ดัชนีราคาส่งออก เดือนตุลาคม 2561 เท่ากับ 100.9 (ปี 2555 = 100)เทียบกับเดือนตุลาคม 2560 สูงขึ้นร้อยละ 2.5 (YoY) กลับมาฟื้นตัวอีกครั้งหลังจากที่ผ่านมาอยู่ในทิศทางชะลอตัว 4 เดือนติดต่อกัน โดยหมวดสินค้าที่ส่งผลให้ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง โดยเฉพาะน้ำมันสำเร็จรูปยังคงปรับตัวสูงขึ้น รองลงมาคือ หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก และหมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันปะหลัง ข้าว และไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรปรับตัวลดลง ได้แก่ น้ำตาลทราย อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้ดัชนีราคาส่งออกยังคงปรับตัวสูงขึ้น
ดัชนีราคานำเข้า เดือนตุลาคม 2561 เท่ากับ 94.2 (ปี 2555 = 100) เทียบกับเดือนตุลาคม 2560 สูงขึ้นร้อยละ 5.5 (YoY) เป็นผลจากการปรับสูงขึ้นของทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดสินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป เป็นผลจากการปรับลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องของผู้ผลิตน้ำมันทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก ขณะที่ความต้องการใช้เพิ่มขึ้น รวมถึงสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางที่ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบลดลง รองลงมาคือ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และอุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หมวดสินค้าทุน เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และ
หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม และเครื่องใช้เบ็ดเตล็ด
สินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกและดัชนีราคานำเข้าเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน (เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เหล็ก) เครื่องปรับอากาศ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ปุ๋ย ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม อาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน
สินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกและดัชนีราคานำเข้ามีทิศทางตรงกันข้าม ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลไม้แช่เย็นแช่แข็ง เนื่องจากมีการนำเข้าวัตถุดิบส่วนใหญ่จากประเทศจีนซึ่งมีราคาค่อนข้างถูก ขณะที่ความต้องการสินค้าจากตลาดต่างประเทศขยายตัวได้ต่อเนื่อง ประกอบกับฐานปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้น สำหรับสิ่งทอ มีการนำเข้าวัตถุดิบจำพวกเส้นใยและผ้าทอสังเคราะห์ซึ่งมีราคาสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมัน ขณะที่ราคาส่งออกลดลง เนื่องจากประสบปัญหาการแข่งขันสูงจากประเทศจีนและเวียดนาม นอกจากนี้ แผงวงจรรวมและส่วนประกอบ ราคาสูงขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบที่นำเข้ามา ขณะที่การส่งออกราคาปรับตัวลดลงจากการได้รับผลกระทบสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน
ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าส่งออกในรูปของดัชนี โดยใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาส่งออกที่ผู้ส่งออกในประเทศไทยได้ส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ทั้งนี้ ราคาส่งออกที่สำรวจเป็นราคา F.O.B (Free On Broad) ครอบคลุม 4 หมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเกษตรกรรม หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร หมวดสินค้าอุตสาหกรรม และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 743 รายการ สรุปได้ดังนี้
1. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนตุลาคม 2561 เท่ากับ 100.9 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนกันยายน 2561 เท่ากับ 100.8) โดยดัชนีราคาส่งออกเดือนตุลาคม 2561 ในหมวดสินค้าเกษตรกรรม เท่ากับ 96.8 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร เท่ากับ 106.3 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เท่ากับ 102.6 และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง เท่ากับ 90.5
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนตุลาคม 2561 เมื่อเทียบกับ
2.1 เทียบกับเดือนกันยายน 2561 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.1 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าส่งออกจำแนกตามรายหมวดสินค้า ดังนี้
หมวดสินค้าที่ราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วยหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบ ราคาสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลก เนื่องจากสหรัฐฯ มีมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ส่งผลต่อปริมาณน้ำมันดิบโลกตึงตัว ประกอบกับความต้องการใช้น้ำมันถูกกดดันจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน
หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร โดยเฉพาะน้ำตาลทราย ราคาสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำตาลตลาดโลก ขณะที่หมวดสินค้าที่ราคาส่งออกปรับตัวลดลง คือ หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง ตามความต้องการสินค้าที่ลดลง สำหรับหมวดสินค้าเกษตรกรรม ดัชนีราคาส่งออกไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีการเปลี่ยนแปลงในบางหมวดย่อยสำคัญต่างๆ โดยหมวดสินค้าที่ราคาส่งออกสูงขึ้น ได้แก่ ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ตามความต้องการตลาดต่างประเทศที่มีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่หมวดสินค้าที่ราคาส่งออกลดลง คือ ยางพารา เนื่องจากได้รับปัจจัยกดดันจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศเศรษฐกิจหลัก ประกอบกับปริมาณสต๊อกยางยังอยู่ในระดับสูง
2.2 เทียบกับเดือนตุลาคม 2560 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 2.5 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าส่งออกจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้
หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบ หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน (เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ข้าว ไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ขณะที่ดัชนีราคาส่งออกที่ปรับลดลง คือ หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร จากราคาน้ำตาลทรายที่ปรับตัวลดลงเป็นสำคัญ
2.3 เทียบเฉลี่ยกับเดือนมกราคม-ตุลาคม 2560 (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 3.9 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้
ดัชนีราคาส่งออกปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก และสิ่งทอ หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ข้าว ไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ เป็นหลัก
ทั้งนี้ ดัชนีราคาส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2561 คาดว่าจะมีทิศทางสูงขึ้นตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าที่ปรับตัวดีขึ้น แม้จะมีความผันผวนทางเศรษฐกิจอยู่บ้าง แต่ความต้องการของตลาดต่างประเทศยังมีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นได้จากความสามารถในการส่งออกสินค้าได้ดีในหลายกลุ่มสินค้าและตลาดสำคัญ ประกอบกับแนวโน้มราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่สูงขึ้น ส่งผลให้สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์มีทิศทางของราคาที่ปรับสูงขึ้น ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง เหล็ก น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการส่งออกของไทยยังคงมีอยู่ เช่น ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจการค้าของประเทศคู่ค้า รวมถึงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่คาดว่าจะยืดเยื้อ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน เป็นต้น
ดัชนีราคานำเข้าของประเทศ แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้านำเข้าที่ผู้นำเข้าในประเทศไทยได้จ่ายไปเพื่อนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ราคานำเข้าที่สำรวจเป็นราคา C.I.F. (Cost, Insurance และ Freight) ครอบคลุม 5 หมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเชื้อเพลิง หมวดสินค้าทุน หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 751 รายการ สรุปได้ดังนี้
1. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนตุลาคม 2561 เท่ากับ 94.2 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนกันยายน 2561 เท่ากับ 93.8) โดยดัชนีราคานำเข้าเดือนตุลาคม 2561 ในหมวดสินค้าเชื้อเพลิง เท่ากับ 80.8 หมวดสินค้าทุน เท่ากับ 102.2 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เท่ากับ 96.5 หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค เท่ากับ 102.2 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง เท่ากับ 94.5
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนตุลาคม 2561 เมื่อเทียบกับ
2.1 เทียบกับเดือนกันยายน 2561 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.4 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้
หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม โดยราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากความกังวลเกี่ยวกับปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มปรับลดลงอย่างต่อเนื่องของอิหร่านและซาอุดิอาระเบีย หลังจากความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ตึงเครียดมากขึ้น หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ ทองคำ เคมีภัณฑ์ ปุ๋ย อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ผ้าผืน ขณะที่หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ รถยนต์นั่ง สำหรับหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ดัชนีราคาไม่มีการเปลี่ยนแปลง
2.2 เทียบกับเดือนตุลาคม 2560 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 5.5 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้
ดัชนีราคานำเข้าปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิงเป็นหลัก ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม น้ำมันสำเร็จรูป ถ่านหิน และเชื้อเพลิงอื่นๆ โดยมีสาเหตุหลักมาจากการปรับลดกำลังการผลิตลงอย่างต่อเนื่องของผู้ผลิตน้ำมันทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และอุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และรถยนต์นั่ง และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด เสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ และผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ
2.3 เทียบเฉลี่ยกับเดือนมกราคม-ตุลาคม 2560 (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 6.5 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้
ดัชนีราคานำเข้าปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม น้ำมันสำเร็จรูป ถ่านหิน และเชื้อเพลิงอื่นๆ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ ทองคำ สินแร่โลหะ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ อุปกรณ์ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และสัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป ด้ายและเส้นใย หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องมือเครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ รถยนต์นั่ง ส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์และรถจักรยาน และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม สบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง เสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด และผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้
ทั้งนี้ แนวโน้มดัชนีราคานำเข้าในช่วงที่เหลือของปี 2561 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีปัจจัยบวกจากราคาสินค้าเชื้อเพลิงซึ่งเป็นสินค้านำเข้าหลักที่ยังคงปรับสูงขึ้นจากความตกลงร่วมมือกันระหว่างกลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันลงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบสู่ตลาดโลก นอกจากนี้สินค้านำเข้าอื่นๆ ในหมวดวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปที่นำมาใช้เพื่อการบริโภคภายในประเทศและเป็นวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตเพื่อส่งออก โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน คาดว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นกัน เช่น เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก เป็นต้น
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825