ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนมิถุนายน 2562 และระยะ 6 เดือนแรกของปี 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 1, 2019 11:42 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงราคาในรูปของดัชนี เพื่อใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าที่ผู้ผลิตได้รับ ครอบคลุม 3 หมวด คือ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จากการสำรวจและประมวลผลราคาสินค้าที่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ผลิตจำหน่ายทั่วประเทศ มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 596 รายการ สรุปผลได้ดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนมิถุนายน 2562 (ปี 2553 = 100) มีค่าเท่ากับ 102.1 (เดือนพฤษภาคม 2562 เท่ากับ 103.0)

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ เดือนมิถุนายน 2562 เมื่อเทียบกับ

2.1 เดือนพฤษภาคม 2562 ลดลง ร้อยละ 0.9 (MoM) โดยเมื่อพิจารณาดัชนีราคาเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2562 ลดลง ร้อยละ 0.9 จากดัชนีราคาหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 4.0 สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ และแร่โลหะ (ตะกั่ว สังกะสี ดีบุก วุลแฟรม) ปรับตามภาวะตลาดโลก และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 0.9 สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง เช่น กลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวประกอบกับปริมาณน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ยังมีอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันมีแนวโน้มผันผวนจากหลายปัจจัย อาทิ สงครามการค้าและสถานการณ์ความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลาง กลุ่มเม็ดพลาสติก เคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันที่เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตและความต้องการของตลาดที่ชะลอลง แบตเตอรี่รถยนต์ ปรับลดลงเล็กน้อยตามราคาตะกั่วที่ใช้เป็นวัตถุดิบ กลุ่มเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (เหล็กแผ่น เหล็กเส้น เหล็กฉาก) ตามราคาตลาดโลกประกอบกับการแข่งขันสูงกับเหล็กนำเข้าจากจีนและเกาหลี กลุ่มสิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ (เส้นใยสังเคราะห์) ปรับตามราคาวัตถุดิบที่ลดลง และเยื่อกระดาษ คำสั่งซื้อลดลง ขณะที่หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.2 สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น กลุ่มผลผลิตการเกษตร ได้แก่ ข้าวเปลือกเหนียว ผู้ประกอบการมีความต้องการเพิ่มขึ้น ปาล์มสด ผลผลิตที่น้อยลงรวมถึงปริมาณสต๊อกที่ลดลงจากการดำเนินนโยบายของรัฐในช่วงที่ผ่านมาเริ่มเห็นผล เช่น การส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล บี 10 และ บี 20 รวมไปถึงการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบเพื่อผลิตไฟฟ้า กลุ่มยางพารา (น้ำยางข้น ยางแผ่นดิบ เศษยาง) จากมาตรการส่งเสริมการใช้ยางในประเทศ และมาตรการควบคุมปริมาณการส่งออกยางพาราร่วมกันใน 3 ประเทศ (ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย) กลุ่มผลไม้ อาทิ สับปะรดโรงงาน มังคุด ทุเรียน เงาะและชมพู่ สุกร/ไก่มีชีวิต และไข่ไก่ ความต้องการบริโภคทั้งตลาดภายในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ขณะที่สินค้าที่ราคาลดลง อาทิ มันสำปะหลังสด จากฝนตกอย่างต่อเนื่องส่งผลให้เชื้อแป้งต่ำ ผักสด (มะนาว มะเขือ ผักคะน้า ต้นหอม ขึ้นฉ่าย บวบ) ปลาตะเพียน ปลาทูสด และปลากะพง จากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมาก

2.2 เดือนมิถุนายน 2561 ลดลง ร้อยละ 1.1 (YoY) โดยเมื่อพิจารณาดัชนีราคาเทียบกับเดือนมิถุนายน 2561 ลดลงร้อยละ 1.1 จากหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 2.2 โดยสินค้าสำคัญ ได้แก่ กลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และเม็ดพลาสติก ตามความต้องการใช้ที่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ผ่านมา กลุ่มส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ (ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) ปรับราคาเพื่อระบายสินค้ารุ่นเดิม กลุ่มเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (เหล็กแผ่น เหล็กเส้นและเหล็กฉาก) จากการแข่งขันสูงกับเหล็กที่นำเข้าจากประเทศจีนและส่งผลต่อสินค้าเหล็กที่เกี่ยวเนื่องปรับลดลง กลุ่มเยื่อกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ คำสั่งซื้อชะลอตัวประกอบกับผลิตภัณฑ์กระดาษปรับราคาเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด กลุ่มสิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ราคาวัตถุดิบลดลงและมีการแข่งขันสูงในตลาดต่างประเทศ และหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 1.9 จากกลุ่มสินค้าน้ำมันปิโตรเลียมดิบและแร่โลหะ (ตะกั่ว สังกะสี ดีบุก วุลแฟรม) เป็นไปตามภาวะตลาดโลก ขณะที่หมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 7.7 จากสินค้าสำคัญที่ปรับราคาสูงขึ้น อาทิ ข้าวเปลือกเหนียว จากความต้องการที่เพิ่มขึ้น กลุ่มยางพารา จากมาตรการภาครัฐเริ่มส่งผล เช่น มาตรการส่งเสริมการใช้ยางในประเทศให้มากขึ้นรวมถึงการควบคุมปริมาณการส่งออกร่วมกัน 3 ประเทศ (ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย) กลุ่มพืชผัก อาทิ มะนาว แตงกวา มะเขือ พริกสด กะหล่ำปลี คะน้า ผักกาดหอม ถั่วฝักยาว ต้นหอม และพริกชี้ฟ้าสด กลุ่มผลไม้ อาทิ กล้วยน้ำว้า สับปะรดโรงงาน มังคุด และทุเรียน สุกร/ไก่มีชีวิต กลุ่มสัตว์น้ำ อาทิ ปูม้า ปลาอินทรี และกุ้งแวนนาไม จากความต้องการบริโภคของตลาดในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น

2.3 เทียบดัชนีเฉลี่ยเดือนมกราคม – มิถุนายน 2562 กับเดือน มกราคม – มิถุนายน 2561 ลดลง ร้อยละ 0.2 โดยเมื่อพิจารณาดัชนีราคาเทียบเฉลี่ยเดือน ม.ค.–มิ.ย. ปี 2562 กับระยะเดียวกัน ปี 2561 ลดลงร้อยละ 0.2 โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 1.1 สาเหตุจากการลดลงของราคาสินค้ากลุ่มสิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ เยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษและสิ่งพิมพ์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เคมี โลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์โลหะ (เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก) เครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ยานพาหนะและอุปกรณ์ และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 3.8 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้ากลุ่มลิกไนต์ ปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ กลุ่มแร่โลหะและแร่อื่นๆ และหมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 4.4 จากกลุ่มผลผลิตการเกษตร สัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ ปลาและสัตว์น้ำ

ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ ชุดโครงสร้างแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) เดือนมิถุนายน 2562 ประกอบด้วย ดัชนีราคาหมวดสินค้าสำเร็จรูป หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และหมวดสินค้าวัตถุดิบ (ปี 2553 = 100) เดือนมิถุนายน 2562 ดัชนีราคาเท่ากับ 103.7 , 99.4 และ 99.4 ตามลำดับ

1) การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ ชุดโครงสร้างแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP) เดือนมิถุนายน 2562 เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2562 หมวดสินค้าสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 0.5 หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) ลดลงร้อยละ 1.5 และหมวดสินค้าวัตถุดิบ ลดลงร้อยละ 0.8

2) การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ ชุดโครงสร้างแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) เดือนมิถุนายน 2562 เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2561 หมวดสินค้าสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 0.2 ขณะที่หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) ลดลงร้อยละ 4.1และหมวดสินค้าวัตถุดิบ ลดลงร้อยละ 0.3

3) การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ ชุดโครงสร้างแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) เฉลี่ยเดือนมกราคม – มิถุนายน 2562 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 หมวดสินค้าสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 0.2 หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) ลดลงร้อยละ 2.3 และหมวดสินค้าวัตถุดิบ สูงขึ้นร้อยละ 2.1

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ