ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงราคาในรูปของดัชนี เพื่อใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าที่ผู้ผลิตได้รับ ครอบคลุม 3 หมวด คือ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จากการสำรวจและประมวลผลราคาสินค้าที่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ผลิตจำหน่ายทั่วประเทศ มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 596 รายการ สรุปผลได้ดังนี้
1. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนธันวาคม 2561 (ปี 2553 = 100) มีค่าเท่ากับ 101.0 (เดือนพฤศจิกายน 2561 เท่ากับ 102.6)
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ เดือนธันวาคม 2561 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนพฤศจิกายน 2561 (MoM) ลดลง ร้อยละ 1.6 โดยเมื่อพิจารณาดัชนีราคาเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2561 ลดลงร้อยละ 1.6 จากการลดลงของดัชนีราคาทั้ง 3 หมวดหลักคือ หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ร้อยละ 1.6 สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง กลุ่มอาหาร ได้แก่ ไก่สด เนื่องจากความต้องการที่ชะลอตัวจึงปรับราคาลดลงเพื่อระบายสินค้า น้ำตาลทราย สต็อกน้ำตาลในตลาดโลกเกินความต้องการใช้ สะสมมากว่า 2 ปีจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับปีนี้มีการเปิดหีบอ้อย เร็วกว่าปีก่อน (20 พ.ย. 61) เนื่องจากผลผลิตในฤดูการผลิตนี้คาดว่าจะอยู่ในเกณฑ์สูงและเพื่อช่วยป้องกันปัญหาปริมาณอ้อยตกค้างด้วย ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (มันเส้น มันอัดเม็ดและแป้งมันสำปะหลัง) ปริมาณผลผลิตที่ใช้เป็นวัตถุดิบออกสู่ตลาดมาก กลุ่มสิ่งทอ ได้แก่ เส้นใยสังเคราะห์ ลดลงตามราคาเม็ดพลาสติกที่ใช้เป็นวัตถุดิบ กลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง ราคาลดลงมากโดยเฉพาะในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.61 ตามความต้องการน้ำมันในตลาดโลก ที่ปรับลดลง กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและเม็ดพลาสติก เคลื่อนไหวตามราคาน้ำมัน ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ราคาเคลื่อนไหวตามตลาดโลก กลุ่มเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ได้แก่ เหล็กแผ่น เหล็กเส้น การแข่งขันสูงกับเหล็กนำเข้าจากประเทศจีนทำให้ต้องปรับราคาลดลง หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 5.4 สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติและแร่โลหะ ปรับตามภาวะตลาดโลก และหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 0.8 จากสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง อาทิ มันสำปะหลังสด อ้อย เป็นช่วงฤดูกาลผลผลิตออกสู่ตลาด ผลปาล์มสด ยางพารา (น้ำยางข้น ยางแผ่นดิบ เศษยาง) ภาวะการค้าชะลอตัวเนื่องจากผลผลิตในสต็อกที่ยังอยู่ในระดับสูง กลุ่มผักสด (มะเขือ ข้าวโพดฝักอ่อน กะหล่ำปลี ผักคะน้า ผักกาดหอม ต้นหอม ผักชี ผักกวางตุ้ง แตงร้าน มะระจีน) กลุ่มผลไม้ (กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า สับปะรดบริโภค) สภาพอากาศที่เอื้ออำนวยส่งผลให้ผลผลิตผักและผลไม้บางชนิดออกสู่ตลาดมาก สัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ อาทิ สุกรมีชีวิต ไก่มีชีวิต และไข่ไก่ ผลผลิตที่มีมากกว่าความต้องการบริโภค สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ปลาลัง ปลาอินทรี และกุ้งแวนนาไม จากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ข้าวเปลือก จากความต้องการของตลาดมีอย่างต่อเนื่อง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นช่วงปลายฤดูกาลมีผลผลิตออกน้อยไม่เพียงพอกับความต้องการใช้วัตถุดิบสำหรับอาหารสัตว์ 2.2 เดือนธันวาคม 2560 (YoY) ลดลง ร้อยละ 0.5 โดยเมื่อพิจารณาดัชนีราคาเทียบกับเดือนธันวาคม 2560 ลดลงร้อยละ 0.5 สาเหตุจากดัชนีราคาหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 1.0 ตามราคาสินค้าสำคัญ เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (น้ำมันเชื้อเพลิง) อุปทานน้ำมันอยู่ในระดับสูงขณะที่ความต้องการใช้ลดลง ประกอบกับผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน กลุ่มเม็ดพลาสติก ตามราคาน้ำมันซึ่งเป็นสินค้าเกี่ยวเนื่อง กลุ่มผลิตภัณฑ์ยาง (ยางแผ่นรมควันและยางแท่ง) ปริมาณสต็อกยางในตลาดโลกอยู่ในระดับสูง กลุ่มส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ เนื่องจากเป็นการระบายสินค้ารุ่นเดิม ก่อนจะผลิตรุ่นใหม่ กลุ่มเยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษและสิ่งพิมพ์ (หนังสือพิมพ์ วารสาร) จากความนิยมอ่านข้อมูลจากสื่อโซเชียลมากขึ้น จึงปรับราคาลดลงเพื่อความอยู่รอดของกิจการ และสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ (ทองคำ) ตามราคาตลาดโลก ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 4.9 ปรับตัวตามราคาก๊าซธรรมชาติและแร่เหล็ก ตามภาวะตลาดโลก และหมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.0 ราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่ปรับตัวสูงขึ้น อาทิ ข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลังสด จากความต้องการของตลาดที่มีอย่างต่อเนื่อง กลุ่มผักสดและผลไม้ จากสินค้าบางชนิดมีราคาปรับตัวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา สัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ สุกรมีชีวิต ปริมาณผลผลิตลดลงจากปีที่ผ่านมา ตามมาตรการแก้ไขปัญหาราคาสุกรตกต่ำของภาครัฐ สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง กุ้งแวนนาไม เนื่องจากผลผลิตโลกที่มีมากกว่าความต้องการบริโภค ส่งผลให้ราคาในตลาดโลกตกต่ำ ผลปาล์มสด ยางพารา ภาวะการค้าชะลอตัวประกอบกับผลผลิตที่ออกมากอย่างต่อเนื่องส่งผลให้สต็อกของสินค้ามีอยู่ในระดับสูง
2.3 เทียบดัชนีเฉลี่ยเดือนมกราคม – ธันวาคม 2561 กับเดือน มกราคม – ธันวาคม 2560 สูงขึ้น ร้อยละ 0.4 โดยเมื่อพิจารณาดัชนีราคาเทียบเฉลี่ยเดือน ม.ค. – ธ.ค. ปี 2561 กับระยะเดียวกันปี 2560 สูงขึ้นร้อยละ 0.4 โดยสินค้าสำคัญที่ส่งผลให้ดัชนีราคาสูงขึ้น ได้แก่ หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.4 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้ากลุ่มหนังฟอก ผลิตภัณฑ์หนังและรองเท้า (ร้อยละ 0.3) เยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษและสิ่งพิมพ์ (ร้อยละ 0.7) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 11.2) เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เคมี (ร้อยละ 0.8) ผลิตภัณฑ์อโลหะ (ร้อยละ 0.5) โลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์โลหะ (ร้อยละ 1.3) และกลุ่มเครื่องจักร ส่วนประกอบและอุปกรณ์ (ร้อยละ 1.1) และหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 7.9 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้ากลุ่มลิกไนต์ ปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ (ร้อยละ 9.4) กลุ่มแร่โลหะและแร่อื่นๆ (ร้อยละ 0.8) ขณะที่หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 1.7 จากกลุ่มสินค้าผลผลิตการเกษตร (ร้อยละ -1.1) สัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ (ร้อยละ -3.5) ปลาและสัตว์น้ำ (ร้อยละ -2.9)
ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ ชุดโครงสร้างแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) เดือนธันวาคม 2561 ประกอบด้วย ดัชนีราคาหมวดสินค้าสำเร็จรูป หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และหมวดสินค้าวัตถุดิบ (ปี 2553 = 100) เดือนธันวาคม 2561 ดัชนีราคาเท่ากับ 102.5 , 99.1 และ 95.8 ตามลำดับ
1) การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ ชุดโครงสร้างแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP) เดือนธันวาคม 2561 เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2561 หมวดสินค้าสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 0.6 หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) ลดลงร้อยละ 3.1 และหมวดสินค้าวัตถุดิบ ลดลงร้อยละ 2.9
2) การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ ชุดโครงสร้างแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) เดือนธันวาคม 2561 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2560 หมวดสินค้าสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 0.7 ขณะที่หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) ลดลงร้อยละ 1.6 และหมวดสินค้าวัตถุดิบ สูงขึ้นร้อยละ 3.0
3) การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ ชุดโครงสร้างแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) เฉลี่ยเดือนมกราคม – ธันวาคม 2561 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 หมวดสินค้าสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 0.6 หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) สูงขึ้นร้อยละ 2.0 และหมวดสินค้าวัตถุดิบ สูงขึ้นร้อยละ 2.1
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2507 5808 โทรสาร. 0 2507 5825