ดัชนีภาวะธุรกิจส่งออก (Export Business Index) ประจำเดือนมกราคม 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 25, 2019 09:11 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

Highlights

ดัชนีมูลค่าส่งออก

ภาพรวมดัชนีภาวะธุรกิจส่งออกเดือนมกราคม 2562 เท่ากับ 45.4 มีค่าต่ำกว่าระดับ 50 แต่ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ที่อยู่ในระดับ 43.4 แสดงว่า ผู้ส่งออกมีมุมมองว่า แม้ภาวะการส่งออกของไทย จะชะลอตัวแต่ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น และจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ส่งออก จำนวน 301 ราย มีรายละเอียดผลการสำรวจดังนี้ ดัชนีมูลค่าส่งออก เดือนมกราคม 2562 มีค่าเท่ากับ 39.6 แสดงว่า มูลค่าการส่งออกมีทิศทางชะลอตัว โดยสาเหตุมาจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง และมีวันหยุดยาวของประเทศคู่ค้าหลัก เช่น ญี่ปุ่นและจีน นอกจากนี้การขาดแคลนวัตถุดิบของสินค้าบางกลุ่มทำให้ราคาวัตถุดิบ ปรับตัวสูงขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังและอาหารทะเลแช่เยือกแข็ง โดยเฉพาะกุ้ง ที่เกษตรกรผู้เลี้ยงประสบปัญหาขาดทุน จากการแข่งขัน ด้านราคากันสูงจากต่างประเทศ ทำให้ปริมาณผลผลิตลดลง

สินค้าสำคัญที่มีมูลค่าส่งออก ลดลง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไก่แช่เยือกแข็งและแปรรูป อาหารทะเลแช่เยือกแข็ง น้ำตาลทราย สิ่งทอ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (ไม่รวมคอมพิวเตอร์) เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารสำเร็จรูป และเชื้อเพลิงและพลังงาน

ขณะที่สินค้าที่มีมูลค่าส่งออก เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว ยางพารา เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ ยานพาหนะ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป และรองเท้าและชิ้นส่วน

ดัชนีคำสั่งซื้อใหม่

ดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ เดือนมกราคม 2562 มีค่าเท่ากับ 41.0 แสดงว่า คำสั่งซื้อใหม่มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหารทะเลแช่เยือกแข็ง ตามภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น ส่วนไก่แช่เยือกแข็งและแปรรูป เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่อยู่ใน ภาวะผันผวนสูง โดยเฉพาะตลาดยุโรป ทำให้ลูกค้าไม่แน่ใจที่จะสั่งซื้อ

สินค้าที่มีมูลค่าคำสั่งซื้อใหม่ ลดลง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหารทะเลแช่เยือกแข็ง ไก่แช่เยือกแข็งและแปรรูป น้ำตาลทราย สิ่งทอ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก อาหารสำเร็จรูป และเชื้อเพลิงและพลังงาน

ขณะที่สินค้าที่มูลค่าคำสั่งซื้อใหม่ เพิ่มขึ้น ได้แก่ ผักผลไม้ สด แช่เย็นแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ยางพารา อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (ไม่รวมคอมพิวเตอร์) เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ ยานพาหนะ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้าและชิ้นส่วน

ดัชนีการจ้างงาน

ดัชนีการจ้างงาน เดือนมกราคม 2562 มีค่าเท่ากับ 51.9 แสดงให้เห็นว่าการจ้างงานของภาคการส่งออกปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะ อุตสาหกรรมเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ตามคำสั่งซื้อ ที่เพิ่มขึ้น

สินค้าที่มีมูลค่าการจ้างงาน เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว ผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลัง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป น้ำตาลทราย อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง และยานพาหนะ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ

ขณะที่สินค้าที่มูลค่าการจ้างงาน ลดลง ได้แก่ อาหารทะเลแช่เยือกแข็ง สิ่งทอ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (ไม่รวมคอมพิวเตอร์) เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน อาหารสำเร็จรูป และ เชื้อเพลิงและพลังงาน

ดัชนีสินค้าคงคลัง

ดัชนีสินค้าคงคลังเดือนมกราคม 2562 มีค่าเท่ากับ 49.0 แสดงว่ามูลค่าสินค้าคงคลังมีแนวโน้มลดลง เป็นผลจากการบริหารจัดการสินค้าคงคลังให้น้อยลง เนื่องจากราคาวัตถุดิบมีราคาสูงขึ้น

สินค้าคงคลังที่ ลดลง ได้แก่ ไก่แช่เยือกแข็งและแปรรูป อาหารทะเลแช่เยือกแข็ง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป สิ่งทอ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องอิเล็ก ทรอนิกส์ (ไม่รวมคอมพิวเตอร์) เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ อาหาร.6 2สำเร็จรูป และเชื้อเพลิงและพลังงาน

ขณะที่มูลค่าสินค้าคงคลังที่ เพิ่มขึ้นได้แก่ ข้าว ผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลัง ยางพารา น้ำตาลทราย เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง ยานพาหนะ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ และ เสื้อผ้าสำเร็จรูป

ปัญหาและข้อเสนอแนะของผู้ส่งออก

ปัญหา
  • อัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก ทำให้รายได้ในรูปเงินบาทของภาคการส่งออกลดลง
  • ต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการกำหนดราคาของบริษัท และความสามารถในการแข่งขันทางการค้า
  • การขนส่งทางเรือโดยตู้บรรจุสินค้าสำหรับการส่งออก (ตู้คอนเทนเนอร์) จำนวนเรือไม่เพียงพอต่อการส่งออกสินค้า การจองเรือ ยากขึ้น บริเวณท่าเรือกรุงเทพและแหลมฉบังมีสภาพที่แออัด
  • ขาดสภาพคล่องทางการเงิน
  • ความต้องการของตลาดต่างประเทศและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก
  • ลูกค้าชะลอการสั่งซื้อ เพื่อรอดูแนวโน้มตลาดโลก
  • ขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือ ในอุตสาหกรรมเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (ไม่รวมคอมพิวเตอร์) เนื่องจากอัตราพนักงานเข้า-ออกบ่อย ทำให้เกิดปัญหาการควบคุมคุณภาพสินค้า
  • สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน มีผลกระทบในอุตสาหกรรมเส้นใยสังเคราะห์ ทำให้ Supply จีนเข้าอาเซียนมากขึ้นและเข้ามาแบ่งส่วนการตลาดเดิม
ข้อเสนอแนะ

ภาครัฐควรดำเนินการ ดังนี้

  • ส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีให้มากขึ้นในอาเซียน และผลักดันให้นำเข้าอย่างถูกต้อง
  • เจรจากับประเทศคู่ค้าในอาเซียนเพื่อให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ยกเว้น (VAT) นำเข้าอย่างถูกต้องสำหรับสินค้าเครื่องจักรกลการเกษตร
  • ดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ เพื่อช่วยให้สามารถแข่งขันกับประเทศคู่ค้า
  • ดูแลมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐอเมริกาและจีน โดยเฉพาะกำแพงภาษีนำเข้า ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตทำให้ปริมาณการส่งออกลดลง
  • ภาครัฐควรพิจารณาซื้อเครนใหม่ สำหรับการขนถ่ายสินค้า เนื่องจากเครนที่ชำรุดและส่งซ่อมแซมบ่อย ทั้งนี้ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานและช่วยให้ผู้ส่งออกสามารถส่งสินค้าได้ตามเวลาที่กำหนด
  • ให้ความรู้ในกรณีที่มีสิทธิประโยชน์ทางการค้า ทางภาษีใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการ

ที่มา: กองสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


แท็ก การส่งออก  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ