ดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 25, 2019 15:10 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาส่งออก เดือนกุมภาพันธ์ 2562 เท่ากับ 100.7 (ปี 2555 = 100) เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2561 สูงขึ้นร้อยละ 0.4 (YoY) ยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องตามทิศทางราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงคำสั่งซื้อจากตลาดต่างประเทศที่มี อย่างต่อเนื่อง และผลกระทบจากข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่แม้จะยังไม่คลี่คลายแต่มีทิศทางปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้หมวดสินค้าที่ทำให้ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ รองลงมาคือ หมวดสินค้าแร่และ เชื้อเพลิง โดยเฉพาะน้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรยังคงปรับตัวลดลง ได้แก่ น้ำตาลทราย และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป

ดัชนีราคานำเข้า เดือนกุมภาพันธ์ 2562 เท่ากับ 92.8 (ปี 2555 = 100) เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2561 สูงขึ้นร้อยละ 0.4 (YoY) โดยหมวดสินค้าที่ปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สัตว์น้ำสด แช่เย็นแช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ทองคำ ขณะที่หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ เครื่องรับวิทยุโทรศัพท์ โทรเลข โทรทัศน์ ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์

อัตราการค้า (Term of Trade) ของประเทศไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2562

อัตราการค้าของไทย เป็นเกณฑ์วัดความได้เปรียบเสียเปรียบทางการค้าของประเทศ พิจารณาจากอัตราส่วนระหว่าง ดัชนีราคาส่งออกกับดัชนีราคานำเข้า ซึ่งอัตราการค้าของไทย ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เท่ากับ 108.5 (เดือนมกราคม 2562 เท่ากับ 109.3) มีค่าสูงกว่า 100แสดงว่าประเทศไทยยังมีความสามารถทางการแข่งขันที่ดี ทั้งนี้ เนื่องจากราคาสินค้าส่งออก โดยรวมอยู่ในระดับที่สูงกว่าราคานำเข้า โดยเฉพาะสินค้าส่งออกสำคัญของไทย อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผักและผลไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์ทำจากข้าวและแป้ง ปุ๋ย เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ซึ่งเป็นไปตามความต้องการสินค้าจากตลาดต่างประเทศที่มีอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ราคาส่งออกสูงกว่าราคานำเข้าเช่นกัน เนื่องจากเป็นวัตถุดิบเกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น

ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2562

ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าส่งออกในรูปของดัชนี โดยใช้วัด การเปลี่ยนแปลงของราคาส่งออกที่ผู้ส่งออกในประเทศไทยได้ส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ทั้งนี้ ราคาส่งออกที่สำรวจเป็นราคา F.O.B (Free On Broad) ครอบคลุม 4 หมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเกษตรกรรม หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร หมวดสินค้าอุตสาหกรรม และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 682 รายการ สรุปได้ดังนี้

1. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เท่ากับ 100.7 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนมกราคม 2562 เท่ากับ 100.3) โดยดัชนีราคาส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ในหมวดสินค้าเกษตรกรรม เท่ากับ 98.8 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร เท่ากับ 107.4 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เท่ากับ 102.8 และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง เท่ากับ 77.4

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เมื่อเทียบกับ

2.1 เทียบกับเดือนมกราคม 2562 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.4 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าส่งออกจำแนกตามรายหมวดสินค้า ดังนี้

ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วยหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบเนื่องจากผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกร่วมมือกันปรับลดกำลังการผลิตเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำมัน ให้มีความเหมาะสมสำหรับหมวดสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ทองคำ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ตามความต้องการสินค้าที่มีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับทองคำได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการอ่อนค่าของ เงินดอลลาร์สหรัฐ หลังผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ยางพารา เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง เพราะเข้าสู่ฤดูยางผลัดใบ ทำให้เกษตรกรหยุดกรีดยาง เพื่อเป็นการพักต้นยางให้สามารถเติบโตได้ในระยะต่อไป นอกจากนี้ ข้าว ราคาสูงขึ้นเนื่องจากมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ สำหรับผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ราคาสูงขึ้นเนื่องจากผลผลิตที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวมีคุณภาพดี ส่งผลให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ในราคาสูงขึ้นเช่นกัน และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรเช่น น้ำตาลทราย ราคาสูงขึ้นเนื่องจากผลผลิตโลกปรับตัวลดลงโดยเฉพาะประเทศผู้ส่งออกหลักอย่างประเทศบราซิลและอินเดีย ขณะที่ความต้องการในตลาดโลกเพิ่มขึ้นจากอินเดียและอินโดนีเซีย

2.2 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2561 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 0.4 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าส่งออกจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก และสิ่งทอ รองลงมาคือ หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง โดยเฉพาะน้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และผักผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ขณะที่หมวดสินค้าที่ปรับตัวลดลง คือ หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ น้ำตาลทราย และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป

2.3 เทียบเฉลี่ยกับเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2561 (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 0.3 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สิ่งทอ และผลิตภัณฑ์พลาสติก และหมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ปลาสด แช่เย็นแช่แข็ง ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ขณะที่หมวดสินค้าที่ปรับตัวลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ น้ำตาลทราย อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบเป็นหลัก

ทั้งนี้ แนวโน้มดัชนีราคาส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 คาดว่าจะต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงภายนอกที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เช่น สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเสี่ยงและควรเฝ้าระวัง ซึ่งส่งผลต่อความต้องการของตลาดโลก และผลกระทบจากการบังคับใช้ข้อตกลงทางการค้า ได้แก่ การที่ไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) จากประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 เป็นต้นไป เช่นเดียวกับการประกาศใช้มาตรการเซฟการ์ดของสหรัฐฯ ที่ลดการนำเข้าชิ้นส่วนอุตสาหกรรมจาก ทั่วโลก อาจส่งผลกระทบต่อตลาดการส่งออกไทยในระยะยาว นอกจากนี้ ราคาสินค้าเกษตรบางรายการที่ยังอยู่ในระดับต่ำจากปัญหาอุปทานล้นตลาดและการแข่งขันรุนแรงจากประเทศคู่แข่ง ได้แก่ ยางพารา ข้าว น้ำตาลทราย ไก่สดและกุ้งสดแช่เย็น แช่แข็ง เป็นต้น รวมถึงความผันผวนอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยนล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันต่อทิศทางราคาส่งออกไทยในอนาคต อย่างไรก็ตาม ความต้องการสินค้าไทยจากตลาดต่างประเทศยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะยังคง ช่วยสนับสนุนให้ราคาสินค้าส่งออกปรับตัวสูงขึ้นได้

ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2562

ดัชนีราคานำเข้าของประเทศ แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้านำเข้าที่ผู้นำเข้าในประเทศไทยได้จ่ายไป เพื่อนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ราคานำเข้าที่สำรวจเป็นราคา C.I.F. (Cost, Insurance และ Freight) ครอบคลุม 5 หมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเชื้อเพลิง หมวดสินค้าทุน หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 728 รายการ สรุปได้ดังนี้

1. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เท่ากับ 92.8 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนมกราคม 2562 เท่ากับ 91.8) โดยดัชนีราคานำเข้าเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ในหมวดสินค้าเชื้อเพลิง เท่ากับ 69.9 หมวดสินค้าทุน เท่ากับ 103.1 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เท่ากับ 97.0 หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค เท่ากับ 102.6 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง เท่ากับ 95.4

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เมื่อเทียบกับ

2.1 เทียบกับเดือนมกราคม 2562 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 1.1 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

ดัชนีราคานำเข้าที่ปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูป โดยสาเหตุหลักเป็นผลมาจากได้รับแรงหนุนจากข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปก รวมถึงสถานการณ์ความไม่สงบในลิเบีย และมาตรการคว่ำบาตรเวเนซุเอลาโดยสหรัฐ ทำให้ปริมาณการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับลดลง หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ ทองคำ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป หมวดสินค้าอุปโภคและบริโภค ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน สบู่ ผงซักฟอก และเครื่องสำอาง เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ รถยนต์นั่ง

2.2 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2561 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 0.4 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าที่ปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และหมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ทองคำ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช ปุ๋ย ด้ายและเส้นใย ขณะที่หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ เครื่องรับวิทยุโทรศัพท์ โทรเลข โทรทัศน์ ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ เลนซ์ แว่นตาและส่วนประกอบ เครื่องใช้และเครื่องตกแต่งภายในบ้านเรือน วัสดุและอุปกรณ์สำนักงาน และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์จักรยานยนต์และรถจักรยาน

2.3 เทียบเฉลี่ยกับเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2561 (AoA) ดัชนีราคาไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่มีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ และการแพทย์ การทดสอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และสัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป ด้ายและเส้นใย ขณะที่หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ถ่านหิน และ เชื้อเพลิงอื่นๆ และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์จักรยานยนต์ และรถจักรยาน สำหรับหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ดัชนีราคานำเข้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่มีสินค้าสำคัญที่ปรับสูงขึ้น ได้แก่ เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ ผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ และเครื่องดื่มประเภทน้ำแร่ น้ำอัดลมและสุรา ขณะที่สินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ เครื่องรับวิทยุโทรศัพท์ โทรเลข โทรทัศน์

ทั้งนี้ แนวโน้มดัชนีราคานำเข้าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 คาดว่าจะยังได้รับแรงกดดันจากราคาสินค้านำเข้าหลักของไทย คือ น้ำมันดิบ ที่อาจจะยังคงผันผวนค่อนข้างสูงและมีแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสินค้านำเข้าที่เกี่ยวเนื่อง เช่น เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก สินค้าเชื้อเพลิงอื่นๆ เป็นต้น นอกจากนี้ ประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่มีผลกระทบเชื่อมโยงกับการค้าโลก อาจส่งผลต่ออุปสงค์ของสินค้าต่างๆ ในตลาด รวมถึงระดับราคาสินค้านำเข้าของไทยได้

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ