ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากระดับ 52.0 มาอยู่ที่ระดับ 51.3
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเมษายน 2562 โดยรวมอยู่ที่ระดับ 51.3 ปรับตัวลดลงจากเดือนมีนาคม 2562 เล็กน้อย แต่ยังอยู่ในช่วงความเชื่อมั่นสูงสุดเกินเกณฑ์ 50 เป็นเดือนที่ 4 (เดือนมกราคม 2562 อยู่ในช่วงความเชื่อมั่นเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี 10 เดือน) โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวสูงขึ้นจากระดับ 43.7 เป็น 44.8 สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคมีความมั่นใจในภาวะเศษฐกิจในปัจจุบันเพิ่มขึ้น ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตปรับตัวลดลงจากระดับ 57.5 เป็น 55.6
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ อยู่ในระดับเชื่อมั่นทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ปัจจุบัน และอนาคต (ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม และอนาคตปรับตัวลดลงจากระดับ 59.9 และ 67.2 มาอยู่ที่ 58.7 และ 62.9 ตามลำดับ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปัจจุบันปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 49.0 มาอยู่ที่ 52.5)
ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนนี้ปรับลดลงทุกกลุ่มอาชีพ ยกเว้นกลุ่มรับจ้างอิสระ ดัชนีปรับตัวสูงขึ้น อยู่ที่ 50.1 แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มพนักงานของรัฐ ผู้ประกอบการ และเกษตรกร ยังมีความเชื่อมั่นในระดับที่เกิน 50 โดยมีค่าดัชนี 53.9 52.4 และ 51.9 ตามลำดับ
ส่วนกลุ่มที่ยังอยู่ในช่วงไม่เชื่อมั่น ได้แก่ กลุ่มพนักงานเอกชน กลุ่มไม่ได้ทำงาน และ กลุ่มนักศึกษาที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเดือนเมษายน 2562 จำแนกรายภาค พบว่า ทุกภาคอยู่ในระดับเชื่อมั่น ยกเว้นกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยภาคที่มีความเชื่อมั่นสูงสุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้พบว่าทุกภาคดัชนีปรับตัวลดลง ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ทรงตัว และภาคกลางที่สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยสูงขึ้นในทุกกลุ่มอาชีพ ยกเว้นอาชีพเกษตรกร
เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม 2562 จำแนกได้ดังนี้
การซื้อสินค้าผ่านทางอินเทอร์เน็ต จากผลการสำรวจพบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่เคยซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ตคิดเป็นร้อยละ 74.3 และเคยซื้อ ร้อยละ 25.7 โดย สามารถจำแนกประเภทสินค้าที่ซื้อได้ดังนี้ สินค้าอาหาร สินค้าที่ไม่ใช่อาหาร และซื้อสินค้าทั้ง 2 ประเภท ร้อยละ 0.3 9.2 และ 16.2 ตามลำดับ
จากผลการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 10,451.73 บาท/เดือน (ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการผ่อนชำระต่างๆ เช่น บ้าน รถ ฯลฯ) ซึ่งเป็นการซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ต 1,640.95 บาท/เดือน (ร้อยละ 15.7 ของค่าใช้จ่าย) โดยกลุ่มที่มีการใช้จ่ายซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ตต่อเดือนสูงที่สุดคือ กลุ่มผู้ประกอบการ (3,285.98 บาท/เดือน) กลุ่มไม่ได้ทำงาน (2,082.35 บาท/เดือน) ในขณะที่กลุ่มรับจ้างอิสระและกลุ่มนักศึกษา มีการใช้จ่ายซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ตต่อเดือนต่ำที่สุด (1,493.77 และ 882.34 บาท/เดือน ตามลำดับ)
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0-2507-5850 โทรสาร. 0-2507-5825