ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงราคาในรูปของดัชนี เพื่อใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าที่ผู้ผลิตได้รับ ครอบคลุม 3 หมวด คือ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จากการสำรวจและประมวลผลราคาสินค้าที่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ผลิตจำหน่ายทั่วประเทศ มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 596 รายการ
1. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนพฤษภาคม 2562 (ปี 2553 = 100) มีค่าเท่ากับ 103.0 (เดือนเมษายน 2562 เท่ากับ 102.7)
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ เดือนพฤษภาคม 2562 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนเมษายน 2562 (MoM) สูงขึ้น ร้อยละ 0.3 โดยเมื่อพิจารณาดัชนีราคาเทียบกับเดือนเมษายน 2562 สูงขึ้น ร้อยละ 0.3 จากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 2.2 สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น กลุ่มผลผลิตการเกษตร ได้แก่ ข้าวเปลือก ราคาอ่อนตัวลงแต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ดี จากความต้องการชะลอตัวของผู้ส่งออก เนื่องจากที่ผ่านมาได้ส่งมอบครบตามคำสั่งซื้อแล้ว ส่งผลให้ราคาข้าวปรับตัวเล็กน้อย ยางพารา (น้ำยางข้น ยางแผ่นดิบ เศษยาง) เป็นช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย และมีมาตรการควบคุมปริมาณการส่งออกยางร่วมกัน 3 ประเทศ (ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย) รวมทั้งสิ้น 2.4 แสนตัน ระยะเวลา 4 เดือน (20 พ.ค.- 19 ก.ย. 2562) ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตในตลาดโลกลดลง พืชผัก (มะนาว แตงกวา มะเขือ พริกสด กะหล่ำปลี คะน้า ผักกาดหอม ถั่วฝักยาว ต้นหอม ผักชี ขึ้นฉ่าย พริกชี้ฟ้าสด ฟักทอง บวบ มะระจีน) ผลไม้ (กล้วยหอม สับปะรดโรงงาน มังคุด ส้มเขียวหวาน มะละกอ) สภาพอากาศที่แปรปรวนส่งผลให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง และกลุ่มสัตว์มีชีวิต ได้แก่ สุกรมีชีวิต ซึ่งส่งผลให้สุกรเจริญเติบโตช้าผลผลิตออกสู่ตลาดไม่มากนัก ขณะที่ความต้องการบริโภคทั้งในและต่างประเทศยังมีอย่างต่อเนื่อง สำหรับสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ ผลปาล์มสด ปลาช่อน ปลาดุก ปลานิล ปลาหมึกกล้วย และ กุ้งแวนนาไม จากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะกุ้งแวนนาไม จากสต็อกกุ้งยังมีมากทำให้ผู้ประกอบการชะลอการรับซื้อ เนื่องจากอินเดียและเวียดนามมีผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. ส่งผลให้ราคากุ้งตลาดโลกปรับตัวลดลง ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีราคาลดลง ร้อยละ 0.6 สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ และแร่โลหะ (ตะกั่ว สังกะสี ดีบุก วุลแฟรม) ปรับตามภาวะตลาดโลก สำหรับหมวดผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม ดัชนีราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีความเคลื่อนไหวของราคาสินค้า โดยสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น เช่น เนื้อสุกร ไก่สด ลำไยอบแห้ง ตามความต้องการบริโภคที่มีอยู่มากทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง วัตถุดิบในการผลิตมีปริมาณน้อยขณะที่ความต้องการยังมีอย่างต่อเนื่อง ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) สูงขึ้นตามราคาตลาดโลก ขณะที่สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง เช่น เยื่อกระดาษ คำสั่งซื้อลดลง กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (น้ำมันเบนซิน น้ำมันเตา เอทิลีน โพรพิลีน) จากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่มีต่อเศรษฐกิจโลก กลุ่มเคมีภัณฑ์ (โซดาไฟ คลอรีน โพลีสไตรีน โพลีไวนิลคลอไรด์) ตามราคาตลาดโลกและความต้องการใช้ที่ ชะลอตัว และทองคำ ราคาเคลื่อนไหวตามตลาดโลก
2.2 เดือนพฤษภาคม 2561 (YoY) โดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อพิจารณาดัชนีราคาเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2561 โดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีการเคลื่อนไหวของราคาของหมวดต่าง ๆ ดังนี้ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 7.2 โดยสินค้าสำคัญ กลุ่มผลผลิตการเกษตร ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และยางพารา ซึ่งเป็นช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดไม่มากนักขณะที่ความต้องการของตลาดยังมีอยู่อย่างต่อเนื่องส่งผลให้ราคาอยู่ในเกณฑ์ดี พืชผัก ได้แก่ มะนาว แตงกวา มะเขือ พริกสด กะหล่ำปลี ผักคะน้า ผักกาดหอม ถั่วฝักยาว ต้นหอม ผักชี ขึ้นฉ่าย และมะระจีน ผลไม้ ได้แก่ สับปะรดโรงงาน มะม่วง ส้มเขียวหวาน ทุเรียน และกลุ่มสัตว์มีชีวิต ได้แก่ สุกร จากสภาพอากาศแปรปรวนผลผลิต ออกสู่ตลาดลดลงขณะที่ความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น รวมทั้ง กลุ่มปลาและสัตว์น้ำ ได้แก่ ปลาตะเพียน ปลาทูสด ปลาอินทรี ปูม้า และกุ้งแวนนาไม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 1.6 จากกลุ่มสินค้า ก๊าซธรรมชาติ เป็นไปตามภาวะตลาดโลก ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 1.1 ตามราคาสินค้าสำคัญ เช่น กลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง ผลิตภัณฑ์ ปิโตรเคมี และเม็ดพลาสติก ตามความต้องการใช้ที่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ผ่านมา กลุ่มเยื่อกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ คำสั่งซื้อชะลอตัวประกอบกับมีการปรับราคาเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด กลุ่มเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก จากการแข่งขันสูงกับสินค้าเหล็ก ที่นำเข้าจากจีน กลุ่มส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ (ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) จากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วจึงปรับราคาเพื่อระบายสินค้ารุ่นเดิม และสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ (ทองคำ) เคลื่อนไหวตามราคาตลาดโลก
2.3 เทียบดัชนีเฉลี่ยเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2562 กับเดือน มกราคม – พฤษภาคม 2561 ลดลง ร้อยละ 0.1 โดยเมื่อพิจารณาดัชนีราคาเทียบเฉลี่ยเดือน ม.ค.–พ.ค. ปี 2562 กับระยะเดียวกัน ปี 2561 ลดลงร้อยละ 0.1 โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.8 สาเหตุจากการลดลงของราคาสินค้ากลุ่มสิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ เยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษและสิ่งพิมพ์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เคมี โลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ยานพาหนะและอุปกรณ์ และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 4.9 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้ากลุ่มลิกไนต์ ปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ กลุ่มแร่โลหะและแร่อื่นๆ และหมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้น ร้อยละ 3.7 จากกลุ่มผลผลิตการเกษตร สัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ปลาและสัตว์น้ำ
ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ ชุดโครงสร้างแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) เดือนพฤษภาคม 2562 ประกอบด้วย ดัชนีราคาหมวดสินค้าสำเร็จรูป หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และหมวดสินค้าวัตถุดิบ (ปี 2553 = 100) เดือนเมษายน 2562 ดัชนีราคาเท่ากับ 104.2 , 100.9 และ 100.2 ตามลำดับ
1. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ ชุดโครงสร้างแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP) เดือนพฤษภาคม 2562 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2562 หมวดสินค้าสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 0.3 หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) สูงขึ้นร้อยละ 0.2 และหมวดสินค้าวัตถุดิบ ไม่เปลี่ยนแปลง
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ ชุดโครงสร้างแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) เดือนพฤษภาคม 2562 เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2561 หมวดสินค้าสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 0.8 ขณะที่หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) ลดลงร้อยละ 2.1 และหมวดสินค้าวัตถุดิบ สูงขึ้นร้อยละ 0.8
3. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ ชุดโครงสร้างแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) เฉลี่ยเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2562 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 หมวดสินค้าสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 0.2 หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) ลดลงร้อยละ 1.9 และหมวดสินค้าวัตถุดิบ สูงขึ้นร้อยละ 2.6
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2507 5808 โทรสาร. 0 2507 5825