ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนมิถุนายน 2562 และระยะ 6 เดือนแรกของปี 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 1, 2019 11:40 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมิถุนายน 2562 เท่ากับ 102.94 เมื่อเทียบกับ

          ระยะเวลา                              การเปลี่ยนแปลง   ร้อยละ
          1. เดือนพฤษภาคม 2562 (MoM)                  ลดลง      -0.36
          2. เดือนมิถุนายน 2561 (YoY)                   สูงขึ้น       0.87
          3. ระยะ 6 เดือนแรกของปี 2562 เทียบกับ          สูงขึ้น       0.92

ช่วงเดียวกันของปี 2561 (AoA)

ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนมิถุนายน 2562 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.87 (YoY) ชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ของปี 2562 (พฤษภาคม 2562 สูงขึ้นร้อยละ 1.15) ปัจจัยบวกที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น คือ สินค้ากลุ่มอาหารสด โดยสูงขึ้นร้อยละ 6.35 ตามการสูงขึ้นของผักและผลไม้ ข้าวสาร และเนื้อสุกร เป็นสำคัญ ส่วนปัจจัยลบคือ สินค้าในกลุ่มพลังงานที่หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยลดลงร้อยละ -3.86 ตามราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ขณะที่ค่าโดยสารสาธารณะปรับราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมสินค้ากลุ่มอาหารสดและพลังงาน) ขยายตัวร้อยละ 0.48 (YoY) เมื่อพิจารณาเงินเฟ้อระยะ 6 เดือนแรกของปี 2562 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 สูงขึ้นร้อยละ 0.92 (ระยะ 6 เดือนแรกของปี 2561 สูงขึ้นร้อยละ 0.97) โดยมีสินค้ากลุ่มพลังงาน เป็นปัจจัยบวกที่สำคัญ

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2562 จากระหว่างร้อยละ 0.7 - 1.7 (YoY) (ค่ากลาง 1.2) เป็นระหว่างร้อยละ 0.7 -1.3 (YoY) (ค่ากลาง 1.0) เพื่อให้สะท้อนภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

1. ดัชนีราคาผู้บริโภค เดือนมิถุนายน 2562 เทียบกับเดือนก่อนหน้า ลดลงร้อยละ -0.36 (MoM) (พฤษภาคม 2562 สูงขึ้นร้อยละ 0.48) โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้

หมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ -0.64 ตามการลดลงของสินค้ากลุ่มพลังงาน ร้อยละ -3.76 โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ -5.62 ส่งผลให้หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ลดลงร้อยละ -1.83 หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลงร้อยละ -0.20 ตามการลดลงของ เสื้อผ้าบุรุษและสตรี หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ลดลงร้อยละ -0.12 ตามการลดลงของ โฟมล้างหน้า น้ำยาระงับกลิ่นกาย สบู่ถูตัว ขณะที่หมวดการบันเทิง การอ่านและการศึกษา สูงขึ้นร้อยละ 0.64 ตามการสูงขึ้นของ ค่าเดินทางไปเยี่ยมญาติและทำบุญ (ค่าเช่า-เหมารถตู้) ค่าเล่าเรียน - ค่าธรรมเนียมการศึกษา ภาครัฐและเอกชน ค่าโดยสารสาธารณะ สูงขึ้นร้อยละ 0.23 (ค่ารถรับส่งนักเรียน ค่าโดยสารรถเมล์เล็ก/รถสองแถว) นอกจากนี้ หมวดเคหสถาน และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ดัชนีราคาสูงขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.01 และ 0.02 ตามลำดับ (ผงซักฟอก น้ำยาถูพื้น น้ำยาล้างจาน เบียร์ และไวน์)

หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.13 จากการสูงขึ้นของกลุ่มอาหารสด ร้อยละ 0.30 สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้นได้แก่ ผลไม้สด ร้อยละ 5.61 ได้แก่ ทุเรียน เงาะ ฝรั่ง ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 1.17 โดยเฉพาะไข่ นมผง ครีมเทียม ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้นร้อยละ 0.87 โดยเฉพาะข้าวสารเจ้า และข้าวสารเหนียว เนื่องจากความต้องการมีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผลผลิตในช่วงฤดูกาลผลิตที่ผ่านมาออกสู่ตลาดน้อย เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ร้อยละ 0.62 ได้แก่ เนื้อสุกร ไก่สด ปลาทู เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 0.05 ได้แก่ กาแฟผงสำเร็จรูป เครื่องดื่มรสชอกโกแลต น้ำแข็ง อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้านสูงขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.01 และ 0.03 ตามลำดับ สินค้าที่ลดลง ได้แก่ ผักสด ลดลงร้อยละ -7.66 ได้แก่ มะนาว ต้นหอม ถั่วฝักยาว ส่งผลให้หมวดผักและผลไม้ ลดลงร้อยละ -0.73 เครื่องประกอบอาหาร ลดลงร้อยละ -0.24 ตามการลดลงของ น้ำปลา ซีอิ๊ว กะทิสำเร็จรูป เนื่องจากการแข่งขันด้านการตลาด

2. เทียบเดือนมิถุนายน 2561 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 0.87 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้

หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 3.12 โดยผักและผลไม้ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดัชนีสูงขึ้น โดยผักสด สูงขึ้นร้อยละ 18.89 ได้แก่ พริกสด มะนาว กะหล่ำปลี จากสภาพอากาศที่ร้อนจัดสลับกับฝนตกชุกทำให้พืชผักเน่าเสียง่าย ประกอบกับราคาฐานต่ำ เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 4.41 ได้แก่ เนื้อสุกร ปลานิล ปลาทู ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้นร้อยละ 4.02 จากการสูงขึ้นของข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว และขนมปังปอนด์ ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 0.92 จากการสูงขึ้นของไข่ไก่ ไข่เป็ด นมสด เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.64 ได้แก่ น้ำอัดลม กาแฟ (ร้อน/เย็น) กาแฟผงสำเร็จรูป อาหารบริโภค-ในบ้าน และนอกบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 0.55 และ 1.10 ตามลำดับ ได้แก่ อาหารเช้า ข้าวราดแกง กับข้าวสำเร็จรูป ขณะที่เครื่องประกอบอาหาร ลดลงร้อยละ -0.29 ได้แก่ น้ำพริกแกง ซอสมะเขือเทศ ผงชูรส

หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ -0.40 ลดลงเป็นครั้งที่ 2 ของปี 2562 ตามการลดลงของหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ร้อยละ -1.58 โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ -6.26 และการสื่อสาร ร้อยละ -0.03 (เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลงร้อยละ -0.18 (เสื้อผ้าบุรุษและสตรี) ขณะที่ค่าโดยสารสาธารณะ สูงขึ้นร้อยละ 5.87 (ค่าโดยสารรถขสมก./บขส. ค่าโดยสารรถตู้วิ่งระหว่างจังหวัด) หมวดเคหสถาน สูงขึ้น ร้อยละ 0.32 (ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.12 (ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว ยาคุมกำเนิด ยาแก้ปวดลดไข้) หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ สูงขึ้นร้อยละ 0.81 หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.01

3. เฉลี่ย 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ปี 2562 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 0.92 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 2.29 ตามการสูงขึ้นของ ทุกหมวดสินค้า โดยหมวดข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้นร้อยละ 4.30 โดยเฉพาะข้าวสารเจ้า ขนมปังปอนด์ เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ ร้อยละ 3.87 (เนื้อสุกร ปลาทู ปลานิล) ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 1.01 (ไข่ไก่ ไข่เป็ด นมผง) ผักและผลไม้ ร้อยละ 4.12 (ต้นหอม พริกสด ขึ้นฉ่าย) เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 2.06 (น้ำพริกแกง เกลือป่น ซอสมะเขือเทศ) เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 0.70 (น้ำหวาน กาแฟ (ร้อน/เย็น) น้ำอัดลม) ส่วนอาหารบริโภค-ในบ้าน และนอกบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 0.72 และ 1.66 ตามลำดับ

หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.13 จากสูงขึ้นของค่าโดยสารสาธารณะ ร้อยละ 2.41 หมวดเคหสถาน ร้อยละ 0.53 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.33 หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ 0.23 หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ สูงขึ้นร้อยละ 0.37 ขณะที่น้ำมันเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ -1.83และการสื่อสาร ลดลงร้อยละ -0.04 ส่งผลให้หมวดพาหนะการขนส่ง การสื่อสาร ลดลงร้อยละ -0.38 รวมทั้งหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ -0.01

คาดการณ์เงินเฟ้อ ปี 2562 อยู่ระหว่าง 0.7 - 1.3 (YoY) (ค่ากลาง 1.0)

อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ 3.3 - 3.8 % (สศช.)

ราคาน้ำมันดิบดูไบ 60 - 70 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล

อัตราแลกเปลี่ยน 31.0 - 32.0 บาท/เหรียญสหรัฐ ฯ

สถานการณ์และปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อเงินเฟ้อ ปี 2562

ราคาพลังงาน ยังคงมีความเสี่ยงจากความผันผวนในโครงสร้างการผลิตและความต้องการโลก รวมทั้งบริบททางการเมือง และความมั่นคงในภูมิภาคต่าง ๆ

การลงทุน มีทิศทางที่ดีขึ้น โดยมีสัญญาณจากความคืบหน้าการลงนามในสัญญาก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ความต่อเนื่องของโครงการลงทุนเดิมที่ยังไม่แล้วเสร็จ และการขอรับการส่งเสริมการลงทุนโครงการต่าง ๆ แต่ยังมีความเสี่ยงจากการที่ไม่สามารถทำงานได้ตามแผน

ราคาสินค้าเกษตร ราคาสินค้าเกษตรสำคัญยังคงมีแนวโน้มในทิศทางที่ดี รวมทั้งภาครัฐมีมาตรการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน

ราคาสินค้อุตสาหกรรม สินค้าอุตสาหกรรมหลายตัวที่ผลิตในประเทศมีสัญญาณต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น แต่ยังมีแรงกดดันจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากการนำเข้า

การส่งออก มีความเสี่ยงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่โอกาสในการย้ายฐานการผลิตเพื่อส่งออกหลายชนิดมายังประเทศไทยยังมีอยู่สูง

ค่าเงินบาท มีความเสี่ยงและความผันผวนสูง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐ รวมถึงปริมาณเงินทุนไหลเข้าในประเทศ

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


แท็ก ดัชนีราคา  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ