ดัชนีภาวะธุรกิจส่งออก (Export Business Index) ประจำเดือนพฤศจิกายน 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 26, 2018 12:56 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

Highlights

ดัชนีมูลค่าส่งออก

ภาพรวมดัชนีภาวะธุรกิจส่งออกเดือนพฤศจิกายน 2561 เท่ากับ 46.4 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 50.8 และมีค่าต่ำกว่าระดับ 50 แสดงว่า ผู้ส่งออกมีมุมมองการส่งออกของไทยจะปรับตัวลดลง และจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ส่งออก จำนวน 308 ราย มีรายละเอียด ผลการสำรวจดังนี้

ดัชนีมูลค่าส่งออก เดือนพฤศจิกายน 2561 มีค่าเท่ากับ 44.8 แสดงว่า มูลค่าการส่งออกมีทิศทางปรับลดลง สาเหตุหลักมาจากเศรษฐกิจโลกชะลอลง ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทย โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ และยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เนื่องจากลูกค้าสั่งซื้อและสต๊อกสินค้าไว้ล่วงหน้าเพื่อผลิตและขายช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ อีกทั้งความต้องการของตลาดต่างประเทศโลกลดลง จากผลกระทบและความเสี่ยงของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน

สินค้าสำคัญที่มีมูลค่าส่งออก ลดลง ได้แก่ ผักผลไม้ สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ยางพารา น้ำตาลทราย สิ่งทอ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (ไม่รวมคอมพิวเตอร์) เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง ยานพาหนะ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ รองเท้าและชิ้นส่วน อาหารสำเร็จรูปและเชื้อเพลิงและพลังงาน

ขณะที่สินค้าที่มีมูลค่าส่งออก เพิ่มขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลัง ไก่แช่เยือกแข็งและแปรรูป อาหารทะเลแช่เยือกแข็ง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป

ดัชนีคำสั่งซื้อใหม่

ดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ เดือนพฤศจิกายน 2561 มีค่าเท่ากับ 42.0 แสดงว่า คำสั่งซื้อใหม่มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะสินค้าเกษตรกรรมและสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ได้แก่ ยางพาราและน้ำตาลทราย เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ขณะที่ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกชะลอตัว จากผลกระทบและความเสี่ยงของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน

สินค้าที่มีมูลค่าคำสั่งซื้อใหม่ ลดลง ได้แก่ ข้าว ผักผลไม้ สด แช่เย็นแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ยางพารา อาหารทะเลแช่เยือกแข็ง น้ำตาลทราย สิ่งทอ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (ไม่รวมคอมพิวเตอร์) เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง ยานพาหนะ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ รองเท้าและชิ้นส่วน อาหารสำเร็จรูป และเชื้อเพลิงและพลังงาน

ขณะที่สินค้าที่มูลค่าคำสั่งซื้อใหม่ เพิ่มขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไก่แช่เยือกแข็งและแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป

ดัชนีการจ้างงาน

ดัชนีการจ้างงาน เดือนพฤศจิกายน 2561 มีค่าเท่ากับ 50.0 แสดงให้เห็นว่าการจ้างงานของภาคการส่งออกยังทรงตัว ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้าและชิ้นส่วน สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (ไม่รวมคอมพิวเตอร์) และอาหารสำเร็จรูป

สินค้าที่มีมูลค่าการจ้างงาน ลดลง ได้แก่ ยางพารา ไก่แช่เยือกแข็งและแปรรูป อาหารทะเลแช่เยือกแข็ง เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ ยานพาหนะ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ และเชื้อเพลิงและพลังงาน

ขณะที่สินค้าที่มูลค่าการจ้างงาน เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว ผักผลไม้ สด แช่เย็นแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป น้ำตาลทราย อัญณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง

ดัชนีสินค้าคงคลัง

ดัชนีสินค้าคงคลังเดือนพฤศจิกายน 2561 มีค่าเท่ากับ 48.6 ซึ่งต่ำกว่าระดับ 50 แสดงว่ามูลค่าสินค้าคงคลังมีแนวโน้มลดลง เป็นผลจากการบริหารจัดการสินค้าคงคลังให้น้อยลง เนื่องจากเป็นการผลิต ตามคำสั่งซื้อและวัตถุดิบบางชนิดมีราคาสูงขึ้น โดยสินค้าคงคลังที่ ลดลงได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป น้ำตาลทราย เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และเชื้อเพลิงและพลังงาน

ขณะที่มูลค่าสินค้าคงคลังที่ เพิ่มขึ้นได้แก่ ข้าว ผักผลไม้ สด แช่เย็นแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ไก่แช่เยือกแข็งและแปรรูป อาหารทะเลแช่เยือกแข็ง เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (ไม่รวมคอมพิวเตอร์) เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ ยานพาหนะ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้าและชิ้นส่วน และอาหารสำเร็จรูป

ปัญหาและข้อเสนอแนะของผู้ส่งออก

ปัญหา
  • ความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน ส่งผลกระทบต่อการกำหนดราคาตามต้นทุนของบริษัท รวมถึงความสามารถในการแข่งขันทางการค้า
  • การขนส่งทางเรือโดยตู้บรรจุสินค้าสำหรับการส่งออก (ตู้คอนเทนเนอร์) สภาพตู้บรรจุสินค้าเก่า และจำนวนเรือไม่เพียงพอต่อการส่งออกสินค้า อีกทั้งการจองเรือยากขึ้นและท่าเรือคลองเตยมีสภาพที่แออัด ทำให้ลูกค้าได้รับสินค้าล่าช้ากว่าที่กำหนด
  • ขาดสภาพคล่องทางการเงิน
  • ความต้องการของตลาดต่างประเทศและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก
  • มาตรการภาษีของแต่ละประเทศในการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping AD) และมาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard) ในหมวดสินค้าเหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกเหล็กของไทย
  • การตอบโต้ทางการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และจีน
  • ขาดแคลนแรงงานไร้ฝีมือในกลุ่มอุตสาหกรรมกุ้งสดแช่เย็น แช่แข็ง และอาหารทะเลแช่เยือกแข็ง โดยเฉพาะแรงงานไทย
  • มีการเพิ่มขั้นตอนเอกสารของหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะการส่งออกในอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูป ทำให้ยุ่งยากกับผู้ส่งออก และอุตสาหกรรมผลไม้กระป๋องและแปรรูป มีกฎหมายข้อบังคับเพิ่มขึ้น
ข้อเสนอแนะ

ภาครัฐควรดำเนินการ ดังนี้

  • ส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าระหว่างประเทศให้มากขึ้น
  • ช่วยลดเวลาในการขอเอกสารสิทธิทางภาษีต่างๆ กับผู้ประกอบการ หรืออนุมัติผ่านระบบออนไลน์ให้มากขึ้น
  • ดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ เพื่อช่วยให้สามารถแข่งขันกับประเทศคู่ค้า
  • ดูแลมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐอเมริกาและจีน โดยเฉพาะกำแพงภาษีนำเข้า ซึ่งจะนำไปสู่การปรับขึ้นราคาสินค้า ทำให้มีผลกระทบต่อการแข่งขันทางการค้ากับบริษัทคู่แข่งขันกับประเทศคู่ค้า
  • ช่วยจัดกิจกรรมส่งเสริมตลาดในต่างประเทศ โดยให้ผู้ส่งออกมีส่วนร่วมและเสียค่าใช้จ่ายในอัตราที่เหมาะสม
  • จัดสรรงบประมาณเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ป้องกันการเกิดโรคใบด่างที่นำเข้ามาจากประเทศเขมร และเวียดนามผ่านทางจังหวัดชายแดน เช่น สุรินทร์ ปราจีนบุรี และบุรีรัมย์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตมันสำปะหลังในปีหน้าได้

ที่มา: กองสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


แท็ก การส่งออก  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ