ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมกราคม 2562 เท่ากับ 101.71 เมื่อเทียบกับ
ระยะเวลา การเปลี่ยนแปลง ร้อยละ 1. เดือนธันวาคม 2561 (MoM) ลดลง -0.02 2. เดือนมกราคม 2561 (YoY) สูงขึ้น 0.27
ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนมกราคม 2562 เทียบกับเดือนมกราคม 2561 สูงขึ้น 0.27 (YoY) สูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (เดือนธันวาคม 2561 สูงขึ้น 0.36) หมวดพลังงานยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว ซึ่งปรับลดลงร้อยละ -3.51 โดยปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจากช่วงปลายปีที่ผ่านมาตามภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่หมวดอาหารสด สูงขึ้นร้อยละ 1.14 เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวร้อยละ 0.69 (YoY)
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่า ปี 2562 เงินเฟ้อจะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2561 ระหว่างร้อยละ 0.7 - 1.7 (ค่ากลางร้อยละ 1.2)
1. ดัชนีราคาผู้บริโภค เดือนมกราคม 2562 เทียบกับเดือนก่อนหน้า ลดลงร้อยละ -0.02 (MoM) (ธันวาคม 2561 ลดลงร้อยละ -0.65) โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้
หมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ -0.24 ตามการลดลงของกลุ่มพลังงาน ร้อยละ -1.47 โดยหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ลดลงร้อยละ -0.86 โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ -2.79 จากการลดลงของ น้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์ 91 95 E20 และ E85 นอกจากนี้ ค่าโดยสารสาธารณะ ลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.02 จากการลดลงของ ค่าโดยสารเครื่องบินเป็นสำคัญ เนื่องจากสายการบินมีการแข่งขันด้านราคาค่อนข้างสูง หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ -0.04 ตามการลดลงของ เบียร์ และไวน์ ขณะที่หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.19 อาทิ ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว สบู่ถูตัว โฟมล้างหน้า หมวดเคหสถาน สูงขึ้นร้อยละ 0.18 ตามการสูงขึ้นของค่ากระแสไฟฟ้า จากการที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติให้เรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) สำหรับงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2562 เพิ่มขึ้นจากงวดก่อน 4.30 สตางค์/หน่วย เนื่องจากปัจจัยราคาเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ ค่าเช่าบ้าน น้ำยารีดผ้า ผลิตภัณฑ์ซักผ้า (น้ำยาซักแห้ง) ปรับราคาสูงขึ้น และหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.09 ตามการสูงขึ้นของเสื้อผ้าบุรุษและสตรี เป็นสำคัญ
หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.33 จากการสูงขึ้นของกลุ่มอาหารสด ร้อยละ 0.72 โดยหมวดผักและผลไม้ สูงขึ้นร้อยละ 0.54 โดยเฉพาะผักสด สูงขึ้นร้อยละ 1.20 อาทิ แตงกวา ผักกาดขาว ผักบุ้ง พริกสด เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนประกอบความต้องการบริโภคในช่วงเทศกาลปีใหม่มีมากกว่าช่วงที่ผ่านมา ผลไม้สด สูงขึ้นร้อยละ 0.64 อาทิ เงาะ ฝรั่ง องุ่น มังคุด โดยเฉพาะเงาะและมังคุดเป็นช่วงต้นฤดู หมวดเนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 1.10 ตามการสูงขึ้นของ เนื้อสุกร และอาหารทะเล (กุ้งขาว ปลาทู ปลาหมึกกล้วย) หมวดข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้นร้อยละ 0.38 ตามการสูงขึ้นของข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ขนมอบ หมวดไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 0.36 จากการสูงขึ้นของไข่ไก่ ไข่เป็ด ครีมเทียม นมเปรี้ยว นอกจากนี้ อาหารบริโภค-ในบ้าน และนอกบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 0.04 และ 0.08 ตามลำดับ ขณะที่เครื่องประกอบอาหาร ลดลงร้อยละ -0.01 ตามการลดลงของ ซีอิ๊ว เครื่องปรุงรส มะพร้าวแห้ง/ขูด และหมวดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ -0.07
2. เทียบเดือนมกราคม 2561 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 0.27 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้
หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 1.34 โดยเฉพาะหมวด ข้าวแป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้นร้อยละ 5.02 ตามการสูงขึ้นของข้าวสารเจ้า ขนมอบ ขนมปังปอนด์ เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ร้อยละ 3.04 (เนื้อสุกร ปลาทู ปลาหมึกกล้วย) ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 2.32 (ไข่ไก่ ไข่เป็ด นมผง นมเปรี้ยว) เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 2.16 (น้ำพริกแกง ซอสหอยนางรม กะปิ) อาหารบริโภค-ในบ้าน และนอกบ้าน ร้อยละ 0.93 และ 2.05 ตามลำดับ (ข้าวราดแกง อาหารเช้า กับข้าวสำเร็จรูป) นอกจากนี้ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.90 (กาแฟและชาสำเร็จรูปพร้อมดื่ม น้ำหวาน น้ำอัดลม) ขณะที่ผักสด ลดลงร้อยละ -3.97 และผลไม้สด ร้อยละ -2.29 เนื่องจากสภาพอากาศในช่วงนี้ของปี 2562 เหมาะต่อการเจริญเติบโตของสินค้าเกษตรมากกว่าปีก่อน ทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณมาก ประกอบกับมีสินค้าเกษตรจากจีนเข้ามาไทย จึงส่งผลให้ดัชนีราคาหมวดผักและผลไม้ ลดลงร้อยละ -4.36
หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ -0.36 ตามการลดลงสินค้าในกลุ่มพลังงานเป็นสำคัญ โดยน้ำมันเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ -6.09 จากการลดลงของน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท ยกเว้น ก๊าซธรรมชาติ (NGV) และ ก๊าซยานพาหนะ (LPG) ส่งผลให้หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ลดลงร้อยละ -1.92 สำหรับสินค้าสำคัญที่ดัชนีราคาสูงขึ้น ได้แก่ หมวดเคหสถาน ร้อยละ 0.76 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ร้อยละ 0.67 ค่าโดยสารสาธารณะ สูงขึ้นร้อยละ 0.34 หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ ร้อยละ 0.29 หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.22 และ 0.01 ตามลำดับ
คาดการณ์เงินเฟ้อ ปี 2562 อยู่ระหว่าง 0.7 - 1.7 (YoY) (ค่ากลาง 1.2)
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ -3.5-4.5 % (YoY) (สศช.)
ราคาน้ำมันดิบดูไบ 70 - 80 เหรียญสหรัฐฯ/บาท
อัตราการแลกเปลี่ยน 32.5 -33.5 บาท/เหรียญสหรัฐ
สถานการณ์และปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อเงินเฟ้อ
ยังคงมีความเสี่ยงจากความผันผวนในโครงสร้างการผลิตและความต้องการโลก รวมทั้งบริบททางการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะในยุโรปตะวันออก และตะวันออกกลาง
ทั้งภาครัฐและเอกชนน่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยมีสัญญาณจากความคืบหน้าการลงนามในสัญญาก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ความต่อเนื่องของโครงการลงทุนเดิมที่ยังไม่แล้วเสร็จ และการขอรับการส่งเสริมการลงทุนโครงการต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงจากการที่ไม่สามารถทำงานได้ตามแผนที่กำหนด
ราคาสินค้าเกษตรสำคัญยังคงมีแนวโน้มในทิศทางที่ดี โดยเฉพาะข้าว และมันสำปะหลัง ในขณะที่ปาล์มน้ำมันและยางพาราน่าจะมีสัญญานที่ดีจากมาตรการแก้ไขต่าง ๆ ของภาครัฐ
สินค้าอุตสาหกรรมหลายตัวที่ผลิตในประเทศมีสัญญาณต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น แต่ยังมีแรงกดดันจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากการนำเข้า
คาดว่าจะขยายตัวได้ตามการฟื้นตัวที่ต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับโอกาสในการย้ายฐานการผลิตเพื่อส่งออกหลายชนิดมายังประเทศไทยยังมีอยู่สูง ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อกำลังซื้อในประเทศ
มีความเสี่ยงและความผันผวนสูง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐ รวมถึงปริมาณเงินทุนไหลเข้าในประเทศ
ที่มา: กองสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์
โทรศัพท์ 02-5076554 โทรสาร 02-5075806
http://www.price.moc.go.th