ดัชนีราคาส่งออก เดือนมกราคม 2562 เท่ากับ 100.3 (ปี 2555 = 100)เทียบกับเดือนมกราคม 2561 ปรับตัวสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอลงร้อยละ 0.2 (YoY) สาเหตุหลักเป็นผลจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีทิศทางชะลอตัว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจาก ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ประกอบกับแนวโน้มค่าเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าขึ้น โดยหมวดสินค้าที่ส่งผลให้ดัชนีราคาส่งออกยังคงปรับตัวสูงขึ้นประกอบด้วย หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก และผลิตภัณฑ์ยาง รองลงมาคือ หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และข้าว ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรปรับตัวลดลง ได้แก่ น้ำตาลทราย และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง โดยเฉพาะน้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ
ดัชนีราคานำเข้า เดือนมกราคม 2562 เท่ากับ 91.8 (ปี 2555 = 100) เทียบกับเดือนมกราคม 2561 ลดลงร้อยละ 0.4 (YoY) ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 28 เดือน โดยหมวดสินค้าที่ปรับลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบยานยนต์และอุปกรณ์ ขณะที่หมวดสินค้าที่ปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ และการแพทย์ การทดสอบ และหมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สำหรับหมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง คือ หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค
อัตราการค้าของไทย เป็นเกณฑ์วัดความได้เปรียบเสียเปรียบทางการค้าของประเทศ พิจารณาจากอัตราส่วนระหว่างดัชนีราคาส่งออกกับดัชนีราคานำเข้า ซึ่งอัตราการค้าของไทย ในเดือนมกราคม 2562 เท่ากับ 109.3 (เดือนธันวาคม 2561 เท่ากับ 109.5) มีค่าสูงกว่า 100 แสดงว่าประเทศไทยยังมีความสามารถทางการแข่งขันที่ดี ทั้งนี้ เนื่องจากราคาสินค้าส่งออกโดยรวม อยู่ในระดับที่สูงกว่าราคานำเข้า โดยเฉพาะสินค้าส่งออกสำคัญของไทย อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผักและผลไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์ทำจากข้าวและแป้ง ปุ๋ย เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ซึ่งเป็นไปตามความต้องการสินค้าจากตลาดต่างประเทศที่มีอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ราคาส่งออกสูงกว่าราคานำเข้าเช่นกัน เนื่องจากเป็นวัตถุดิบเกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น และเป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญสำหรับการผลิตสินค้าเพื่อส่งออก
ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าส่งออกในรูปของดัชนี โดยใช้วัดการ เปลี่ยนแปลงของราคาส่งออกที่ผู้ส่งออกในประเทศไทยได้ส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ทั้งนี้ ราคาส่งออกที่สำรวจเป็นราคา F.O.B (Free On Broad) ครอบคลุม 4 หมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเกษตรกรรม หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร หมวดสินค้าอุตสาหกรรม และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 682 รายการ สรุปได้ดังนี้
1. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนมกราคม 2562 เท่ากับ 100.3 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนธันวาคม 2561 เท่ากับ 100.0) โดยดัชนีราคาส่งออกเดือนมกราคม 2562 ในหมวดสินค้าเกษตรกรรม เท่ากับ 98.1 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร เท่ากับ 107.1 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เท่ากับ 102.7 และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง เท่ากับ 74.0
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนมกราคม 2562 เมื่อเทียบกับ
2.1 เทียบกับเดือนธันวาคม 2561 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.3 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าส่งออกจำแนกตามรายหมวดสินค้า ดังนี้
ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วยหมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ยางพารา โดยมีปัจจัย สนับสนุนจากมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางของภาครัฐที่ลดการพึ่งพาการส่งออกและเพิ่มสัดส่วนการใช้ยางพาราในประเทศมากขึ้น สำหรับข้าว ราคาสูงขึ้นเนื่องจากมีคำสั่งซื้อข้าวเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขายข้าวขาวให้กับฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย รวมถึงข้าวหอมมะลิยังคงมีการนำเข้าต่อเนื่องเช่นเดียวกัน จากสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และจีน สำหรับหมวดสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และทองคำ ตามความต้องการสินค้าที่มีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับทองคำได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร โดยเฉพาะน้ำตาลทราย ราคาสูงขึ้นเนื่องจากคาดการณ์ว่าจีนจะซื้อเอทานอลจากสหรัฐฯและบราซิลในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้บราซิลเพิ่มกำลังการผลิตเอทานอลที่ผลิตจากอ้อยมากขึ้น ประกอบกับ ผลผลิตน้ำตาลของอินเดียได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง ส่งผลให้ผลผลิตน้ำตาลในตลาดโลกลดลง จึงเป็นแรงหนุนให้ราคาน้ำตาลปรับตัวเพิ่มขึ้น และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบเนื่องจากตลาดกังวลต่อปริมาณน้ำมันดิบที่จะ ปรับตัวลดลง หลังจากที่สหรัฐฯ มีแผนการจะคว่ำบาตรเวเนซุเอลา ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกของเวเนซุเอลาในปีนี้ปรับตัวลดลง
2.2 เทียบกับเดือนมกราคม 2561 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 0.2 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าส่งออกจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้
หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง และสิ่งทอ รองลงมาคือ หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และข้าว ขณะที่ หมวดสินค้าที่ปรับตัวลดลงประกอบด้วย หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ น้ำตาลทราย และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง โดยเฉพาะน้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ
ทั้งนี้ แนวโน้มดัชนีราคาส่งออกของปี 2562 คาดว่าจะต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงภายนอกที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เช่น สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเสี่ยงและควรเฝ้าระวัง ซึ่งส่งผลต่อความต้องการของตลาดโลก นอกจากนี้ ราคาสินค้าเกษตรบางรายการที่ยังอยู่ในระดับต่ำจากปัญหาอุปทานล้นตลาดและการแข่งขันรุนแรงจากประเทศคู่แข่ง ได้แก่ ยางพารา ข้าว น้ำตาลทราย ไก่สดและกุ้งสด แช่เย็นแช่แข็ง เป็นต้น รวมถึงความผันผวนอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยนที่มีทิศทางแข็งค่า ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันต่อราคาส่งออกไทยในอนาคต
ดัชนีราคานำเข้าของประเทศ แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้านำเข้าที่ผู้นำเข้าในประเทศไทยได้จ่ายไป เพื่อนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ราคานำเข้าที่สำรวจเป็นราคา C.I.F. (Cost, Insurance และ Freight) ครอบคลุม 5 หมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเชื้อเพลิง หมวดสินค้าทุน หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 728 รายการ สรุปได้ดังนี้
1. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนมกราคม 2562 เท่ากับ 91.8 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนธันวาคม 2561 เท่ากับ 91.3) โดยดัชนีราคานำเข้าเดือนมกราคม 2562 ในหมวดสินค้าเชื้อเพลิง เท่ากับ 66.8 หมวดสินค้าทุน เท่ากับ 102.8 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เท่ากับ 96.7 หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค เท่ากับ 102.3 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์- การขนส่ง เท่ากับ 94.6
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนมกราคม 2562 เมื่อเทียบกับ
2.1 เทียบกับเดือนธันวาคม 2561 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.5 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้
ดัชนีราคานำเข้าที่ปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม น้ำมันสำเร็จรูป และเชื้อเพลิงอื่นๆ โดยสาเหตุหลักเป็นผลมาจากข้อตกลงร่วมกันของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันทั้งในและนอกกลุ่มโอเปคที่ จะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน เพื่อสร้างสมดุลราคาในตลาดน้ำมันดิบ อีกทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนทำให้ความต้องการใช้น้ำมันปรับเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังได้รับสัญญาณที่ดีของการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่อาจส่งผลต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องมือเครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ และผลิตภัณฑ์ทำจากยาง หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ ทองคำ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก ลวดและสายเคเบิล และ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป และหมวดสินค้าอุปโภคและบริโภค ได้แก่ สบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องประดับอัญมณี และผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ สำหรับหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์ยานขนส่ง ดัชนีราคานำเข้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่มีสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ รถยนต์นั่ง และรถยนต์โดยสารและรถบรรทุก ขณะที่สินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์
2.2 เทียบกับเดือนมกราคม 2561 (YoY) ลดลงร้อยละ 0.4 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้
หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ และการแพทย์ การทดสอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และสัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป ขณะที่หมวดสินค้าที่ปรับลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป เชื้อเพลิงอื่นๆ และถ่านหิน จากอุปทานน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดน้อยลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ และความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบยานยนต์และอุปกรณ์ สำหรับหมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าไม่มี การเปลี่ยนแปลง คือ หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค แต่มีสินค้าสำคัญที่ปรับสูงขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด เสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ ผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ และเครื่องดื่มประเภทน้ำแร่ น้ำอัดลมและ สุรา ขณะที่สินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ เลนส์ แว่นตาและส่วนประกอบ
ทั้งนี้ แนวโน้มดัชนีราคานำเข้าปี 2562 คาดว่าจะยังได้รับแรงกดดันจากราคาสินค้านำเข้าหลักของไทย คือ น้ำมันดิบ ที่อาจจะยังคงผันผวนค่อนข้างสูงและมีแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสินค้านำเข้าที่เกี่ยวเนื่อง เช่น เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก สินค้าเชื้อเพลิงอื่นๆ เป็นต้น นอกจากนี้ ประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่มีผลกระทบเชื่อมโยงกับการค้าโลกอาจส่งผลต่ออุปสงค์ของสินค้าต่างๆ ในตลาด รวมถึงระดับราคาสินค้านำเข้าของไทยได้
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825