ดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 25, 2018 14:20 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศ เดือนพฤศจิกายน 2561

ดัชนีราคาส่งออก เดือนพฤศจิกายน 2561 เท่ากับ 100.4 (ปี 2555 = 100) เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2560 ยังคงปรับตัวสูงขึ้นที่ร้อยละ 1.5 (YoY) แม้จะมีความเสี่ยงจากการกีดกันทางการค้าและการเงินของโลก แต่คาดว่าเศรษฐกิจโลกที่ยังเติบโต ได้ดีจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้นได้ต่อเนื่อง โดยหมวดสินค้าที่ส่งผลให้ดัชนีราคาส่งออกปรับตัว สูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง โดยเฉพาะน้ำมันสำเร็จรูป รองลงมาคือ หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และหมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันปะหลัง ข้าว และไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรปรับตัวลดลง ได้แก่ น้ำตาลทราย

ดัชนีราคานำเข้า เดือนพฤศจิกายน 2561 เท่ากับ 92.3 (ปี 2555 = 100) เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2560 สูงขึ้นร้อยละ 2.3 (YoY) เป็นผลจากการปรับสูงขึ้นของทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดสินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม และน้ำมันสำเร็จรูป เป็นผลจากปริมาณผลผลิตในตลาดโลกที่ลดลง ขณะที่ความต้องการใช้เพิ่มขึ้น รองลงมาคือ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เคมีภัณฑ์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และอุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรกล- และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องมือเครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์- การทดสอบ หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และรถยนต์โดยสารและรถบรรทุก และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด เสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์- สิ่งทออื่นๆ

สินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกและดัชนีราคานำเข้าเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน (เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เหล็ก) เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ยานพาหนะ อุปกรณ์และ- ส่วนประกอบ ปุ๋ย ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ อาหารทะเล- แช่เย็นแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง นมและผลิตภัณฑ์นม

สินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกและดัชนีราคานำเข้ามีทิศทางตรงกันข้าม ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผักและผลไม้แช่เย็นแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป เนื่องจากมีการนำเข้าวัตถุดิบส่วนใหญ่จากประเทศจีนซึ่งมีราคาค่อนข้างถูก ขณะที่ความต้องการสินค้าจากตลาดต่างประเทศขยายตัวได้ต่อเนื่อง ประกอบกับฐานปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ แผงวงจรรวมและส่วนประกอบ ราคาสูงขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบที่นำเข้ามา ขณะที่การส่งออกราคา- ปรับตัวลดลงจากการได้รับผลกระทบสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ผ่านห่วงโซ่อุปทานของสินค้าจีนที่ถูกขึ้นภาษีนำเข้า

ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2561

ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าส่งออกในรูปของดัชนี โดยใช้วัดการ เปลี่ยนแปลงของราคาส่งออกที่ผู้ส่งออกในประเทศไทยได้ส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ทั้งนี้ ราคาส่งออกที่สำรวจเป็นราคา F.O.B (Free On Broad) ครอบคลุม 4 หมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเกษตรกรรม หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร หมวดสินค้าอุตสาหกรรม และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 743 รายการ สรุปได้ดังนี้

1. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2561 เท่ากับ 100.4 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนตุลาคม 2561 เท่ากับ 100.9) โดยดัชนีราคาส่งออกเดือนพฤศจิกายน 2561 ในหมวดสินค้าเกษตรกรรม เท่ากับ 95.9 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร เท่ากับ 107.1 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เท่ากับ 102.5 และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง เท่ากับ 84.4

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2561 เมื่อเทียบกับ

2.1 เทียบกับเดือนตุลาคม 2561 (MoM) ลดลงร้อยละ -0.5 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าส่งออกจำแนกตามรายหมวดสินค้า ดังนี้

หมวดสินค้าที่ราคาส่งออกปรับตัวลดลง ประกอบด้วยหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบ ตามอุปทานน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับสต๊อกน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงนักลงทุนมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศโอเปกและพันธมิตร และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน เป็นต้น หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมาก นอกจากนี้ ยังได้รับปัจจัยกดดันจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลง สำหรับข้าวราคาลดลงเช่นกัน จากผลที่ข้าวขาวต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากข้าวเวียดนาม ขณะที่ข้าวหอมมะลิราคายังคงอยู่ในเกณฑ์ดี สำหรับไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ราคาสูงขึ้นตาม ความต้องการตลาดต่างประเทศที่มีอย่างต่อเนื่อง และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง สาเหตุหลักเป็นผลจากสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปรับตัวลดลง และความต้องการของตลาดต่างประเทศที่ชะลอตัว ขณะที่หมวดสินค้าที่ราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้น คือ หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร โดยเฉพาะน้ำตาลทราย ราคาสูงขึ้นตามความต้องการบริโภคของประเทศคู่ค้า ประกอบกับผลผลิตลดลงเล็กน้อยจากปัญหาภาวะภัยแล้งในประเทศอินเดีย

2.2 เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2560 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 1.5 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าส่งออกจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบ หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน (เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ข้าว ไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ขณะที่ดัชนีราคาส่งออกที่ปรับลดลง คือ หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร จากราคาน้ำตาลทรายที่ปรับตัวลดลงเป็นสำคัญ

2.3 เทียบเฉลี่ยกับเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2560 (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 3.7 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

ดัชนีราคาส่งออกปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สิ่งทอ และผลิตภัณฑ์พลาสติก หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ข้าว ไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ เป็นหลัก

ทั้งนี้ คาดว่าดัชนีราคาส่งออกของปี 2561 จะมีทิศทางสูงขึ้นตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าที่ปรับตัวดีขึ้น แม้จะมีความผันผวนทางเศรษฐกิจอยู่บ้าง แต่ความต้องการของตลาดต่างประเทศยังมีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นได้จากความสามารถในการส่งออกสินค้าได้ดีในหลายกลุ่มสินค้าและตลาดสำคัญ ประกอบกับแนวโน้มราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่สูงขึ้น ส่งผลให้สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์มีทิศทางของราคาที่ปรับสูงขึ้น ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง เหล็ก น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการส่งออกของไทยยังคงมีอยู่ เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจการค้าของประเทศคู่ค้า รวมถึงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่คาดว่าจะยืดเยื้อ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน เป็นต้น

ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2561

ดัชนีราคานำเข้าของประเทศ แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้านำเข้าที่ผู้นำเข้าในประเทศไทยได้จ่ายไปเพื่อ นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ราคานำเข้าที่สำรวจเป็นราคา C.I.F. (Cost, Insurance และ Freight) ครอบคลุม 5 หมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเชื้อเพลิง หมวดสินค้าทุน หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 751 รายการ สรุปได้ดังนี้

1. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2561 เท่ากับ 92.3 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนตุลาคม 2561 เท่ากับ 94.2) โดยดัชนีราคานำเข้าเดือนพฤศจิกายน 2561 ในหมวดสินค้าเชื้อเพลิง เท่ากับ 71.8 หมวดสินค้าทุน เท่ากับ 102.1 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เท่ากับ 96.2 หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค เท่ากับ 102.1 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง เท่ากับ 94.1

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2561 เมื่อเทียบกับ

2.1 เทียบกับเดือนตุลาคม 2561 (MoM) ลดลงร้อยละ -2.0 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม โดยราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมทั้งความตึงเครียดเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่อาจจะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันโลก หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ เคมีภัณฑ์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และสัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องมือเครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ทำจากยาง และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน สบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง และเสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ

2.2 เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2560 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 2.3 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

ดัชนีราคานำเข้าปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิงเป็นหลัก ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม น้ำมันสำเร็จรูป และถ่านหิน โดยมีสาเหตุหลักมาจากอุปทานน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลงขณะที่ความต้องการใช้เพิ่มขึ้น หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เคมีภัณฑ์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และอุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และรถยนต์โดยสารและรถบรรทุก และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด เสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ

2.3 เทียบเฉลี่ยกับเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2560 (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 6.0 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

ดัชนีราคานำเข้าปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม น้ำมันสำเร็จรูป ถ่านหิน และเชื้อเพลิงอื่นๆ หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ รถยนต์นั่ง ส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์และรถจักรยาน หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ ทองคำ สินแร่โลหะ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ อุปกรณ์ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และสัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป ด้ายและเส้นใย หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องมือเครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม สบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง เสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด และเครื่องใช้และเครื่องตกแต่งภายในบ้านเรือน

ทั้งนี้ คาดว่าดัชนีราคานำเข้าปี 2561 จะยังขยายตัวจากปีก่อน ถึงแม้ว่าราคาสินค้าเชื้อเพลิงซึ่งเป็นสินค้านำเข้าหลักของไทยในช่วงปลายปีนี้จะมีแนวโน้มลดลงก็ตาม เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากภาวะอุปทานล้นตลาดและความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว แต่ในช่วงตลอดปี 2561 ที่ผ่านมา ยังถือว่าเป็นสินค้าสำคัญที่สนับสนุนให้ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากผลของความตกลงร่วมมือกันระหว่างผู้ผลิตน้ำมันที่พยายามปรับลดกำลังการผลิตลง นอกจากนี้ สินค้า- นำเข้าอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันได้มีการปรับตัวสูงขึ้นมาโดยตลอดเช่นกัน เช่น เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก เป็นต้น

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ