ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนเมษายน 2562 เท่ากับ 102.82 เมื่อเทียบกับ
ระยะเวลา การเปลี่ยนแปลง ร้อยละ 1. เดือนมีนาคม 2562 (MoM) สูงขึ้น 0.44 2. เดือนเมษายน 2561 (YoY) สูงขึ้น 1.23
3. เฉลี่ย 4 เดือนแรกปี 2562 เทียบกับ
ช่วงเดียวกันของปี 2561 (AoA) สูงขึ้น 0.86
ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนเมษายน 2562 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 1.23 (YoY) ชะลอตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า (มีนาคม 2562 สูงขึ้นร้อยละ 1.24) ทั้งสินค้ากลุ่มอาหารสดและกลุ่มพลังงานยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญในการสูงขึ้นของเงินเฟ้อในเดือนนี้ โดยเฉพาะกลุ่มอาหารสด สูงขึ้นร้อยละ 3.30 ตามการสูงขึ้นของผักสด ที่ยังคงได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่ร้อน แห้งแล้งและมีแนวโน้มรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้พืชผักเสียหายปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดน้อยลง ส่วนกลุ่มพลังงานสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง หลังจากที่ลดลงในช่วงก่อนหน้า โดยสูงขึ้นร้อยละ 2.33 ตามภาวะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่ลดอัตรากำลังการผลิต เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวร้อยละ 0.61 (YoY)
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่า ปี 2562 เงินเฟ้อจะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่างร้อยละ 0.7 - 1.7 (ค่ากลางร้อยละ 1.2)
1. ดัชนีราคาผู้บริโภค เดือนเมษายน 2562 เทียบกับเดือนก่อนหน้า สูงขึ้นร้อยละ 0.44 (MoM) (มีนาคม 2562 สูงขึ้นร้อยละ 0.41) โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้
หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.61 จากการสูงขึ้นของกลุ่มอาหารสด ร้อยละ 1.37 โดยเฉพาะผักและผลไม้ สูงขึ้นร้อยละ 4.93 ตามการสูงขึ้นของผักสดร้อยละ 8.95 ได้แก่ มะนาว ต้นหอม พริกสด ผลไม้สดร้อยละ 2.45 ได้แก่ ส้มเขียวหวาน ทุเรียน เงาะ ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 0.24 โดยเฉพาะไข่ไก่และไข่เป็ด เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดส่งผลให้แม่พันธุ์ไก่/เป็ดออกไข่น้อยลง อาหารบริโภค-ในบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 0.11 จากการสูงขึ้นของพิซซ่า กับข้าวสำเร็จรูป แฮมเบอร์เกอร์ ขณะที่ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลดลงร้อยละ -0.09 ตามการลดลงของข้าวสารเจ้า ขนมอบและขนมปังปอนด์ เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ลดลงร้อยละ -0.07 ตามการลดลงของไก่สด เนื้อสุกร ปลานิลและปลาทู เครื่องประกอบอาหาร ลดลงร้อยละ -0.08 ได้แก่ น้ำมันพืช กะทิสำเร็จรูป มะขามเปียก เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ -0.02 ได้แก่ กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำผลไม้ และน้ำดื่มบริสุทธิ์ สำหรับอาหารบริโภค-นอกบ้าน ดัชนีราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง
หมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.34 ตามการสูงขึ้นของกลุ่มพลังงาน ร้อยละ 1.55 โดยน้ำมันเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 2.35 ตามการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเกือบทุกประเภท (ยกเว้นก๊าซยานพาหนะ (LPG) และก๊าซธรรมชาติ (NGV)) ค่าโดยสารสาธารณะ สูงขึ้นร้อยละ 1.62 ตามการสูงขึ้นของค่าโดยสารรถขสมก./บขส. และค่าโดยสารเครื่องบิน ส่งผลให้หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ 0.86 นอกจากนี้ หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.04 ตามการสูงขึ้นของเสื้อยกทรง กางเกงบุรุษ/สตรีและเครื่องแบบนักเรียน หมวดเคหสถาน สูงขึ้นร้อยละ 0.02 (ผงซักซอก ผลิตภัณฑ์ซักผ้า(น้ำยาซักแห้ง) ค่าเช่าบ้าน) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.04 (ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว แชมพู สบู่ถูตัว) และหมวดการบันเทิง การอ่านและการศึกษา สูงขึ้นร้อยละ 0.03 สำหรับหมวดยาสูบและเครื่องดื่ม มีแอลกอฮอล์ ดัชนีราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง
2. เทียบเดือนเมษายน 2561 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 1.23 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้
หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 2.20 โดยเฉพาะผักสดสูงขึ้นถึงร้อยละ 12.74 อาทิ พริกสด ต้นหอม ถั่วฝักยาว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้ง ซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมาทำให้พืชผักเสียหาย ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง และเนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ สูงขึ้นในอัตราเท่ากันที่ร้อยละ 3.33 ตามการสูงขึ้นของ ข้าวสารเจ้า ขนมปังปอนด์ เนื้อสุกร ปลาทู เครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 3.39 อาทิ น้ำพริกแกง น้ำปลา กะปิ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.66 อาทิ กาแฟ (ร้อน/เย็น) น้ำอัดลม ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 0.29 อาทิ ไข่ไก่ ไข่เป็ด ครีมเทียม อาหารบริโภค-ในบ้าน และนอกบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 0.75 และ 1.80 ตามลำดับ อาทิ ข้าวราดแกง อาหารเช้า กับข้าวสำเร็จรูป ขณะที่ผลไม้ ลดลงร้อยละ -0.50 ตามการลดลงของเงาะและส้มเขียวหวานเป็นสำคัญ
หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.67 ตามการสูงขึ้นของน้ำมันเชื้อเพลิงร้อยละ 2.72 โดยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นเกือบทุกประเภท ยกเว้นดีเซลราคาลดลง ค่าโดยสารสาธารณะ สูงขึ้นร้อยละ 1.91 (ค่าโดยสารรถขสมก./บขส. ค่ารถรับส่งนักเรียน ค่าโดยสารเครื่องบิน) ส่งผลให้หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ 1.06 หมวดเคหสถาน สูงขึ้นร้อยละ 0.52 (ค่าเช่าบ้าน ค่ากระแสไฟฟ้า) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.35 (เครื่องแบบนักเรียนหญิง/ชาย) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.34 (ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว ค่าแต่งผมชาย/สตรี) หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ ร้อยละ 0.32 ขณะที่หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ -0.03
3. เฉลี่ย 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) ปี 2562 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 0.86 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 1.95 ตามการสูงขึ้นของข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 4.52 โดยเฉพาะข้าวสารเจ้า ขนมปังปอนด์ เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ ร้อยละ 3.89 (หอยลาย หอยแครง เนื้อสุกร) ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 1.37 (ไข่ไก่ ไข่เป็ด นมผง) ผักสด ร้อยละ 4.55 (ขึ้นฉ่าย ต้มหอม ผักชี) เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 2.74 (น้ำพริกแกง กะปิ เกลือป่น) เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 0.73 (น้ำหวาน กาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่ม) ส่วนอาหารบริโภค-ในบ้าน และนอกบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 0.79 และ 1.89 ตามลำดับ ขณะที่ผลไม้สด ลดลงร้อยละ -1.14 (เงาะ ส้มเขียวหวาน กล้วยน้ำว้า)
หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.25 จากสูงขึ้นของหมวดเคหสถาน ร้อยละ 0.64 (ก๊าซหุงต้ม ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.41 หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.37 ค่าโดยสารสาธารณะ สูงขึ้นร้อยละ 0.73 หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ สูงขึ้นร้อยละ 0.30 ขณะที่หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ลดลงร้อยละ -0.19 ตามการลดลงของน้ำมันเชื้อเพลิงร้อยละ -0.84 การสื่อสารร้อยละ -0.04 และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ -0.01
คาดการณ์เงินเฟ้อ ปี 2562 อยู่ระหว่าง 0.7 - 1.7 (YoY) (ค่ากลาง 1.2)
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ 3.5-4.5 % (YoY) (สศช.)
ราคาน้ำมันดิบดูไบ 70 - 80 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล
อัตราแลกเปลี่ยน 32.5 -33.5 บาท/เหรียญสหรัฐฯ
สถานการณ์และปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อเงินเฟ้อ ปี 2562
ราคาพลังงาน ยังคงมีความเสี่ยงจากความผันผวนในโครงสร้างการผลิตและความต้องการโลก รวมทั้งบริบททางการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคต่าง ๆ
การลงทุน มีทิศทางที่ดีขึ้น โดยมีสัญญาณจากความคืบหน้าการลงนามในสัญญาก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ความต่อเนื่องของโครงการลงทุนเดิมที่ยังไม่แล้วเสร็จ และการขอรับการส่งเสริมการลงทุนโครงการต่าง ๆ แต่ยังมีความเสี่ยงจากการที่ไม่สามารถทำงานได้ตามแผน
ราคาสินค้าเกษตร ราคาสินค้าเกษตรสำคัญยังคงมีแนวโน้มในทิศทางที่ดี รวมทั้งภาครัฐมีมาตรการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน
ราคาสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าอุตสาหกรรมหลายตัวที่ผลิตในประเทศมีสัญญาณต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น แต่ยังมีแรงกดดันจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากการนำเข้า
การส่งออก มีความเสี่ยงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่โอกาสในการย้ายฐานการผลิตเพื่อส่งออกหลายชนิดมายังประเทศไทยยังมีอยู่สูง
ค่าเงินบาท มีความเสี่ยงและความผันผวนสูง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐ รวมถึงปริมาณเงินทุนไหลเข้าในประเทศ
ที่มา: กองสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์
โทรศัพท์ 02-5076554 โทรสาร 02-5075806
http://www.price.moc.go.th