประกอบการรายใหญ่ถูกกว่าผู้ประกอบการรายเล็ก
9. ภาครัฐควรเข้ามาดูและรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท
ที่มา: สำนักสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
โทร. 0 2507 5805 โทรสาร. 0 2507 5806 / 0 2507 5825
www.price.moc.go.th Email: gsurvey@moc.go.th