รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคประเทศ ประจำเดือน ธ.ค.50

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 24, 2008 08:42 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือน ธันวาคม 2550
กระทรวงพาณิชย์ ขอรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนธันวาคม และปี 2550 โดยสรุป จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 373 รายการ ครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่ม เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ยานพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่านและการศึกษา ฯลฯ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคา ผู้บริโภคทั่วไป ได้ผลดังนี้
1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนธันวาคม 2550
ในปี 2545 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนธันวาคม 2550 เท่ากับ 119.0 สำหรับเดือนพฤศจิกายน 2550 คือ 118.9
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนธันวาคม 2550 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนพฤศจิกายน 2550 สูงขึ้นร้อยละ 0.1
2.2 เดือนธันวาคม 2549 สูงขึ้นร้อยละ 3.2
2.3 เฉลี่ยทั้งปี 2550 สูงขึ้นร้อยละ 2.3
3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนธันวาคม 2550 เทียบกับ เดือนพฤศจิกายน 2550 สูงขึ้นร้อยละ 0.1 เป็นอัตราที่ชะลอลงกว่าเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากหมวดอาหารและเครื่องดื่มโดยเฉลี่ยมีแนวโน้มลดลง ปัจจัยหลักมาจากการลดลงของดัชนีหมวดผักและผลไม้ ตามสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ประกอบกับราคาข้าวสารเหนียวลดลงค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามปัจจัยสำคัญจากการสูงขึ้นของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศตามภาวะราคาตลาดโลกที่ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าสูงขึ้น เช่น อุปกรณ์ยานยนต์ และก๊าซหุงต้มขอปรับราคาสูงขึ้น ส่งผลให้ดัชนีรวมโดยเฉลี่ยมีอัตราที่สูงขึ้นเล็กน้อย
3.1 ดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 0.3 ปัจจัยหลักมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยทุกชนิดในประเทศ ถึงแม้จะมีการปรับลด 1 ครั้ง และเพิ่ม 1 ครั้งก็ตาม ประกอบกับราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มปรับสูงขึ้นตามการอนุมัติของคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2550 นอกจากนี้ อุปกรณ์รถยนต์ ได้แก่ ยางรถยนต์ แบตเตอรี่ ค่าโดยสารรถจักรยานยนต์รับจ้าง ปรับราคาสูงขึ้นรวมทั้งค่าโดยสารเครื่องบินปรับค่าธรรมเนียมน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้นเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2550
3.2 ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ดัชนีลดลงร้อยละ 0.2 สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของดัชนีราคาหมวดผักและผลไม้ ร้อยละ 2.4 ที่สำคัญได้แก่ ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักบุ้ง ต้นหอม และส้มเขียวหวาน นอกจากนี้ ไข่ ลดลงร้อยละ 1.7 และข้าวสารเหนียวลดลงร้อยละ 6.2 ส่วนอาหารที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ เนื้อสุกร ไก่สด ปลาและสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์นม
4. ถ้าพิจารณาเทียบกับเดือนธันวาคม 2549 ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 3.2 โดยสาเหตุหลักมาจากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มร้อยละ 2.8 และหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มร้อยละ 3.5 โดยหมวดอาหารและเครื่องดื่มมีปัจจัยมาจากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดไข่และผลิตภัณฑ์นมร้อยละ 8.3 หมวดเครื่องประกอบอาหารร้อยละ 6.4 และหมวดข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งร้อยละ 4.3 ขณะที่หมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นจากดัชนีน้ำมันเชื้อเพลิงร้อยละ 23.1 เป็นหลักสำคัญ
5. ถ้าพิจารณาดัชนีเฉลี่ยทั้งปี 2550 เทียบกับปี 2549 สูงขึ้นร้อยละ 2.3 นับเป็นอัตราที่ชะลอตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา (ปี 2549 สูงขึ้นร้อยละ 4.7) ทั้งนี้เนื่องจากในช่วง 9 เดือนแรกราคาเฉลี่ยน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศมีแนวโน้มลดลง และมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีตามภาวะราคาตลาดโลก ส่งผลให้มีการปรับอัตราค่าโดยสารสาธารณะ รวมทั้งสินค้าต่างๆ มีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น นอกจากนี้มีการปรับภาษีสรรพสามิตบุหรี่และสุราสูงขึ้น ทำให้ดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 1.2 ถึงแม้ว่าอัตราค่ากระแสไฟฟ้าจะปรับลดลงตามต้นทุนเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิต
สำหรับสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม ถึงแม้อาหารสด โดยเฉพาะผักและผลไม้ราคาจะมีแนวโน้มลดลงแต่ถ้าเทียบกับปีที่ผ่านมาดัขนียังคงสูงขึ้นร้อยละ 11.9 สำหรับในครึ่งหลังของปีเครื่องประกอบอาหาร เช่น น้ำมันพืช น้ำปลา รวมถึงกาแฟ ปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิต ส่งผลให้ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นค่อนข้างมากร้อยละ 4.0
อย่างไรก็ตาม จากการชะลอตัวของราคาสินค้าในช่วงครึ่งแรกของปีประกอบกับการบริหารจัดการด้านราคาของกระทรวงพาณิชย์ส่งผลให้แรงกดันต่อภาวะเงินเฟ้ออ่อนตัวกว่าปีที่ผ่านมาคืออยู่ที่ระดับร้อยละ 2.3
6. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 266 รายการ) คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงานจำนวน 107 รายการ คิดเป็นประมาณร้อยละ 24 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด
ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนธันวาคม 2550 เท่ากับ 106.3 เมื่อเทียบกับ
6.1 เดือนพฤศจิกายน 2550 สูงขึ้นร้อยละ 0.1
6.2 เดือนธันวาคม 2549 สูงขึ้นร้อยละ 1.2
6.3 เฉลี่ยทั้งปี 2550 สูงขึ้นร้อยละ 1.1
โดยดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนธันวาคม 2550 เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2550 สูงขึ้นร้อยละ 0.1 ปัจจัยหลักมาจากการสูงขึ้นของเครื่องประกอบอาหาร สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ค่าโดยสารสาธารณะ อุปกรณ์รถยนต์ เช่น แบตเตอรี่ ยางรถยนต์
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ